คล้ายกับเป็นเรื่องง่ายดาย
ที่จะดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล แต่เอาเข้าจริง
สิ่งที่บรรดาแกนนำพรรคพลังประชารัฐ พูดย้ำความมั่นใจครั้งแล้ว ครั้งเล่า
ว่าพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลได้แน่นอน ไม่มีปัญหา กลับมีเมฆหมอกทะมึนของปัญหา
ที่นักการเมืองมือใหม่ 4 กุมาร คาดไม่ถึง
ในความเป็นเซียนเหยียบเมฆของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุหลายประการ
1. แม้ประชาธิปัตย์ จะเคยร่วมรัฐบาลที่มี นายกรัฐมนตรี
คนนอกเป็นทหาร เช่น พล.อ.เปรม
ติณสูลานนท์ แต่การเข้าสู่อำนาจของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มาจากการไปเชื้อเชิญของนักการเมือง
ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีที่ได้อำนาจมาด้วยการปฎิวัติ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พูดอีกนัยหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ คือนายกรัฐมนตรีในระบบเผด็จการ
ซึ่งย้อนแย้งกับประวัติศาสตร์ของประชาธิปัตย์ ที่ต่อสู้กับเผด็จการมาตลอด
2. ปัญหาความล่าช้าในการตั้งรัฐบาล ไม่เพียงปัญหาการจัดสรรตำแหน่ง
จัดสรรผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคที่จะดึงมาร่วมรัฐบาล
โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น หากปัญหาใหญ่คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฐานะ
“คนนอก” ที่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง และแสดงอำนาจที่จะเป็นคนดูแล การจัดการ ให้ความเห็นชอบในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ด้วย
3. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือปัญหาของประเทศนี้ เมื่อเขาไม่เข้าใจว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องเล่นตามกติกา
ต้องต่อสู้กันด้วยความเป็นธรรม มิใช่การใช้อำนาจแบบผลประโยชน์ทับซ้อน
เลือกคนของตัวเองมาเป็นวุฒิสมาชิก เพื่อให้วุฒิสมาชิกสนับสนุนการกลับมาสู่อำนาจ
การไม่เสียสละ ยอมปล่อยมือจากอำนาจ จะบั่นทอนอำนาจพล.อ.ประยุทธ์
และประชาธิปัตย์ซีกไม่เอาประยุทธ์ มีความชอบธรรมมากขึ้น
4. ประยุทธ์ คือปัญหาของพลังประชารัฐ นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
หัวหน้าและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ คือปัญหาของพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งการมีกลุ่ม
มีก๊วนที่หลากหลายในพรรค โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตร คือปัญหาใหญ่ของพลังประชารัฐ
5. พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีเงื่อนไขว่า จะต้องมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นายวิษณุ เครืองาม
อยู่ในรัฐบาลใหม่ ขณะที่กลุ่มสามมิตร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
ก็ต้องการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เป็นข้อเรียกร้องของพรรคประชาธิปัตย์
6 .หากไม่คิดถึงปัญหาการจัดสรรผลประโยชน์กับพรรคร่วมรัฐบาลอื่น
แม้กระทั่งพรรคชาติไทยพัฒนา เพียงสนิมเนื้อใน จากเงื่อนไขของพล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา และกลุ่มสามมิตร ก็เกินกำลังละอ่อนทางการเมือง อย่าง นายอุตตม
และนายสนธิรัตน์แล้ว
7. พลังประชารัฐ คือพรรคสามัคคีธรรมในอดีต ที่สนับสนุนพล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่เหตุนองเลือดในเดือนพฤษภาคม
2535 ทั้งสองพรรค คือพรรคการเมืองเฉพาะกิจ
ที่หวังเพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้า คือสนับสนุนผู้นำเผด็จการเข้าสู่อำนาจเท่านั้น
8. ในที่สุดพลังประชารัฐ อาจเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ใช้เสียงวุฒิสภา อุ้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้เป็นผลสำเร็จ
จากนั้น จะใช้วิธี “ตกปลาในบ่อเพื่อน”
คล้ายการเรียนลัดในการตั้งพรรคที่ดึงเอากลุ่มสามมิตร อดีตนักการเมืองพรรคเพื่อไทย
มารวมกันในบรรยากาศ คล้ายฝนตกขี้หมูไหล
9. หากแผนตั้งนายกรัฐมนตรีก่อน
แล้วใช้วิธีดึงพรรคอื่นมาร่วมภายหลังไม่สำเร็จ ซึ่งแปลว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยจะหวั่นไหวอย่างยิ่ง จนนำไปสู่ความวุ่นวายในสภา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจใช้อำนาจยุบสภา เพื่อสยบความวุ่นวาย
แต่นั่นอาจจะเป็นโอกาสดี ในการให้ประชาชนใช้บทเรียนในการเลือกตั้งครั้งนี้
จัดระเบียบการเมืองที่เป็นธรรม และให้บทเรียนนักฉกฉวยโอกาสทางการเมืองก็ได้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น