
เวที
ค.1 โรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 8-9 ราบรื่น
ประชาชนเข้าร่วมกว่า 2,600 คน ยังเป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการบริหารงบกองทุนฯ ย้ำขอปรับลดค่าไฟฟ้าสำหรับคนแม่เมาะ
เพราะเป็นพื้นที่ใช้ทรัพยากรในการผลิตและตั้งโรงไฟฟ้า
การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น
ครั้งที่ 1
โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 62 ที่ผ่านมา ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ
กฟผ. แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มีประชาชนเข้าร่วมจากการลงทะเบียน จำนวน 2,647
คน และร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยวาจา 48 คน เพื่อสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินโครงการฯ
ซึ่งข้อคิดเห็นของประชาชนจะนำไปกำหนดขอบเขต
และมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อประโยชน์ของประชาชน
นายประจวบ
กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
ประธานเปิดการประชุม กล่าวว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะจะสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนขึ้นจากเครื่องเดิมที่เสื่อมสภาพ กฟผ.แม่เมาะเป็นหน่วยงานของภาครัฐ
และพวกเราเป็นภาคประชาชน ซึ่งไม่ได้เป็นศัตรูกัน สามารถพูดคุยกันได้ การที่ภาครัฐจะทำโครงการอะไรต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรู้อย่างละเอียด
ต้องแสดงข้อเท็จจริง ข้อดี ข้อเสีย และวิธีการแก้ไขได้อย่างละเอียด
ส่วนภาคประชาชนมีหน้าที่แสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ไม่ปลุกปั่น
หลอกลวง ถ้าทั้งสองฝ่ายพูดคุยกันด้วยความบริสุทธิ์ใจประเทศเราจะมีการพัฒนา การที่
กฟผ.แม่เมาะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เรามาแสดงความคิดเห็นกันด้วยเหตุด้วยผล
จากนั้นได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ลงชื่อแสดงความคิดเห็นด้วยวาจา
จำนวน 48 คน ได้เริ่มขึ้นพูดโดยใช้เวลาคนละ 5 นาที
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วได้ให้การสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 8-9 แต่ยังมีข้อเป็นห่วงในหลายๆประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้า การปรับลดค่าไฟฟ้า การเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ ปัญหาเรื่องสุขภาพ เรื่องทรัพยากรน้ำ เป็นต้น
นายสมมุติ
หารือ ราษฎร ต.แม่เมาะ กล่าวว่า
ผลพลอยได้จากโรงไฟฟ้าก็คือขี้เถ้าลอย ยิปซัม หินคลุก
เห็นด้วยที่จะมีคณะอนุกรรมการจัดเป็นกองทุนสิ่งแวดล้อมอำเภอแม่เมาะ เช่น ปรับปรุงถนนสายผาลาดถึงโรงไฟฟ้า
ระบบคอนกรีตทั้งหมด ติดตั้งระบบไฟส่องสว่าง กล้องวงจรปิดตลอดเส้นทางทุกระยะ
เพื่อช่วยดูแลและเยียวยาให้คนแม่เมาะทุกสาขาอาชีพให้ได้เท่าเทียมกันหมด
นายอดุลย์
ไชยทอง ชาวบ้าน ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ
กล่าวถึงกรณีกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้ามีงบประมาณเข้ามาให้หมู่บ้าน
ซึ่งบางหมู่บ้านใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่บางหมู่บ้านไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้
เนื่องจากประสบปัญหาติดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จึงไม่สามารถพัฒนาโครงการสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานของหมู่บ้านได้ ทั้งที่กองทุนได้เข้าไปประชาคมกับชาวบ้านแล้วว่าต้องการอะไร
ขอให้ช่วยประสานงานทางกรมป่าไม้ด้วย
อีกเรื่องคือค่าไฟฟ้า ชาวบ้านควรได้รับการลดหย่อนค่าไฟฟ้าส่วนภูมิภาคด้วย
เพราะในหมู่บ้าน อ.แม่เมาะ มีทรัพยากรในพื้นที่นำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า
จึงควรช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ในเรื่องค่าไฟฟ้าด้วย
นายอภิเษก
ปั๋นดี กล่าวว่า จากการศึกษาการดำเนินการของ กฟผ.ย่อมมีทั้งผลดีและผลเสีย
