วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ผู้นำไทย ในเวทีสากล ด้อยค่า ไร้ความสง่างาม

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ากได้เห็นภาพพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวเปิดงานการประชุมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ด้วยการก้มหน้าก้มตา อ่านโพยที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้ให้ ด้วยการสะกดภาษาไทยอย่างร้อนรน ตามสไตล์ของเขา ก็อาจคิดได้ว่า

คิดได้ว่า หากตำแหน่งประธานอาเซียน ไม่ได้เป็นตำแหน่งที่เวียนกันเป็น เช่น ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนปีนี้ ต่อจากประเทศสิงคโปร์ แต่เป็นการเลือกด้วยความเหมาะสม ด้วยความรู้ ความเข้าใจในงานต่างประเทศ ด้วยบุคลิกภาพของความเป็นผู้นำ ที่นำไปวางเรียงเคียงข้าง ผู้นำจากชาติอาเซียนอื่นๆแล้ว  ก็นับว่านายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ดูด้อยค่า และไม่เหมาะสมกับสถานะประธานอาเซียนอย่างยิ่ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นได้ดีที่สุดแค่ผู้นำทางทหาร เขาไม่เหมาะที่จะเป็นตัวแทนของประเทศนี้ เป็นความภาคภูมิใจเช่นเดียวกับผู้นำชาติอื่นๆ ที่ยืนอยู่บนเวทีอย่างสง่าผ่าเผย การที่เขาก้าวจากสถานะผู้นำทางทหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน มาเป็นผู้นำทางการเมือง คือความถดถอย

โทรุ ทาคาฮาชิ บรรณาธิการข่าวประจำภูมิภาคเอเชียของ “นิกเกอิเอเชียนรีวิว” เผยแพร่บทความชื่อ Prayuth's return as prime minister takes Thailand back to 1980s หรือ “พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกสมัย ทำให้ประเทศไทยย้อนกลับไปสู่ยุค 1980” เมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ มีเนื้อหาระบุว่า ยุคของพล.อ.ประยุทธ์ คือยุคที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ

ผู้สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายคน โดยเฉพาะวุฒิสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งจากพล.อ.ประยุทธ์ พยายามอธิบาย สร้างความชอบธรรมว่า พล.อ.ประยุทธ์ มาโดยวิถีทางประชาธิปไตย โดยกติกาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านการทำประชามติจากประชาชนแล้ว

เขาจำกัดความ บุคคลที่แต่งตั้งพวกเขามาค้ำบัลลังค์นายกรัฐมนตรีว่า เป็น “เผด็จการประชาธิปไตย”

แม้โทรุ ทาคาฮาชิ จะเปรียบยุคสมัยของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ปี ว่าเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่พล.อ.เปรม ก็ไม่ได้อำนาจมาโดยการปฎิวัติ อีกทั้งพล.อ.เปรม ยังใช้กลไกรัฐสภาแก้ปัญหาทางการเมือง ไม่ได้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์

บทวิเคราะห์ ความเห็นของสื่อต่างประเทศ นับว่าน่าสนใจ เพราะสื่อต่างประเทศมิได้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจรัฐ หรือแสดงออกซึ่งการปกป้องอำนาจรัฐ สนับสนุนผู้นำอย่างเต็มกำลัง เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่อดีตผู้บริหารสื่อ ไปเป็นนักการเมืองในสังกัดพรรครัฐบาล

เช่น บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เผยแพร่เมื่อ 8 มิ.ย.2019 แนะนำรัฐบาลสหรัฐฯว่า ยังไม่ควรฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยอย่างเต็มรูปแบบ วอชิงตันโพสต์ ชี้ว่า แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่ได้ชื่อว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ประชาธิปไตยจอมปลอมของไทยไม่คู่ควรกับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ

บทบรรณาธิการเริ่มต้นด้วยการให้ภาพว่าไทยเป็นชาติพันธมิตรนอกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2013 และการวางแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ในเอเชียของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างมากจากไทย แต่เป็นเวลา 5 ปีมาแล้วที่สหรัฐฯ ระงับการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่กองทัพไทย เพราะการก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ย่อมไม่แตกต่างไปจากบทบรรณาธิการของ “ลานนาโพสต์” ที่ยืนยันมาตลอดว่า ความขลาดกลัวที่จะพิสูจน์ตัวเองในสนามการเลือกตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือความเศร้าหมองของคนไทยทั้งระบบ สหรัฐระงับความช่วยเหลือ ก็เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ผู้นำในระบอบประชาธิปไตย ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผู้นำที่ชมชอบในการใช้อำนาจเผด็จการ แม้จะถูกห่อหุ้มไว้ด้วยภาพของประชาธิปไตย แต่เขาจะไม่ได้การยอมรับทั้งจากต่างชาติ และคนในชาติที่มีใจเป็นธรรมเลย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1235 วันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์