วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

พญาพรหมโวหาร จอมกวีแห่งล้านนา

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

หากเอ่ยถึงกวีเอกแห่งประวัติศาสตร์ เราคงนึกถึงศรีปราชญ์ กวีเอกแห่งกรุงศรีอยุธยา หรือไม่ก็สุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเราอาจตกหล่นกวีเอกแห่งล้านนาไปคนหนึ่งฃ

พญาพรหมโวหารมีนามเดิมว่า พรมมินทร์ มีเชื้อสายของตระกูลเจ้าเจ็ดตน สืบสายมาจากหนานทิพย์ช้าง หรือพระยาสุลวฤาไชยสงคราม บิดาของพญาพรหมโวหาร คือ แสนเมืองมา ทำหน้าที่ผู้ถือกุญแจคลังหลวงของเจ้าผู้ครองนครลำปาง ส่วนมารดาชื่อเป็ง

มีบันทึกไว้ว่า พญาพรหมโวหารเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2345 บ้านของท่านอยู่ในตรอกทางด้านใต้ของวัดดำรงธรรม ใกล้ ๆ กับโรงแรมทิพย์ช้าง เมื่อเติบโตพอจะร่ำเรียนได้ ก็ไปเป็นลูกศิษย์วัดอยู่ที่วัดสิงห์ชัย กระทั่งบรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีพระอุปนันโทเถระคอยสั่งสอนทั้งศาสตร์และศิลป์จนเชี่ยวชาญการกวีเป็นพิเศษ เป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระอาจารย์ยิ่งนัก หลังจากนั้นพระอาจารย์ก็ได้พาศิษย์เอกคนนี้ ไปเรียนต่อกับพระอาจารย์ปินตา ณ วัดสุขขมิ้นที่เชียงใหม่ ผ่านไป 3 ปี ก็ขอลาพระอาจารย์ปินตากลับมาเมืองลำปาง และตัดสินใจลาสิกขาออกมาเป็นหนานในเวลาต่อมา โดยก่อนหน้านั้น ท่านได้แต่งค่าว ใคร่สิก ไว้ด้วย

ภายหลังเมื่อลาสิกขาแล้ว หนานพรมมินทร์ก็รับจ้างแต่งค่าว ลักษณะเหมือนการแต่งเพลงยาว หรือจดหมายรักที่หนุ่มสาวสมัยโบราณของล้านนาส่งถึงกัน และยังรับจ้างเขียนคำร้องที่ศาลาลูกขุนด้วย จากความสนใจในการแต่งค่าว-บทกวีที่ไพเราะของชาวล้านนานี้เอง บิดาจึงพาไปฝากตัวกับเพื่อนในคุ้มเจ้าหลวง ซึ่งก็คือพญาโลมาวิสัย-กวีเอกในแผนกอาลักษณ์สมัยนั้น

พญาโลมาวิสัยได้แต่งค่าวหงส์หินถวายเจ้าหลวงวรญาณรังสี-เจ้าผู้ครองนครลำปาง ครั้งนั้นหนานพรมมินทร์ได้มีโอกาสอยู่ถวายงานแก้ไขชำระค่าวหงส์หินของพญาโลมาวิสัยให้ไพเราะมากขึ้นจนเจ้าหลวงทรงพอใจมาก ถึงกับแต่งตั้งให้เป็น พญาพรหมโวหารเป็นที่โปรดปรานในราชสำนัก

บางประวัติเล่าว่า การชำระค่าวหงส์หินของพญาโลมาวิสัยในครั้งนั้น หนานพรมมินทร์ได้กระทำต่อหน้าเจ้าหลวง เหมือนเป็นการหักหน้าพญาโลมาวิสัย ซึ่งก่อนหน้านั้น พญาโลมาวิสัยได้ให้หนานพรมมินทร์ช่วยดูค่าวดังกล่าวแล้ว แต่หนานพรมมินทร์ก็ไม่ได้ปรับแก้อะไร

ชีวิตของพญาพรหมโวหารมาถึงคราวต้องผกผัน เมื่อเจ้าหลวงได้ข่าวว่าที่เมืองแพร่มีช้างมงคล จึงพระราชทานเงินแก่พญาพรหมฯ ผู้ซึ่งมีความรู้เรื่องคชศาสตร์ โดยแต่งค่าวเกี่ยวกับช้างไว้หลายชิ้น ให้เดินทางไปซื้อช้าง แต่พญาพรหมฯ กลับนำเงินไปเล่นการพนันจนหมดตัว จึงคิดแต่งค่าวช้างขึด (ปัจจุบันยังหาต้นฉบับไม่พบ) ฝากไปยังเจ้าหลวงว่าช้างที่ไปเห็นนั้น ไม่เป็นมงคล ไม่สมควรซื้อกลับไป ทำให้เจ้าหลวงทรงโกรธมาก ถึงกับคาดโทษประหารพญาพรหมฯ ไว้ พญาพรหมฯ ต้องระหกระเหินไปพึ่งเจ้าเมืองแพร่ กระทั่งได้เป็นกวีในราชสำนัก

ตามประวัติกล่าวว่า พญาพรหมโวหารถูกใส่ความเรื่องคบชู้กันนางสนมของเจ้าเมืองแพร่ จนต้องถูกคุมขัง ระหว่างนั้นท่านแต่งคำจ่ม พรรณนาถึงความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ และสุดท้ายได้รับการช่วยเหลือให้พ้นโทษ แต่ก็ต้องหนีไปยังเมืองลับแล (อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์) ทั้งนี้ ท่านได้พาภรรยาที่รักมาก คือ นางบัวจม บ้างก็ว่าชื่อศรีชม (ก่อนหน้านั้นพญาพรหมโวหารสมรสแล้วกับเจ้าสกุณา ณ ลำปาง) ไปด้วย ทำมาค้าขายอยู่ที่นั่น หวังเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่เพียงไม่นาน นางบัวจมก็หนีกลับไปอยู่เมืองแพร่ ทำให้พญาพรหมโวหารเสียใจมาก และได้แต่งค่าวสี่บท หรือค่าวฮ่ำนางจม วรรณกรรมชิ้นเอกของล้านนาชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีความไพเราะแพรวพราว จึงแพร่หลายมากและถูกใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาการแต่งค่าวในเวลาต่อมา

พญาพรหมโวหารมีโอกาสกลับไปเมืองเชียงใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2404 โดยเป็นกวีในคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ สมัยเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ ท่านแปลงความเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่จากภาษาไทยกลางมาเป็นคำค่าวภาษาล้านนาถวายแด่เจ้าแม่ทิพเกสร ซึ่งโปรดปรานละครแบบสยาม

ช่วงบั้นปลายในวัย 60 ปี ท่านได้สมรสอีกครั้งกับเจ้าบัวจันทร์ (เรื่องภรรยาของพญาพรหมโวหารนั้น เล่ากันว่ามีถึง 42 คน) และถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2430 เมื่ออายุได้ 85 ปี อนุสาวรีย์ของท่านอยู่บริเวณหน้าวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 12 เมษายนของทุกปี ชมรมกวีพื้นบ้านล้านนาที่เชียงใหม่จะทำพิธีไหว้ครูค่าว โดยถือพญาพรหมโวหารเป็นบรมครู ส่วนที่จังหวัดลำปาง อนุสาวรีย์ของท่านอยู่บริเวณสวนสาธารณะเขื่อนยาง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1229 วันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์