วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

'กิตติภูมิ' ลั่นไม่ลอยแพตลาดรถไฟ ให้ค้าขายปกติ ยื่นอัยการชี้ขาด

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

กิตติภูมิ ประชุมร่วมผู้ค้าตลาดรถไฟ ยันไม่ได้ลอยแพ ให้ค้าขายตามปกติจนกว่าข้อพิพาทจะยุติ เตรียมยื่นหนังสืออุทธรณ์ขอจ่ายค่าเช่าให้กับการรถไฟฯ  ส่วนประเด็นค่าปรับ 1.7 ล้านบาท จะเสนอเรื่องเข้าสู่กระบวนของคณะอัยการสูงสุดชี้ขาด  ขณะที่ค่าเช่าเลิกเก็บตั้งแต่ยุติการต่อสัญญา แต่มีค้างอยู่ 7 ราย เพิ่งมาจ่ายปีนี้  ระบุเรื่องเกิดเพราะใครไม่อยากฟื้นฝอย เมื่อเกิดปัญหาแล้วก็ต้องแก้ให้ถูกตามระเบียบ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ณ ห้องประชุมพุทธรักษา กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครลำปาง  นายกิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารปลัดเทศบาล และหัวหน้าส่วนการงานที่เกี่ยวข้อง  ร่วมประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรณี “ตลาดรถไฟ” ที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาอยู่ในสื่อออนไลน์อยู่ขณะนี้  โดยได้เชิญผู้ประกอบการตลาดรถไฟเข้าร่วมประชุม ประมาณ 50 คน

 
ทั้งนี้ จากกรณีที่ทางการรถไฟได้มีหนังสือแจ้งขอยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่บริเวณตลาดรถไฟ และคืนพื้นที่ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2562  เนื่องจากเทศบาลติดค้างค่าเช่ากับการรถไฟ 3 ปี แยกเป็น ปี 60  จำนวน 559,096 บาท  ปี 61  จำนวน 587,065 บาท และ 2562 จำนวน 616,047 บาท  ทำให้กลุ่มผู้ค้าภายในตลาดซึ่งมีเกือบ 100 ราย เกรงว่าเทศบาลจะลอยแพพวกตนทำให้ไม่มีที่ทำกิน จึงเกิดความวิตกกังวลกับเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อทางเทศบาลไมได้มีการต่อสัญญากับการรถไฟ เหตุใดจึงยังมีการเก็บค่าเช่าที่อยู่  ทางเทศบาลนครลำปาง จึงได้มีการเรียกประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ

จากการประชุม นายกิตติภูมิ นามวงค์  นายกเทศมนตรีนครลำปาง  กล่าวว่า  สัญญาดังกล่าวหมดวันที่ 31 ส.ค. 59 เทศบาลได้ทำหนังสือขอต่อสัญญาไปล่วงหน้าวันที่ 11 ก.ค. 59  การรถไฟออกหนังสือเตือนให้เทศบาลวันที่ 28 มิ.ย. 60  โดยได้ระบุว่าเทศบาลไม่ได้ดำเนินตามสัญญาตั้งแต่ต้น คือ ทำสัญญาเป็นสวนสาธารณะและขายของที่ระลึก แต่กลับมาทำเป็นตลาด ทางรถไฟจึงได้มีปรับอัตราค่าเช่าจาก 2.8 แสนบาท มาเป็น 5 แสนกว่าบาท  จะให้เทศบาลจ่าย 5 แสนบาทก็ทำไม่ได้ เพราะในสัญญาเดิมกำหนดไว้แล้ว จึงมีการหารือตอบโต้กันทางด้านเอกสารทางราชการ ระหว่างทางเทศบาลกับการรถไฟตลอดยังหาข้อยุติไม่ได้  จนทำให้เกิดค่าปรับ ซึ่งเทศบาลไม่สามารถจ่ายค่าปรับให้โดยพละการได้ ต้องมีระเบียบกฎหมายรองรับถึงจะดำเนินการได้

 
ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เทศบาลได้ทำหน้าที่ทางด้านเอกสาร เมื่อมีหนังสือมาก็จะทำตามขั้นตอนอุทธรณ์ตามที่ได้ชี้แจงไป และจะนำเข้าสู่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐ ถ้าคณะกรรมการบอกว่าให้เทศบาลจ่ายเงินก็จะนำเอกสารยืนยันมาทำการเบิกจ่ายงบประมาณได้   เทศบาลจะทำทุกอย่างให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ทำมาหากินต่อไป

ทางด้านกลุ่มผู้ค้า ได้สอบถามต่อว่า ทางเทศบาลได้เคยเรียกประชุมเมื่อปี 61 ที่ผ่านมา เรื่องการจะปรับปรุงตลาดแต่เหตุใดเรื่องจึงเงียบไป   ทางนายกเทศมนตรี จึงได้ชี้แจงว่า  เมื่อปี 61 ได้เชิญพ่อค้าแม่ค้ามาประชุม เนื่องจากได้ยื่นเรื่องถึงการรถไฟขอยกเว้นค่าปรับ และได้รับแจ้งกลับมาว่าให้เทศบาลเสนอโครงการปรับปรุงตลาดไปให้ทางการรถไฟ  และได้ส่งแบบแปลน พร้อมทั้งความเห็นของผู้ค้าในที่ประชุม ยื่นไปยังการรถไฟแต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับเอกสารชุดนั้นมาอีกเลย  ตอบมาเพียงว่าให้เทศบาลจ่ายค่าปรับมาเป็นระยะ   และหนังสือฉบับล่าสุดที่ส่งมาให้ยกเลิกสัญญา ทางเทศบาลก็ยังไม่ได้ยุติหรือละเลย ได้มีการทำหนังสืออุทธรณ์ไปยังการรถไฟ  รวมทั้งจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะอัยการสูงสุดเพื่อหาข้อยุติ  และยินดีจะไปพบผู้ใหญ่ของการรถไฟเพื่อหามติร่วมกัน 

