วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

กรีด ตัด ตอก บอกเรื่องราว

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ตุงเป็นภาษาถิ่นของกลุ่มวัฒนธรรมไทยวน ไทใหญ่ ไทเขิน และไทลื้อ ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา ภาคใต้ของจีน ภาคเหนือของไทยและ สปป. ลาว มีความหมายตรงกับคำว่า ธง ในภาษาไทยภาคกลาง

ตุงทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพระพุทธศาสนา มีขนาด รูปทรง และวัสดุ แตกต่างกันไปตามความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจนความนิยมในแต่ละท้องถิ่นแต่โดยรวม ๆ แล้ว เราชาวเหนือคงคุ้นเคยกันดีกับตุงชัย ตุงไส้หมู และตุงสิบสองราศี

ตุงชัย มีชื่อเรียกตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ตุงไจย (ลำปาง) และตุงหลวง แต่ทั้งหมดสื่อความหมายถึงชัยชนะ แสดงถึงความเป็นสิริมงคล ความหมายของตุงชัยเกี่ยวกับจำนวนช่อง ถ้าเป็นตุง 8 ช่อง หมายถึง โลกธรรม 8 ประการ คือ อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ถ้ามี 9 ช่อง หมายถึง โลกุตตรธรรม 9 ประการ คือ ธรรมอันช่วยให้พ้นโลก

ตุงชัยใช้ในงานพิธีเฉลิมฉลองวัดวาอารามในงานปอยหลวง งานประเพณียี่เป็ง งานตั้งธรรมหลวง (ฟังเทศน์มหาชาติ) ถวายเป็นพุทธบูชาพระประธานในวิหาร หรืออุโบสถ สร้างผลบุญกุศลให้กับตนเองในภายภาคหน้า

ตุงไส้หมู มีชื่อเรียกตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ตุงไส้ไก่ ตุงไส้จ๊าง ตุงดอกบ้วง ตุงจอมแห ตุงพญายอ ตุงช่อพญายอ (ลำปาง) ส่วนภาคกลางเรียกว่า พวงมะโหด หรือพวงเต่าร้าง ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาปักเจดีย์ทราย เป็นหนึ่งในเครื่องสักการะปีใหม่สงกรานต์สำหรับบูชา เจดีย์และพระธาตุทั้งหลาย ใช้ในขบวนแห่ครัวตาน ประดับตกแต่งครัวตาน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระเกศแก้วจุฬามณี แขวนไว้ที่ประตูบ้าน เพื่อให้ลูกหลานลอด หากหางตุงไส้หมูพาดศีรษะก็จะถือว่าได้รับโชคลาภ มีความสุขกายสบายใจ เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ตุงสิบสองราศี มีชื่อเรียกตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ตุงสิบสองนักษัตร ตุงชะตาปีเกิด ตุงตัวเปิ้ง และตุงตัวนาม ใช้ปักรอบเจดีย์ทรายร่วมกับตุงชนิดอื่นในประเพณีสงกรานต์ ใช้ในพิธีสืบชะตา สะเดาะเคราะห์ มีความเชื่อว่า อานิสงส์การถวายตุงสิบสองราศีนั้น นอกจากจะเป็นการถวายตุงปีเกิดของตนเองแล้ว ยังเผื่อแผ่ให้กับทุกคนในครอบครัวได้รับอานิสงส์ด้วย การบูชาด้วยตุงสิบสองราศี ถือว่าเป็นการบูชาพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญทั้งในล้านนาและที่อื่น ๆ การถวายตุงจะทำให้ชะตาชีวิตของตนรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุข

นอกจากตุงเหล่านี้แล้ว ยังมีตุงอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเมืองลำปางบ้านเราไม่มี แต่ที่เมืองน่าน ตุงชนิดนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นเสียจนถูกจัดให้เป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์กันเลยทีเดียว คนเมืองน่านเรียกตุงชนิดนี้ว่า ตุงค่าคิง หรือตุงก้าคิง

ตุงก้าคิงจัดอยู่ในประเภทตุงสำหรับสืบชะตา หรือสะเดาะเคราะห์ คำว่า ก้าคิง มีความหมายว่ามีค่าเท่ากับร่างกาย จึงนิยมทำให้มีความยาวเท่ากับความสูงของผู้สืบชะตา

ทั้งนี้ วัดพระเกิดในอำเภอเมืองฯ จังหวัดน่าน ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดพระเกิดขึ้นมา พร้อมกับได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องของตุงและความเชื่อในการสะเดาะเคราะห์ พร้อมกับเชื้อเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนมาช่วยกันทำตุง ทำโคม จนเกิดเป็นกิจกรรมทำตุงก้าคิงที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว กระทั่งทุกวันนี้ ใครอยากมาเรียนรู้ทำตุงก้าคิงกับผู้เฒ่าผู้แก่ในวัดพระเกิดจะต้องโทรศัพท์มาจองคิวล่วงหน้ากว่า 2 อาทิตย์เลยทีเดียว

เดิมทีการทำตุงก้าคิงวัดพระเกิดจะเริ่มจากการนำกระดาษสามาตัดทำเป็นหัว แขน 2 แขน มีลำตัว ขา 2 ขา ไม่มีลวดลายประดับ ต่อมาลุงคำรบ วัชราคม ได้คิดค้นปรับปรุงลวดลายบนตัวตุงก้าคิงของวัดพระเกิดให้สามารถสื่อความหมายได้ มีรูปแบบเป็น เอกลักษณ์เฉพาะของตุงก้าคิงวัดพระเกิดเท่านั้น

นอกจากรูปแบบที่สวยงามสะดุดตาแล้ว ตุงก้าคิงวัดพระเกิดยังสื่อความหมายถึงหลักสัจธรรมและจริยธรรม ซึ่งสอดรับกับอิติปิโส 108 (พระพุทธคุณ 56 พระธรรมคุณ 38 และพระสังฆคุณ 14) นักท่องเที่ยวคนไหนทำตุงก้าคิงเสร็จแล้วก็นำไปถวายพระได้เลย โดยมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในเบื้องต้นที่ผู้เฒ่าผู้แก่เป็นคนเตรียมไว้ให้เพียง 180 บาทเท่านั้น นับเป็นรูปแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างดี นักท่องเที่ยวได้มีกิจกรรมร่วมกับชุมชน แถมยังได้ทำบุญ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็ไม่ต้องเหงาอยู่กับบ้าน มีสังคม ได้ พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วทุกสารทิศ มีความสุขกันทั้งสองฝ่าย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1227 วันที่ 3 - 9 พฤษภาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์