วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ปิดฉากรันทด คนทีวีดิจิตอล

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ก่อนสิ้นสิงหาคมนี้ 7 ช่องทีวีดิจิตอล ก็จะปิดฉากอย่างเป็นทางการ แต่ผลกระทบที่เกิดกับเจ้าของผู้ประกอบการ ที่เป็นต้นทาง ของการเกิดทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง มีไม่มากนัก เพราะได้รับเงินชดเชยจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในขณะที่กลุ่มคนที่ต้องเผชิญชะตากรรม จากความเพ้อฝัน การเล็งผลเลิศ ของเจ้าของกิจการ คือ ลูกจ้างนับพันคน

เป็นความมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งของประเทศไทย ที่นายทุน ลงทุนแล้วเจ๊ง เพราะฝันว่าจะกอบโกยกำไรจากการแบ่งส่วนโฆษณาจากทีวีระบบอนาล็อคเดิม แต่ฝันสลาย รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็กระโดดเข้าอุ้ม โดยไม่เคยใส่ใจใยดีกับผู้ประกอบการขนาดเล็ก เช่น เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน ทีวีชุมชน ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นยากลำบากไม่ต่างกัน

ก่อนหน้านี้ สังคมเชื่อว่า หนังสือพิมพ์จะตาย ซึ่งมีความจริงอยู่บ้าง ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็ว ทันสมัยมากขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปภักดีสื่อออนไลน์ แต่หนังสือพิมพ์ก็ยังดำรงอยู่ ที่ตายไปก็ไม่ส่งผลกระทบในเชิงโครงสร้างมากนัก

แต่อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล ล้มเร็ว ส่งผลกระทบเร็ว เพราะผ่านไปเพียงปีเศษๆ ไทยทีวี และโลก้า ก็ส่งสัญญาณอันตราย ด้วยการโยนผ้ายอมแพ้เป็นเจ้าแรก

 ความคมชัด ของภาพและเสียงอันเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นของ การส่งสัญญาณผ่านระบบดิจิตอล มาช้ากว่ากาลเวลา เพราะในโลกที่เทคโนโลยีการสื่อสาร เปลี่ยนแปลง ก้าวหน้านับกันเป็นนาที ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร สาระบันเทิงในช่องทางที่คม ชัด หลากหลาย โดยไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของเวลาและสถานที่อีกต่อไป ทีวีดิจิตอลก็กลายเป็นเพียงช่องทางหนึ่งที่ล้าสมัย ไม่พัฒนาและคือสิ่งที่จะสูญหายไปในเวลาอีกไม่นาน

สมาร์ทโฟน เป็นช่องทางสำคัญ ในการเลือกรับสาร ในมหาสมุทรแห่งข้อมูล ข่าวสาร ทีวีดิจิตอล เป็นเพียงฟองอากาศเล็กๆที่ล่องลอยอย่างไร้จุดหมาย

ทุกวันนี้ คนดูยังไม่เห็นเนื้อหาที่แตกต่างของทีวีดิจิตอล ที่คุยกันคำโตก่อนประมูลคลื่น เพราะสุดท้ายแล้ว เกือบทุกๆช่องก็ทำเหมือนกัน มีเกมโชว์เหมือนกัน มีประกวดร้องเพลงในช่วงก่อนไพรม์ไทม์เหมือนกัน มีรายการเล่าข่าวเหมือนกัน

ดังนั้น จึงไม่แปลก ที่ผลประกอบการกลุ่มทีวีดิจิตอล ที่อยู่ในตลาดหุ้น ไตรมาสแรกของปีถัดมาจากการประมูล ขาดทุนกันโดยทั่วหน้า โดยเฉพาะช่องข่าวที่เคยฝันว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งในวงการ เหลือเพียงช่องบันเทิง ที่ยังมีกำไรต่อเนื่อง ส่วนทีวีดิจิตอลในกลุ่มสื่อยักษ์ใหญ่ ไทยรัฐ และเดลินิวส์ ไทยรัฐนั้นไปถูกทางแล้ว และดีวันดีคืน ขณะที่เดลินิวส์ยังกัดฟันขายสารคดีที่ไม่แตกต่างจากช่องอื่น

ความล่มสลายขององค์กร แยกไม่ออกจากตัวคน เมื่อ กสทช.ตีธงเขียว ให้สัญญาณเริ่มแข่งขัน เมื่อเดือนเมษายน 2557 ปรากฏการณ์ “มนุษย์ทองคำ” ย้ายค่าย ตั้งราคาต่อรอง ก็คึกคักยิ่ง เพราะในขณะเริ่มต้นทีวีดิจิตอลนั้น คนข่าวระดับชำนาญการที่สามารถเริ่มต้นงานได้มีน้อยอย่างยิ่ง ไม่แตกต่างไปจากปรากฏการณ์มนุษย์ทองคำช่วงก่อนหน้าปี 2540 ที่คนข่าวหนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อยถูกซื้อตัว

ยังไม่ต้องกล่าวถึง คนข่าวจำนวนหนึ่งที่ถูกยกขึ้นเป็นระดับชำนาญการ โดยที่อายุราชการยังน้อย ความสามารถไม่ถึง ความรู้เรื่องข่าวมีปัญหา ความสำนึกเรื่องจริยธรรมต่ำ ความจริงที่ทีวีดิจิตอล มิใช่สิ่งที่สังคมนี้ต้องการอีกแล้ว บวกกับคุณภาพคนข่าวที่ทำได้ “ไม่ถึง” ไม่สามารถแสดงความคิดเชิงสร้างสรรค์ให้เห็นความแตกต่างชัดเจน ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความรับผิดชอบ พร้อมๆกับความตายของไทยทีวี และโลก้า โพสต์ทีวี ที่ตั้งใจจะสานฝันกับไทยทีวี ก็ต้องปลดคนงานออกจำนวนมาก ตามมาด้วยวอยซ์ทีวี และสปริงนิวส์ ด้วยเหตุผลปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้ขนาดของคนมีความกะทัดรัด คล่องตัวในการทำงาน

นั่นก็เป็นสัญญาณบอกเหตุแห่งความตายของทีวีดิจิตอลมาเป็นระยะ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ 7 ช่องทีวีดิจิตอล มายอมรับความจริงในวันนี้ การสู้แบบหัวชนฝา มีแต่หัวแตก พวกเขาจึงไม่สู้ แต่ความตายของทีดิจิตอล ยังไม่สิ้นสุดในวันนี้ ช่องทีวีดิจิตอลบางช่องที่เหลือ ก็รอเวลาโชคร้ายที่ตายทีหลังเท่านั้นเอง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1239 วันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์