
“บ้านแจ้ซ้อนบ่อฮ้อนบ่อหนาว
เงินสิบเงินซาวหนาไหนก่อได้”
คำค่าวกลอนที่ผู้ใหญ่บ้านหลวง
ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอแจ้ซ้อน กล่าวไว้ให้เป็นที่สนใจของชุมชนบ้านหลวงในอดีตที่หารายได้จากทรัพย์ในแผ่นดินบ้านเกิดมาจนถึงทุกวันนี้ว่าที่ไหนมีป่า
ของมีคุณค่ามักอยู่ที่นั่นดินแดนแห่งป่าเขา
ชาวบ้านชุมชนรอบผืนป่าก็มักอาศัยทรัพยากรธรรมชาติมาแปรรูปเป็นของกิน
หรือเครื่องใช้ไม้สอยในบ้าน แต่ถ้ามีมากก็ทำขายเป็นรายได้เข้าครัวเรือนเป็นกิจกรรมพิเศษ
เช่นเดียวกับชาวบ้านหลวง
หมู่ 5 ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆที่ตั้งอยู่ก่อนทางขึ้นอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
ต่างก็มีรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ มาสร้างอาชีพ ทำรายได้ จากเป็นตะกร้าเครื่องใช้จักสานจากไม้ไผ่
และไม้กวดดอกหญ้ามาแต่รุ่นป้ออุ้ยแม่อุ้ย (ปู่ย่าตายาย) กลายเป็นสินค้าชุมชนที่ขึ้นชื่อในทุกวันนี้
วิจารณ์ คำธิผู้ใหญ่บ้านหลวงเล่าว่า
ผู้สูงอายุในหมู่บ้านหลวงต่างก็มีภูมิความรู้ในการสานตะกร้าไม้ไผ่ที่สืบทอดกันมาหลายรุ่น
เพราะที่หมู่บ้านหลวงตั้งอยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน แหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อไข่ไปแช่น้ำแร่
อาชีพการสานตะกร้าแช่ไข่ได้เกิดขึ้นมานานทุกวันนี้ยังถือว่าเป็นรายได้สำคัญของคนในชุมชน
ทั้งคนทำตอกไม้ไผ่ และคนที่มีฝีมือด้านงานจักสานหลากหลายชนิด แต่ละหลังคาเรือนทำที่บ้านตัวเองขายส่งให้กับพ่อค้าในหมู่บ้านรับไปขายริมทาง
หรือในอุทยานอีกทอดหนึ่งนอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ไม้กวาดดอกหญ้า
ที่ขึ้นชื่อและเป็นสินค้าขายดี
ล่าสุดทางพัฒนาชุมชนอำเภอและจังหวัดเองก็มีโครงการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนในหมู่บ้านหลวงให้มีศักยภาพ
ทั้งรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ยกระดับไปสู่การขายได้ราคา และเข้าถึงตลาดใหม่ๆอีกด้วย
ลุงประเสริฐ หนึ่งในชาวบ้านหลวงที่ทำอาชีพสานตะกร้าไม้ไผ่ บอกว่า
ทำอาชีพสานตะกร้ามาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม
แม้ทุกวันนี้จะพักงานจากการทำจักสานเนื่องจากอาการป่วยแต่ก็ยังรักในอาชีพนี้ งานไม้ไผ่ใช้วัตถุดิบจากป่าใกล้บ้าน
ไม่กี่ลำก็สร้างงานจักสานตะกร้าได้มูลค่าหลายร้อยบาท ชาวบ้านมีรายได้
ไม่ต้องออกไปทำงานรับจ้างก็พอกิน
ขณะที่ ลุงบุญรัตน์
แปดเหลี่ยม และป้าแก้วดีหนึ่งในกลุ่มชาวบ้านที่ทำไม้กวาดดอกหญ้าขายเป็นอาชีพหลักทุกวันนี้บอกว่า
ไม้กวาดดอกหญ้า ที่บ้านหลวง มีสมาชิกหลายครัวเรือนรวมกลุ่มกัน ทำไม้กวาดขายส่งให้ร้านค้าในชุมชนใกล้เคียงและมีพ่อค้าคนกลางทั่วไปสั่งซื้อตลอดทั้งปีก็ยังไม่พอขายเพราะ
เป็นสินค้าที่มีคู่แข่งน้อยในพื้นที่ ทรัพยากรวัตถุดิบก็เก็บดอกหญ้าจากป่า
มีชาวบ้านบางส่วนมีอาชีพเก็บดอกหญ้ามาขายส่งอย่างเดียวก็มีรายได้แล้ว ส่วนที่บ้านของลุงทั้งรับซื้อและหาดอกหญ้า
รวมถึงวัตถุดิบด้ามไม้ไผ่ผลิตไม้กวาดหลายขนาด ทั้งแบบขนาดเล็ก และใช้ในบ้านทั่วไป
จนถึงไม้กวาดด้ามยาวสำหรับทำความสะอาดผ้าเพดาน นอกจากนี้ยังไม้กวาดทางมะพร้าว
หากมีวัตถุดิบก้านมะพร้าวที่ซื้อจากเพื่อนบ้าน
“รูปแบบไม้กวาดของบ้านหลวงเราจะเน้นเรื่องคุณภาพความแข็งแรงคงทนเป็นหลัก
ลูกค้าที่ซื้อไปก็กลับมาซื้อซ้ำทั้งปลีกและส่ง เพื่อนบ้านสมาชิกในกลุ่มของเราก็พยายามผลิตไม้กวาดให้ได้มาตรฐานเดียวกัน
ล่าสุดขณะนี้ทางพัฒนาชุมชนอำเภอกำลังหาทางพัฒนารูปแบบการผลิตไม้กวาดบ้านหลวงให้มีรูปแบบใหม่ๆ
ให้ขายในตลาดได้มีมีราคา
เพื่อเป็นการขยายฐานสร้างรายได้ทางอาชีพให้ชุมชนบ้านหลวงเพิ่มขึ้นชาวบ้านที่ว่างจากการทำไร่นาก็จะมีโอกาสเข้ามาทำอาชีพผลิตไม้กวาด
เป็นอาชีพเสริม”
วิถีเรียบง่ายจาการทำงานในบ้านสร้างความสุขและรายได้ในชุมชน
ใครผ่านมาเที่ยวอุทยานแจ้ซ้อนก็ เลี้ยวซ้ายแวะขึ้นไปเส้นทางบ้านศรีดอนมูลผ่านตลาดไปยังวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน
เที่ยวชมร้านขายเครื่องจักสานในหมู่บ้าน ดูวิถีทำไม้กวาด งานจักสานตามครัวเรือน
หิ้วกลับไปเป็นของใช้ในบ้านหรือเป็นของฝากราคาไม่แพงเหมือนซื้อในตลาด
มีตั้งแต่ราคา 20
บาทจนถึง 50 บาท มาถึงถิ่นก็อุดหนุนกันไป กระจายรายได้หล่อเลี้ยงวิถีและความสุขในชุมชน ของดี๊ดีที่บ้านหลวงแจ้ซ้อน
เรื่อง-ภาพ
: ศชากานท์ แก้วแพร่
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น