
เมื่อพูดถึง “ชา” ใครๆก็รู้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของคนไทยและอีกหลายชาติแถบเอเชีย
และชา ก็มีหลายชนิดที่สร้างเม็ดเงินกลับคืนสู่เกษตรกรและชุมชนนั้น “ชาป่า หรือชาเมี่ยง” (เหมี้ยง)
เป็นพืชท้องถิ่นของชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง ดินแดนที่อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลราว
1000-1100 เมตร เขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง
และชาวบ้านที่นี่มีอาชีพเก็บใบชาป่ามาทำเมี่ยง ซึ่งเป็นของว่าง ทำจากใบชานึ่ง
และหมัก นาน 1-4สัปดาห์
รสชาติเหมือนใบชาหมักดอง ช่วยให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ด้วยฤทธิ์ของใบชา
คนในภาคเหนือนิยมทานเป็นของว่างในงานบุญ และคนเฒ่าคนแก่มักชื่นชอบ การ “อมเมี่ยง”
คล้ายกับการเคี้ยวหมาก
ว่ากันว่าอาชีพการทำเมี่ยงที่นี่สืบทอดกันมายาวนานหลายชั่วอายุคนมาจนถึงปัจจุบัน
กลายเป็นอาชีพที่ทำรายได้แก่ทุกครัวเรือน จากเดิมที่เป็นเพียงชาป่า
พัฒนามาเป็นพืชไร่ ตามใต้ต้นไม้ใหญ่ หุบเขารอบหมู่บ้าน พื้นที่ปลูกรวมแล้วหลายพันไร่
บุญทรัพย์ กำบังกล้า
เจ้าของโรงงานทำเมี่ยง วัย 64 ปี เล่าว่า
อยู่กับอุตสาหกรรมทำเมี่ยงมาตั้งแต่เด็ก ที่นี่เป็นโรงหมักเมี่ยงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุนปู่ย่า
ตนเองถือเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว แต่ก่อนมีหลายโรงงาน
แต่ที่นี่ยืนหยัดมั่นคงมาและเหลืออยู่เพียง 1 เดียวเท่านั้น
ปัจจุบันผลิตขายส่งให้กับร้านค้าในตลาด ตัวเมืองลำปาง พะเยา เชียงราย อุตรดิตถ์
เดือนละหลายร้อยแข่ง

“เมี่ยงที่เราผลิตจะเป็นเมี่ยงหมักที่
ขายส่งยกเข่ง ให้กับร้านค้า ส่งจะไม่แยกรสชาติหลายชนิดมากนัก มีเพียงเมี่ยงฝาด
หรือเมี่ยงที่มีรสเปรี้ยวตามอายุการหมัก แต่ร้านค้าจะนำไปแปรรูป เช่น
หมักกับน้ำกระเทียมดอง น้ำมะพร้าว ใส่ขิงสดซอย
กลายเป็นเมี่ยงที่มีรสชาติแตกต่างกันออกไปสำหรับการขายปลีก
ส่วนการส่งสินค้าจะมีทั้งลูกค้าที่เป็นร้านขายส่ง และร้านค้าย่อยในตลาด
ใหญ่บางแห่ง ปัจจุบันอุตสาหกรรมเมี่ยง เหลือน้อยมาก ในภาคเหนือ มีที่ลำปาง น่าน
เชียงใหม่”
ชาวบ้านป่าเหมี้ยง
พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมี่ยงเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนเล็กๆแต่สร้างรายได้หมุนเวียนในหมู่บ้านทุกหลังคาเรือน
ทุกบ้านส่งลูกหลานเรียนจากการเก็บใบเมี่ยงขาย
เด็กๆมีรายได้ตอนปิดเทอมวันละหลักร้อยบาท และกิจกรรมการเก็บเมี่ยงยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรักและผูกพันกันในครอบครัว
และเมี่ยงเป็นเกษตรกรรมที่เอื้อต่อการอนุรักธรรมชาติ
โดยชาวบ้านที่นี่ล้วนแต่เป็นเกษตรกร ปลูกชาเมี่ยง และกาแฟไปพร้อมๆกัน การเก็บเกี่ยวเมี่ยงจะพอดีกับฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นแล้ว
รายได้จากเมี่ยง นั้นสามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ4ครั้ง คือ รุ่นที่ 1 เก็บเกี่ยวปลายพฤษภาคมถึงต้นมิถุนายน รุ่นที่ 2
เก็บเกี่ยว เดือนกรกฎาคม รุ่นที่ 3 เก็บเกี่ยวปลายสิงหาคมถึงต้นกันยายน และรุ่นที่
4 เก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน
ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 900 – 1,500 กิโลกรัม/ไร่ (ใบเมี่ยงสด) ราคาผลผลิตใบเมี่ยงสดจะขายกิโลกรัมละ 10 บาท เมี่ยงที่นึ่งแล้วกิโลกรัมละ 13 บาท
เมี่ยงจึงเป็นพืชเกษตรเศรษฐกิจสำคัญ
ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านเก็บชาใบแก่ที่เหลือจากการเก็บยอดส่งโรงงานเมี่ยง
มาทำหมอนใบชา และกำลังหาทางส่งเสริมการแปรรูปใบชาป่าให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้มากที่สุด
ขณะที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนป่าเหมี้ยงก็กำลังริเริ่มศึกษา การทำชาบดสำเร็จรูป
เพื่อใช้ในการชงชาเย็น
การปลูกชาเมี่ยง
ดูเหมือนเป็นเกษตรที่เรียบง่ายและเป็นวิถีพอเพียงชาวบ้านเรียนรู้อยู่กับการหากินบนความเรียบง่าย
มีรายได้พอเพียง และเรียนรู้ที่จะดูแลรักษาเพื่อเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม
มากกว่าการขยายพื้นที่ปลูกแต่ดูแลไม่ทั่วถึง
เม็ดเงินทางเศรษฐกิจที่ไหลเข้ามาผ่านใบชาเมี่ยง จึงเป็นเพียงตัวแปรของการอยู่รอดที่พอดีในชุมชนพื้นที่สูง
มากกว่าการมุ่งหวังฐานะที่ร่ำรวย ป่าเหมี้ยงจึงเป็นแหล่งผลิตเมี่ยงที่มีความมั่นคงยืนยาวไปอีกนาน
ติดต่อชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง
โทร. 08-4894-9122,08-9560-6820
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานลำปาง โทร. 054-222-214
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น