การผลิตกระแสไฟฟ้าส่งผลพลอยได้เป็นเม็ดเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า แต่มีข้อวิตกกังวลในหลายประเด็น คือ
คุณภาพอากาศ ขยายเพิ่มการตรวจสอบคุณภาพอากาศในทุกพื้นที่ ตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดิน
และน้ำใต้ดิน
ฟื้นฟูแหล่งสภาพป่าใกล้เคียงพื้นที่ชุมชน ฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำ
ลำห้วยธรรมชาติ
ขยายการสร้างทางสำหรับรถบรรทุกหนัก ไฟส่องสว่าง และกล้องวงจรปิด ดำเนินการติดต่อประสานงานกระทรวง กรม ต่างๆ
ในการอพยพราษฎรได้รับผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน
ด้านสุขภาพมีการใช้บริการโรงพยาบาลจำนวนมากทำให้เกิดความแออัด อยากให้
กฟผ.ติดตามแก้ไขและขับเคลื่อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่นายสมโภชน์
ปานถม ปราชญ์เกษตรกร แสดงความคิดเห็นว่า
ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น การเจ็บป่วยมากขึ้น การบริโภคอาหารที่มีสารเคมี
ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เมื่อไปโรงพยาบาลคิวยาวมาก
และยังต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา จึงอยากให้จัดเป็นศูนย์สมุนไพรเคลื่อนที่
รักษาโดยการใช้สมุนไพร เพื่อช่วยดูแลสุขภาพของคนแม่เมาะ ลดการใช้สารเคมี
ยาปฏิชีวนะ สุดท้ายขอสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้มีการก่อสร้างต่อไป
นายวิวัฒน์
ปินตา ตัวแทนภาคประชาชน ได้นำเสนอว่า ระยะที่มีโครงการก่อสร้าง
ควรมีมาตรการรองรับ เช่น แรงงานที่เพิ่มขึ้น
การใช้บริการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น
การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและควรจะมีมาตรการรองรับ
รวมไปถึงเรื่องการป้องกันยาเสพติด เขียนออกมาให้ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
นายศุกษ์
ไทยธนสุกานต์ นายก อบต.บ้านดง กล่าวว่า
ชาวแม่เมาะสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพราะเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินของเขา
แต่ขอให้มีการดำเนินการอย่างถูกต้องโปร่งใส่ อย่าจงใจบิดเบือนข้อมูลต่างๆ ต้องมีการดูแลทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ
ให้ความเป็นธรรมกับชุมชน ส่วนไหนที่มีปัญหาก็ควรจะกำหนดในรายงานฉบับนี้ด้วย การใช้สาธารณูปโภค สิ่งไหนควรดำเนินการให้ประชาชนในพื้นที่
อ.แม่เมาะ ได้ก็ควรทำ เช่น มีสวัสดิการการใช้ไฟฟ้า การที่ตนทำไปทั้งหมดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
พร้อมกันนี้ได้นำเอกสารมายื่นให้กับทางบริษัท
เป็นข้อเสนอในภาครวมของ อ.แม่เมาะ 9 ข้อ
เพื่อนำไปกำหนดในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป
ด้านนายสุนทร
ใจแก้ว อดีต นายก อบต.สบป้าด กล่าวว่า
การก่อสร้างโรงไฟฟ้า 4-7 ยังไม่ได้รับคำตอบ โรง 8-9 จะสร้างอีกแล้ว ตนเองก็ขอเรียกร้องให้จัดตั้งสวัสดิการให้กับประชาชนคนละ
500-2000 บาทต่อคนต่อเดือน รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาทุกเรื่อง ปรับเปลี่ยนการแบ่งแนวเขตปกครองใหม่เพราะพื้นที่ไม่อยู่ในเขตประทานบัตรแต่ได้รับผลกระทบหนักมาก
ไม่เคยได้รับค่าภาคหลวงแร่ ขอให้ยกเลิกระเบียบจากสำนักนายกรัฐมนตรี
ให้เป็นลูกจ้างของ กฟผ.โดยตรง แก้ไขการจดทะเบียนสำนักงานเมือง
ไปจนที่ จ.นนทบุรี ไปเสียภาษีที่นั่นหมด ไม่มีการจ่ายให้ จ.ลำปาง ควรเปลี่ยนมาจดทะเบียที่
จ.ลำปาง เพื่อให้ภาษีเข้าในจังหวัด
อีกทั้งการดูแลเรื่องแหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำต่างๆให้ตรวจสอบสารเคมีด้วย
และมีการปล่อยน้ำต่อเนื่องไม่กักเก็บไว้ใช้กับโรงไฟฟ้าอย่างเดียว และการใช้งบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าก็ควรปรับเปลี่ยนเพราะไม่ได้เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง
นายบุญเลิศ
แสนเทพ ส.อบจ.ลำปาง อ.แม่ทะ กล่าวถึงการสร้างเขื่อนแม่จาง ส่งผลให้น้ำไม่ไหลตามธรรมชาติ
