วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ปฏิรูปสื่อยังไม่ตาย

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

นความล้มเหลวของการปฎิรูปด้านต่างๆของ รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่เพียงการปฎิรูปตำรวจเท่านั้น ที่คณะกรรมาธิการฝั่งตำรวจ ตบเท้าเข้ามาร่วมประชุมพรึ่บพรั่บ จนสามารถต้านความพยายามในการปฎิรูปตำรวจได้สำเร็จเท่านั้น หากการปฎิรูปสื่อที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาหลายคณะตั้งแต่ สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) จนมาถึง คณะกรรมการปฎิรูปประเทศ สังคมยังเห็นคล้ายเป็นการปฎิรูปอีกด้านหนึ่งที่ล้มเหลวด้วย

แต่ในความเป็นจริง เมื่อถึงชั้นคณะกรรมการปฎิรูปประเทศ หลังจากฉีกข้อเสนอ และผลการศึกษาทั้ง สปช.และสปท.ทิ้ง คณะกรรมการก็ได้กฎหมายฉบับใหม่ คือ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 โดยมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและหลักการของร่างกฎหมายฉบับเดิมเกือบทั้งหมด

เดิมที่เป็นร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน  ในยุค สปท.คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ที่มีพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน และกรรมาธิการอีกบางคนที่มีบทบาทสำคัญ ต่างมีแนวคิดในเชิงควบคุมบังคับ และพยายามผลักดันให้มีตัวแทนฝ่ายรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ อีกทั้งมีแนวคิดในการกำกับสื่อ โดยให้มีใบอนุญาติประกอบวิชาชีพ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ขัดกับหลักการพื้นฐานว่าด้วยสิทธิ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อ และประชาชน

การได้คนซึ่งไม่มีความรู้เรื่องสื่อมวลชน มาปฏิรูปสื่อ จึงปรากฏความเห็นที่หลุดโลก และเลอะเทอะอย่างยิ่ง ในบันทึกข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนตอนหนึ่ง ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับเดิม ดังนี้

“….หากมีการกระทำผิด หรือประพฤติฝ่าฝืนจริยธรรมจะต้องถูกตรวจสอบ และให้ออกจากการเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง เหมือนกับภาวะอากาศในประเทศคือแล้งซ้ำซาก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร ยาวนาน เรื่องสมาชิก สื่อมวลชนกระทำผิดในอดีต หลายครั้งที่เมื่อได้ข้อยุติว่าผิด แต่สมาชิกลาออกจากสมาคม สมาพันธ์ ทำให้ขาดสภาพบังคับ หลังจากนั้นอาจจะไปเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล แล้ววนเวียนเป็นปัญหาอยู่ในอาชีพนี้ได้อีก”

และนั่นเป็นเหตุผลที่เขาคิดว่า สื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาต มีสภาพบังคับให้ต้องเลิกอาชีพนี้ไป

ซึ่งในความเป็นจริง เหตุการณ์นั้นอาจเป็นเรื่องที่เครือมติชน ลาออกจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หลังจากปรากฎผลการสอบสวนกรณีข้อกล่าวหาว่า มีอีเมลที่อ้างว่าเป็นบุคคลในพรรคเพื่อไทยมีการจ่ายสินบนให้กับสื่อมวลชน ซึ่งก็เป็นการตัดสินใจที่ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างใดต่อสังคม และไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับสภาพบังคับ

การเสนอความเห็นเรื่องใบอนุญาตสื่อมวลชน ของกรรมาธิการชุด สปท.ทำให้อนุกรรมาธิการด้านสื่อสิ่งพิมพ์ในสายสื่อ 4 คนลาออก หลังจากนั้น ก็เกิดความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จนสามารถกำจัดแนวคิดแปลกปลอมเช่นนั้นออกไปได้

ความเป็นจริง การกำกับดูแลด้านจริยธรรมสื่อที่ดีที่สุด คือการใช้มาตรการทางสังคม คือการสร้างความตระหนักและตื่นรู้ในหมู่ประชาชนผู้บริโภคข่าวสาร ให้ปฎิเสธสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่อ่าน ไม่ดู ไม่ฟัง ซึ่งจะมีผลกระทบรุนแรง กว้างขวาง และยั่งยืนกว่า แต่การมีกฎหมายก็มิใช่สิ่งที่เลวร้าย หากเป็นกฎหมายที่มีหลักการให้การกำกับดูแลด้วยมาตรการทางสังคมมีความเข้มแข็งมากขึ้น

กฎหมายฉบับใหม่ ยังมีสภา เรียกว่าสภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียน พิจารณามาตรการลงโทษ แก้ไขหรือเยียวยา ซึ่งหากสื่อนั้นสังกัดองค์กรวิชาชีพ ก็ยังคงเป็นอำนาจขององค์กรวิชาชีพนั้นจะพิจารณา

กฎหมายใหม่จึงยังคงรักษากติกาในการดูแลกันเองไว้ มิใช่การตรากฎหมายเพื่อให้มีกลุ่มคนที่มีอำนาจในการควบคุม บังคับสื่อ เสมือนสื่อเป็นอาชญากรร้ายแรงเช่นแนวคิดฝ่ายอำนาจนิยมที่ผ่านมา

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1240 วันที่ 2 - 8 กรกฎาคม 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์