วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ปักหมุด 'บ้านท่าสี' ท่องป่า ปีนเขา ชมภาพหมื่นปี

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ห่างจากตัวเมืองลำปางไปตามเส้นทางลำปาง-งาว ราวกิโลเมตรที่ 38 ด้านซ้ายมือเราจะเห็นที่ทำการสถานีท่องเที่ยวบ้านท่าสีตั้งอยู่ริมถนน แหล่งท่องเที่ยวที่มีจุดเริ่มต้นจากคนในชุมชนช่วยกันพัฒนา จน สถานีท่องเที่ยวบ้านท่าสี กลายเป็นพิกัดท่องเที่ยวเล็กๆ ที่ต้องแวะเช็คอินแห่งบ้าน บ้านท่าสี ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง พิกัดจุดท่องเที่ยวที่นักเดินทางไม่ควรพลาด เมื่อผ่านเส้นทางลำปาง-เชียงราย

ภูเขาหินปูนเด่นตระหง่านทางด้านหลังที่ทำการท่องเที่ยวบ้านท่าสีนั้น คือดอยผาก้าน คำว่า ก้าน แปลว่า แพ้ ที่มาของชื่อไกด์เล่าว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ได้พากันมาหลบซ่อนตามหลืบถ้ำบนดอยนี้


นอกจากมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์สงคราม ดอยผาก้านยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยา โดยมีถ้ำที่เปิดให้เข้าชม 2 ถ้ำ ได้แก่ ถ้ำจำยาแก้ เหมาะกับนักท่องเที่ยวทั่วไป เพราะเดินไม่ยาก อาศัยการปีนป่ายเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนถ้ำปล่องลมเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวแนวผจญภัย เพราะต้องลงบันไดไปเท่ากับความสูงของตึก 3 ชั้นเลยทีเดียว ด้านโบราณคดีก็น่าสนใจไม่น้อย ที่นี่มีภาพเขียนสีโบราณบนผนังเขาหินปูน และยังค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ซึ่งทั้งภาพเขียนสีและโครงกระดูกคาดว่ามีอายุราว 12,000 ปี แต่น่าเสียดายที่นักท่องเที่ยวจะไม่ได้เห็นโครงกระดูกโบราณดังกล่าว เพราะถูกนำไปเก็บรักษาที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากอยู่ในสภาพใกล้ผุพังเต็มที

การท่องเที่ยวที่แห่งนี้สะดวกสบาย เพราะมีจุดจอดรถใกล้กับตีนดอยผาก้าน หรือจะฝากรถไว้ที่สถานีฯ แล้วเหมารถของชาวบ้านไปก็ได้ จากนั้นก็ได้เวลาเดินป่าระยะสั้น ๆ ไปชมภาพเขียนสีโบราณและหลุมขุดค้นโครงกระดูกมนุษย์โบราณ

ทางเดินในช่วงแรกค่อนข้างชัน ผ่านเข้าไปในป่า ซึ่งระเกะระกะไปด้วยก้อนหินน้อยใหญ่ ตามพื้นดินเราพบขนุนดินออกดอกสีแดงเป็นกลุ่มอยู่ตรงโน้นตรงนี้ ขนุนดินได้ชื่อว่าเป็นพืชกาฝาก หรือพืชเบียน เพราะมันจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากของต้นไม้ชนิดอื่น พบมากตามพื้นป่าดงดิบชื้นและบนภูเขาสูงทั่วทุกภาค นอกจากนี้ ตามพื้นดินที่ชุ่มชื้นก็ยังพบดอกไม้ในตระกูลเทียนและเปราะหอมพอเป็นสีสันหวาน ๆ ให้ผืนป่าอยู่บ้าง


เพียงอึดใจเดียวเราก็มาถึงดอยผาก้าน เบื้องหน้าปรากฏภาพเขียนสีโบราณวาดด้วยสีแดง ซึ่งสันนิษฐานว่าทำมาจากแร่สีและดินเทศ ประกอบไปด้วยภาพมือ 23 ภาพ ภาพสัตว์ ได้แก่ ช้างและหมี ภาพคล้ายคน 1 ภาพ ภาพสัญลักษณ์ 4 ภาพ และภาพต้นไม้ 1 ภาพ ในจำนวนนี้ ดูเหมือนว่าภาพมือและภาพช้างจะเห็นชัดที่สุด ส่วนบริเวณที่ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่อยู่ใกล้ ๆ กัน บัดนี้มีเพียงแอ่งดินว่างเปล่าเอาไว้ให้จินตนาการถึงโครงกระดูก 1 โครง เจ้าของร่างเป็นชายสูง 171 เซนติเมตร ถูกพบในสภาพนอนงอเข่าชิดอก เมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยนายชาญ เปียงสืบ