มีการเก็บกักน้ำ น้ำเสียไหลลงสู่ลำน้ำแม่จาง
การไฟฟ้าต้องเข้าไปดูแลพื้นที่ อ.แม่ทะ 8 ตำบล
อีกทั้งการอพยพชาวบ้านไปอยู่ในพื้นที่บ้านเวียงสวรรค์
ซึ่งเป็นต้นน้ำของลำห้วยแม่ทะที่ลงสู่อ่างวังเฮือ
ทำให้ป่าต้นน้ำถูกทำลาย อ่างเก็บน้ำแห้งขอด ต้องแก้ไขส่งน้ำจากโรงไฟฟ้าเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ อ.แม่ทะอยู่ห่างจาก อ.แม่เมาะ ไม่ถึง 10
กิโลเมตร แต่ได้รบการจัดสรรงบประมาณได้เท่ากับอำเภอที่อยู่ห่างไกล ขอเรียกร้องสิ่งที่การไฟฟ้าต้องรับผิดชอบต่อสังคม
จากการสรุปผลการประชุมในเบื้องต้น สิ่งที่ประชาชนยังมีความกังวล เช่น
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารงบประมาณของกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า
การดูแลด้านสุขภาพและสาธารณูปโภคให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น
รวมถึงการพัฒนาชุมชนและการสร้างงาน เป็นต้น โดยข้อเสนอแนะต่างๆ บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์
จำกัด จะนำไปเป็นกรอบการศึกษา โดยจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์และพูดคุย
กับกลุ่มประชาชนถึงข้อคิดเห็นและข้อสงสัยในพื้นที่ศึกษาอย่างใกล้ชิด
เพื่อกำหนดขอบเขตและมาตรการป้องกัน
และแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ครอบคลุมตามข้อห่วงกังวลของประชาชน
หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการทบทวนและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรายงานฯ
ครั้งที่ 3 เพื่อนำไปจัดทำรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ต่อไป
ทั้งนี้
ประชาชนยังสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อร่างฉบับนี้ได้
โดยส่งข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะไปที่ 1. E-Mail: [email protected] และ [email protected] 2. คุณวีณิฐฐา
วรเกียรติธนากร และคุณรัตติยา งามประดิษฐ์ โทรศัพท์ 0-2509-9000 กด 2322 หรือ 2315 โทรศัพท์มือถือ
061-564-4480 โทรสาร 0-2509-9047 3. ส่งไปยัง
บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนท์ จำกัด 152 ถนนนวลจันทร์
แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10230 (ชั้น 13 โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9) ภายใน 15
วัน นับจากวันจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ จนถึงวันจันทร์ที่ 29
กรกฎาคม 2562
ด้านนายสมรักษ์
เพ็ชรเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
กล่าวว่า ขอขอบคุณชาวแม่เมาะที่ให้ความสนใจมารับฟังและแสดงความคิดเห็น
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน
เครื่องที่ 8-9
เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน
ใช้ถ่านลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง มีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 660 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นั้น
ดำเนินการเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8-9 ซึ่งจะถูกปลดออกจากระบบในปี
2565 เพื่อรักษาระดับกำลังผลิตและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคเหนือ
รวมถึงรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ตามแผนพัฒนา
กำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018)
สำหรับการแสดงความคิดเห็นในวันนี้
กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษาฯ
จะรวบรวมทุกข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ไปกำหนดกรอบและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในขั้นตอนต่อไปให้ครอบคลุม
ทุกข้อห่วงกังวล เพื่อให้การศึกษาและจัดทำรายงาน EHIA เป็นไปอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1238 วันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2562)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น