วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ก้าวอนุรักษ์ ต้นไม้ร้อยปี พลังแห่งฝัน“สร้างป่าในเมือง”

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

“ต้นไม้ก็มีชีวิต เราตัดโค่น เผาทำลาย ก็เท่ากับฆ่าคน 1 คนเลยนะ”

ความคิดที่แล่นขึ้นในหัว เมื่อเขารู้สึกในวันที่ไปนั่งใต้ต้นไม้ใหญ่ที่เคยไปนั่งเล่นเป็นประจำถูกตัดโค่นหายไป


“ก้าว” สุชาติ  พฤติไพบูลย์วาณิช ที่บางคนเรียกว่า เฮียก้าว หรือเสี่ยก้าว เจ้าของธุรกิจสายก่อสร้าง “ก้าวรวมช่าง” ผู้สร้าง”สวนป่า” ตามความฝันและปณิธานในการสร้างคุณค่าในบั้นปลายชีวิต โดยรวบรวมต้นใหญ่หลักร้อยปี ที่เจ้าของไม่ต้องการแล้ว อยากตัดโค่นทิ้ง หรือทำลาย ขนย้ายมาบริบาลไว้ในสวนป่าที่เขาตั้งชื่อว่า “เก้าอนุรักษ์ไม้ใหญ่” ในที่ดินส่วนตัว 40 ไร่ พร้อมจะเป็นป่าใหญ่ ให้ร่มเงา จนวันนี้ต้นไม้ทุกต้นกำลังเติบโต พร้อมกับบ่มเพาะสุขภาพและหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณให้หัวใจของเขาใช้ชีวิตอย่างมีความหวาย

·         คืนสุขภาพกายใจจากต้นไม้
“ผมทำงานอยู่กับวัสดุก่อสร้าง ขายเหล็กก่อสร้างมากกว่าครึ่งชีวิต สุขภาพก็แย่ลง หลังจากที่ผมเจอเหตุการณ์ต้นไม้ใหญ่ที่ผมเคยไปอาศัยร่มเงาถูกตัด เรารู้สึกเศร้า เสียดายต้นไม้มาก จึงเกิดแรงบันดาลใจว่า อยากหาที่ดินเพื่อปลูกต้นไม้เอาไว้เป็นที่พักผ่อนของตัวเอง ผมซื้อที่ดินแปลงแรก 10 ไร่ ติดคันคลองชลประทานเขตบ้านท่าล้อ ทางไปบ้านเอื้อม อ.เมือง จ.ลำปาง ไม่ห่างถนนมากนัก  ที่นี่มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น และมีเหตุที่เพื่อนและคนรู้จักเขาไม่ต้องการต้นไม้ใหญ่ในบ้าน เพราะต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินในการขยายสิ่งปลูกสร้าง แต่เขาก็ไม่อยากทำลาย ผมก็ไปขนย้ายมาไว้ที่สวนผม ทุกวันนี้ต้นไม้ต้นนั้น เติบโตร่มรื่น เจ้าของเขาก็ยังมาเยี่ยมชมได้ มันซาบซึ้งใจที่เราได้ต่อชีวิตให้ต้นไม้ต้นนั้น จากนั้นผมก็ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 30 ไร่ เพื่อขยายพื้นที่รองรับต้นไม้เพิ่มให้เป็นป่าในเมืองตามที่ผมตั้งใจ”


จากเรื่องราวของการต่อชีวิตต้นไม้ต้นแล้วต้นเล่า เพียงเพราะ เฮียก้าว มีกำลังเครื่องจักร รถเครนในธุรกิจของตัวเองจำนวนมาก จึงตอบโจทย์การจัดการขนย้ายต้นไม้ให้ง่ายดายเหมือนบังเอิญ หรือถูกกำหนดมาก็ไม่อาจจะเป็นได้

