วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

คารวะอาลัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ารถึงแก่อสัญกรรมด้วยความสงบของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ และประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน หลังจากร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่คนทั้งประเทศ แม้จะมีเสียงแปลกแปร่งไปบ้าง สำหรับกลุ่มคนที่มีอคติ มีความฝังใจ มีความเชื่อว่า พล.อ.เปรม เป็นผู้อยู่เบื้องหลังวิกฤตการณ์ทางการเมืองในหลายครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถทำให้เสียงของคนทั้งแผ่นดิน ที่สะท้อนถึงความเป็นรัฐบุรุษของท่านลบเลือนไปได้

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  ไม่ได้ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาด้วยการปฎิวัติ แต่ได้มาด้วยการเชื้อเชิญของบรรดานักการเมืองทั้งหลาย เพราะเชื่อในบารมี การยอมรับ และความซื่อสัตย์ของพล.อ.เปรม ในห้วงระยะเวลาที่พล.อ.เปรม ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ประเทศชาติประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางการเมือง จากแนวร่วมในป่าของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

มีไม่มากนัก ที่นักการทหารจะเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติเช่นนี้ โดยบุคลิกที่นุ่มนวล ใจเย็น และมองเห็นภาพที่ตัดกันราวฟ้ากับดิน เมื่อเทียบกับนายกรัฐมนตรีจอมโทสะ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปี 2484 โรงเรียนทหารม้า และอีกหลายสถาบัน รวมทั้งวิทยาลัยการทัพบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 9

จากนั้นได้เข้ารับราชการทหารและร่วมรบในสงครามอินโดจีน รวมทั้งสงครามโลกครั้งที่สอง พลเอกเปรม เคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย และดำรงตำแหน่ง 3 วาระ ระหว่างปี 2523 - 2531 โดยหลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2531 ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2541

ในช่วงที่ พลเอกเปรมดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าเมื่อปี 2511 ท่านมักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า "ป๋า" และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า "ลูก" จนเป็นที่มาของคำว่าป๋า หรือ ป๋าเปรม ขณะที่คนสนิทของ พลเอกเปรม มักถูกเรียกว่า ลูกป๋า นอกจากนี้ในขณะที่ พลเอกเปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เคยได้รับฉายาว่า "เตมีย์ใบ้" จากบุคลิกความเป็นผู้ใหญ่ที่พูดน้อย

พลเอกเปรม ได้รับยกย่องว่ามีผลงานสำคัญในการผลักดันนโยบาย "การเมืองนำการทหาร" ซึ่งนำไปสู่การออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 กำหนดนโยบายและปรับท่าทีในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ โดยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้แปรพักตร์ ทำให้นักศึกษาที่หลบหนีเข้าป่าภายหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 กลับออกจากป่า
ในปี 2550 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ได้รวมตัวประท้วงหน้าบ้านของพลเอกเปรม เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี เนื่องจากเชื่อว่ามีบทบาททางการเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุม และเกิดการปะทะกันกับผู้ชุมนุม

น่ายินดีที่จนถึงวันนี้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในช่วงนั้น กล่าวในรายการลมหายใจพีชทีวี ทันทีปรากฎข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และคนเสื้อแดงต่างปรบมือเกรียวกราว โดยนายจตุพรได้ขอร้องห้ามปรามและเน้นย้ำความเป็นคนไทย นับถือศาสนาพุทธ ควรต้องเปิดพื้นที่ความเป็นมนุษย์

ประเทศไทยได้สูญเสียบุคคลสำคัญ ซึ่งนับเป็นแบบฉบับของคนไทย ที่มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดี อีกทั้งเป็นคนที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศ ตระหนักถึงจิตสำนึกในความเป็นคนไทย ที่ต้องตอบแทนแผ่นดิน นามของท่านจะจำหลักอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคนตลอดไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1231 วันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์