ไกด์พาเดินเลาะหน้าผาหินปูนไปเรื่อย ๆ ทางเดินร่มครึ้มด้วยแมกไม้ เมื่อแหงนมองบนหน้าผาจะเห็นต้นจันทน์ผาขึ้นอยู่มากมาย เราผ่านบริเวณผาเงิบ ลักษณะเป็นเพิงถ้ำเล็ก ๆ แล้วเมื่อออกเดินอีกไม่นานก็ถึงศาลานั่งพัก ใกล้กันมีบ่อน้ำทิพย์จำยาแก้ ลักษณะเป็นตาน้ำที่ไม่เคยเหือดแห้ง ลึกราว 3-4 เมตร เล่ากันว่า เคยมีคนเห็นสัตว์ปาที่เจ็บป่วยมากินน้ำในบ่อแห่งนี้แล้วกลับหายเป็นปกติ หลายคนจึงเชื่อว่านี่คือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

บริเวณศาลานั่งพักเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินไปยังถ้ำจำยาแก้และถ้ำปล่องลม ถ้ำจำยาแก้มี 3 ชั้น ได้บรรยากาศของการผจญภัยเล็ก ๆ โดยมีทางไปยังชั้นที่สองและชั้นที่สามได้อย่างสะดวก แต่ชั้นล่างสุดต้องปีนบันไดไม้ไผ่ลงไปจากชั้นที่สอง ผ่านชะง่อนผาชัน สันนิษฐานว่าชั้นล่างนั้น เป็นที่หยุดพักของคนสมัยโบราณ ส่วนใครที่เลือกไปถ้ำปล่องลมคงได้ผจญภัยอย่างตื่นเต้น เพราะต้องปีนบันไดไม้ไผ่ลงไปเท่ากับความสูงของตึก 3 ชั้น ท่ามกลางความสูงชันและมืดมิด เมื่อลงไปถึงด้านล่างจึงจะพบโถงถ้ำที่มีผลึกแคลไซต์ส่องประกายระยิบระยับ

กลับมารวมตัวกันที่ศาลานั่งพักอีกครั้งหลังออกจากถ้ำ ก็ได้เวลาอาหารกลางวัน หากเป็นกลุ่มเล็กคงต้องนำมาเอง แต่หากเป็นกลุ่มใหญ่ ชาวบ้านสามารถทำอาหารแบบง่าย ๆ ให้ได้

บ่ายคล้อยแล้วเมื่อเราเดินกลับมายังจุดจอดรถ ถ้าไม่หยุดกินข้าวกันกลางป่า เส้นทางนี้จะใช้เวลาเดินเที่ยวประมาณ 2-3 ชั่วโมง เป็นเส้นทางสั้น ๆ ที่ได้ใจความทั้งด้านประวัติศาสตร์ ธรณีวิทยา โบราณคดี และพฤกษศาสตร์ เชื่อหรือไม่ว่า เส้นทางนี้สำหรับเด็กอนุบาลแล้ว พวกเขาสนุกสนานกันมาก เราได้แต่หวังว่า การเดินป่าในวันนั้น จะเป็นบทเริ่มต้นให้พวกเขารักการเรียนรู้ในโลกกว้างอย่างไม่สิ้นสุด ก่อนกลับจะแวะดื่มกาแฟ ชมวิวในบรรยากาศสบายๆที่ร้านกาแฟริมทางในชื่อเก๋ๆว่า “สถานีหนีเมีย” ก็จะเป็นการปิดทริปการเที่ยวได้อย่างสมบูรณ์แบบเลยทีเดียว

...................................
หมายเหตุ : ยาทากันยุงและน้ำดื่มคือสิ่งจำเป็นมาก
สถานีท่องเที่ยวบ้านท่าสี โทรศัพท์ 09-6631-7982, 08-1028-8301
           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1232 วันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2536)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์