·         คืนชีวิตให้ต้นไม้
“เหตุการณ์ที่ครอบครัวผม ต้องจดจำไม่ลืมอีกครั้งหนึ่ง คือ ต้นโพธิ์อายุกว่าร้อยปี ที่เจ้าของเขาไม่ต้องการ ทั้งตัดและเผาทำลาย สุดท้ายมีคนมาบอก ผมจึงไปดูและขอขนย้ายมาไว้ที่สวน ตามความเชื่อคนไทย เชื่อว่าต้นโพธิ์มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครกล้าทำลาย ขนาดจุดไฟเผาโคนต้นยังไม่ตาย แต่ผมมองว่า ต้นไม้เก่าแก่ทรงคุณค่า ไม่น่ากลัวหากเรามีจิตบริสุทธิ์ การย้ายที่ปลูก คือการต่อชีวิต แทนการทำลาย แต่การย้ายต้นโพธิ์ต้นนั้น ไม่ง่าย ต้องใช้รถขุดและใช้เครน 80 ตัน ยก ผมระดมรถที่มีทุกคันไปใช้งาน เสียทุกคัน จนผมต้องบอกกับต้นไม้ว่า ผมมีเจตนาดีเพื่อต่อชีวิต ย้ายไปบำรุงรักษาให้มีชีวิตใหม่ สุดท้ายการขนย้ายผ่านไปด้วยดี เป็นต้นประวัติศาสตร์ที่สวนผมแห่งนี้ พร้อมๆกับต้นโพธิ์และต้นไม้ใหญ่ในตำนานจากหลายสถานที่มากมายมารวมกันอยู่ที่นี่ ทุกต้นมีตำนานและมีความสุขจากผู้ให้อยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน บางต้นเจ้าของกลับมาเยี่ยมชมกอดต้นไม้ร้องไห้ดีใจที่ไม่ต้องทำลายเขาทิ้ง ”

·         สวนป่าในเมือง
ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ต้นไม้ขนาดใหญ่ในส่วนป่าเก้าอนุรักษ์ไม้มีหลายพันต้น ตั้งแต่ต้นโพธิ์กว่าร้อยปี มะค่า มะฮอกกานี เกาลัด และพลับป่า รวมถึงไม้ป่าเบญจพรรณหายาก ไผ่หลากหลายสายพันธุ์ถูกนำมาปลูกไว้รวมกันราวกับป่าธรรมชาติ นอกจากนี้เขายังนำคอนกรีตที่ถูกรื้อจากถนน และสิ่งปลูกสร้าง มาดัดแปลงทำทางเดินชมสวน ถือเป็นการช่วยลดขยะจากสิ่งปลูกสร้างได้อย่างน่าอัศจรรย์


ซึ่ง เฮียก้าว บอกว่า ฝันทั้งหมดที่เขาได้ลงมือทำมาถึงวันนี้ พร้อมจะแบ่งปันความสุขของเขาโดยเปิดให้คนภายนอกมานั่งเล่นสุดอากาศเย็นสบายในเร็วๆนี้

แน่นอนว่า ความฝันอันยิ่งใหญ่ของการทำสวนป่าไม้ใหญ่ ไม่เพียงแต่ใช้กำลังทรัพย์ และ กำลังคน และเครื่องจักรเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญแล้ว พลังใจอันยิ่งใหญ่ที่ต้องฟันฝ่าเสียงเย้ยหยันจากคนรู้จักมากมาย ที่คิดว่าเขา “บ้า” เอาเงินมาลงทุนปลูกต้นไม้เป็นสวน แทนที่จะเอาเงินสร้างธุรกิจให้มั่งคั่ง

“ส่วนตัวผม คิดว่า เงินที่ผมทำธุรกิจทุกบาททุกสตางค์ เป็นเงินบริสุทธิ์จากความสามารถ และ สัจจะจากการค้าขายมาตลอดชีวิต มันมีคุณค่าที่จะสร้างฝันที่ยิ่งใหญ่ในบั้นปลายชีวิต ผมไม่ต้องการความมั่งคั่ง แต่ผมต้องการความสุขในชีวิต บ้านที่ผมสร้างในสวนนี้ก็เป็นหลังเล็กๆแค่พักนอน กินข้าวแล้วออกไปคุมงานทำสวน ทุกวันนี้ผมและครอบครัว ทำเพื่อคืนประโยชน์แก่แผ่นดิน เมื่อผมตายไปอย่างน้อยก็มีแหล่งฟอกอากาศที่ดี อยู่ที่สวนป่าแห่งนี้ไปชั่วลูกหลาน


ทั้งหมด เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความคิดของคนที่ฝันใหญ่ เพียงเพราะการปลูกป่านั้น เป็นการคืนคุณแก่แผ่นดิน เช่นเดียวกับ บันทึกข้อความที่ป้ายในสวนเขาว่า

“ก้าวเดินตามรอยพ่อ สานต่อพระราชปณิธาน อนุรักษ์ รักษาต้นไม้ที่ทรงคุณค่า และน่าหวงแหนให้ลูกหลานไทยได้ศึกษา ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย”

ป่าอยู่คู่แผ่นดิน แม้ชีวีสิ้นป่ายังยืนยง

เรื่อง/ภาพ ศชากานท์ แก้วแพร่

(หนังสือพิมพ์ลานนาโฑสต์ ฉบับที่ 1237 วันที่ 12 - 18 กรกฎาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์