ส่วนกรณีที่ผู้ค้าเกรงว่าจะถูกไล่ที่เมื่อครบกำหนดนั้น  ไม่ต้องกังวลเพราะหากจะมีการไล่ที่นั้นเทศบาลจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ เพราะเป็นคู่สัญญากับการรถไฟโดยตรง  แต่เทศบาลยืนยันว่าให้ค้าขายได้ต่อไปจะไม่มีการไล่ที่อย่างแน่นอน ขอให้กลุ่มผู้ค้ารอผลการพิจารณาว่าจะออกมาเป็นอย่างไร  ในกรณีที่กลุ่มผู้ค้าอยากจะรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์แล้วทำสัญญากับการรถไฟโดยตรงในอนาคต เพื่อบริหารจัดการตลาดด้วยตัวเองนั้น ทางเทศบาลยินดีจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่  แต่ทั้งนี้ต้องรอให้ผลของเรื่องนี้สิ้นสุดก่อน

 

นอกจากนั้นผู้ร่วมประชุมยังได้สอบถามถึงต้นเหตุของการเกิดปัญหาดังกล่าว  นายกิตติภูมิ ได้กล่าวว่า หากต้องการจะทราบถึงต้นตอของปัญหา จะต้องไล่ยาวไปตั้งแต่สมัยเมื่อหลายปีก่อน ว่าทำไมไม่ทำตามสัญญา ตลาดนี้เกิดขึ้นก่อนปี 59 ก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นนายกฯ และมีการต่อสัญญาทุกปี  เมื่อตนเข้ามาก็ขอยื่นต่อสัญญาเหมือนทุกครั้ง  แต่การรถไฟได้ตอบกลับมาช้า พร้อมกับแจ้งให้ยื่นเสนอโครงการปรับปรุงตลาดเข้าไป เพื่อประกอบการพิจารณาของทางรถไฟ ซึ่งได้ทำตามคำแนะนำทุกข้อ  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อขัดแย้งทั้งหลายจะฟันธงไม่ได้ว่าใครผิดถูกชัดเจน จึงต้องเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาร่วมกัน  

ด้านนายสมเกียรติ อัญชนา  รองนายกเทศมนตรี  กล่าวเพิ่มเติมว่า  เดิมที่ตลาดรถไฟ เป็นที่ตั้งของโรงแรมรถไฟเก่า และได้ปรับปรุงให้เป็นที่ว่างเปล่า   เมื่อปี 2544 สมัยนายเรือง เขื่อนแก้ว เป็นนายกเทศมนตรี  ไปขอเช่าที่กับการรถไฟ ทำเป็นสวนสาธารณะ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการปรับปรุงเป็นสวนแต่อย่างใด มีการไปเทพื้นทำถนนและมีการค้าขายในพื้นที่  โดยจ่ายค่าเช่าปีละประมาณ 2.8 แสนบาท  และได้ยื่นขอต่อสัญญามาตลอด   เมื่อสัญญาปี 59 หมดไปแล้ว ต้องยื่นต่อสัญญาใหม่  แต่การรถไฟได้แจ้งขอเปลี่ยนค่าเช่า ในปีแรก 5.5 แสนบาทเศษ ปีที่สอง 5.8 แสนบาทเศษ ปีที่สาม 6.1 แสนบาทเศษ รวม 3 ปีเป็นเงิน 1.76 ล้าบาทเศษ พร้อมกับแจ้งว่า เทศบาลต้องจ่ายค่าเช่าตามนี้ หากไม่จ่ายจะไม่ต่อสัญญาให้   เทศบาลจึงได้ยื่นข้อหารือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเวลาล่วงเลยมานานหลายปีแล้วยังไม่สามารถตกลงกันได้ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ  ทั้งนี้  การเบิกจ่ายเงินกับเทศบาลต้องจ่ายปีต่อปี หากเบิกจ่ายย้อนหลังไม่สามารถดำเนินการได้  ตอนนี้สัญญาของปี 59 ก็ยังไม่มี   หลังจากนี้ไป ในเมื่อการรถไฟมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับเทศบาลมา ทางเทศบาลก็จะทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ไปยังผู้บังคับบัญชาของการรถไฟ ระหว่างที่อุทธรณ์ผลการพิจารณายังไม่ถึงที่สุด ก็จะขอผ่อนผันให้ทางผู้ค้าอยู่ต่อไปได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องของการรถไฟกับเทศบาลนครลำปาง ผู้ค้าจะไม่มีผลกระทบใดๆทั้งสิ้น  อย่าคิดว่าเทศบาลละทิ้ง หรือลอยแพ เพราะตอนนี้ก็ดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่  ตั้งแต่ไม่ได้มีการต่อสัญญาก็ไม่ได้เก็บค่าเช่า ในส่วนที่เห็นว่ามีการเพิ่งมาจ่ายในปี 62 นี้ เนื่องจากเป็นผู้ที่ติดค้างค่าเช่าเดิมอยู่ 7 ราย อย่าเข้าใจผิดในเรื่องนี้  รองนายกเทศมนตรีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมทางกลุ่มผู้ค้าได้มีความพึงพอใจในระดับหนึ่ง และรอคำตอบจากผลการพิจารณาจากผู้มีอำนาจว่าจะออกมาเป็นอย่างไร  โดยได้แยกย้ายกันกลับไปค้าขายตามปกติ ซึ่งใช้เวลาประชุมกันประมาณ 3 ชั่วโมง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1239 วันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2562 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์