
เลือกลำปางนำร่องภาคเหนือปลูกกัญชาส่งกรมการแพทย์แผนไทย “ประพัฒน์”
เผยผู้ต้องการปลูกต้องเป็นกลุ่มวิสาหกิจ ต้องยอมเสียสละทั้งแรงและทุนทรัพย์
ลงทุนถึง 1
ล้านบาท ชูการปลูกแบบอินทรีย์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
จากที่สภาเกษตรกรแห่งชาติ
นำโดยนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ร่วมหารือกับ
นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ในหัวข้อ “การขออนุญาตเพาะปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 62
ที่ผ่านมา
ซึ่งผลสรุปออกมาว่า ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ
ต้องการปลูกกัญชาแบบเกษตรอินทรีย์เท่านั้น และได้คัดเลือก 4 จังหวัด
ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี ลำปาง และบุรีรัมย์ โดย จ.ลำปาง
จะนำร่องพื้นที่ปลูกก่อน
นายประพัฒน์
ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
กล่าวว่า ในการประชุมหารือร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทย
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ
รวมทั้งตัวแทนจากโรงพยาบาลทั้ง 4 ภูมิภาค
จนนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงกับทางกรมการแพทย์แผนไทย
โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจะปลูกกัญชาแบบเกษตรอินทรีย์ส่งให้กับกรมการแพทย์แผนไทย
นำร่อง 4 จังหวัด คือ ลำปาง บุรีรัมย์ กาญจนบุรี
และสุราษฎร์ธานี
โดยเน้นทำการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์
เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์คือการทำเกษตรที่ปลอดภัยและสะอาดที่สุด เริ่มจากการตรวจน้ำ
ตรวจดินหาสารตกค้าง ตรวจประวัติการเพาะปลูกย้อนหลังไป 10 ปี
เพราะฉะนั้นการจะปลูกต้องดูแลเป็นพิเศษมาก เมื่อนำพืชผักไปทำอาหารก็ต้องปลอดภัย
และยิ่งนำไปทำเป็นยาก็ยิ่งต้องปลอดภัยมากขึ้นด้วย
จึงต้องเข้มงวดเรื่องเคมีเกษตรมาก โดยสภาเกษตรฯได้มีการทดลองปลูกแล้วหลังจากจดแจ้งขึ้นทะเบียนได้
ประมาณ 4 เดือนแล้ว ขณะนี้ต้นได้สูงท่วมหัวแล้ว
สุขภาพดีและแข็งแรง เชื่อว่าการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์จะได้ผลดี
ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
กล่าวว่า การเลือก จ.ลำปาง
เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องของการปลูกกัญชา เนื่องจากว่ามีอาสาสมัครที่มีความพร้อม
ทั้งใจรักและทุนทรัพย์ เนื่องจากจะไม่มีงบประมาณให้
ผู้ปลูกต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ต้องเสียสละ
ลงทุนฟรีให้กับหลวงคนละประมาณ 1 ล้านบาท
เน้นผู้ที่ต้องการความรู้ ไม่เน้นกำไร
เพื่อจะให้ได้รู้ว่าคนไทยก็สามารถทำผลผลิตดีๆออกมาได้
ไม่ต้องพึ่งต่างชาติมากเกินไป
น่าจะต้องใช้พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ให้ผลสัมฤทธิ์ก่อนและค่อยขยับขยายออกไป ซึ่งในเรื่องนี้เอง ก็มีเกษตรกรสอบถามตนเข้ามามาก
ว่าทำไมถึงมีการนำร่องแค่ 4 จังหวัด
เพราะมีคนอยากปลูกมากมาย ขอชี้แจงว่าขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้ปลูกทางเชิงพาณิชย์
ยังไม่สามารถปลูกขายได้ หากเกษตรกรทั่วไปปลูกอาจจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงได้ขอเริ่มต้นจากพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน
ขอให้อดใจรอจนกว่าสังคมจะเปิดกว้างและกฎหมายจะผ่อนปรน หากใน 4 จังหวัดนี้เริ่มปลูกและมีความเป็นไปได้
ในอนาคตก็จะมีการขยายออกไปให้ปลูกได้ทุกจังหวัด
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น