วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562

นายกฯความอดทนต่ำ รัฐบาลความเสี่ยงสูง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ลากหลายความเห็นกับบทบาทครั้งแรกในสภาที่มีฝ่ายค้านของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝั่งรัฐบาลก็ยังเอออวย หาช่องทางให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดูดี เช่น นายกรัฐมนตรีจริงจังกับการทำงานมากเกินไป หรือเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับฝ่ายค้าน โดยนั่งฟังการอภิปรายงบประมาณทั้ง 2 วัน แต่อาการน็อตหลุดของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ทำให้ภาพของนายกรัฐมนตรีที่โมโห หงุดหงิดง่าย ในสายตาชาวบ้านเปลี่ยนไป

เพียงยกแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แสดงให้เห็นว่า เขาไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ในระบบที่มีการถ่วงดุลอำนาจ มีการวิพากษ์วิจารณ์ได้ นี่เป็นเพียงการอภิปรายงบประมาณที่ไม่มีการลงมติ หากเป็นการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เขาจะทนอยู่ได้อย่างไร

ในที่สุด คนไทยทั้งประเทศก็ได้เห็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำของเขา ไม่สามารถใช้สติสัมปชัญญะ ควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เมื่อถูกฝ่ายค้านอภิปรายความสามารถในเชิงการบริหารราชการแผ่นดิน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 162 บทบาทของพรรคฝ่ายค้านครั้งนี้ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากบทบาทฝ่ายค้านในสภาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

จะแตกต่างก็เพียง ในห้วงระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีก่อน สภาไม่มีฝ่ายค้าน มีแต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีแต่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ไม่เคยเข้าใจบทบาทหน้าที่ฝ่ายค้าน การประชุมสภาที่ผ่านมา จึงราบรื่น เรียบร้อย ไม่มีเรื่องที่ต้องขัดเคืองใจ แถลงนโยบายรัฐบาลประยุทธ์ 1 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557อ่านจบ สมาชิกสภานิติบัญญัติถามคำสองคำ เป็นอันเสร็จพิธี

แน่นอนว่า เมื่อเข้าสู่บรรยากาศการทำหน้าที่ของนักการเมืองฝ่ายค้าน ในวิถีประชาธิปไตย ไม่สามารถคาดหวังฟังคำที่พึงพอใจได้ เพราะหน้าที่ของพวกเขาคือการอภิปรายชี้ให้เห็นถึงความสามารถของรัฐบาลในการบริหาร มีเข้าท่าบ้าง ไม่เข้าท่าบ้าง ฟังคำแล้วคนโดยทั่วไปก็อาจรู้สึกโกรธ รู้สึกขัดเคือง เป็นปกติธรรมดา แต่นั่นย่อมไม่ใช่คนที่เป็นผู้นำ ซึ่งควรต้องเป็นที่คาดหวังสูงกว่าวิญญูชนโดยทั่วไป

สภาในยุคเผด็จการ กับสภาในยุคประชาธิปไตย แตกต่างกันตรงนี้เอง ไม่ว่าจะพึงพอใจหรือไม่ แต่ต้องมีความอดทนสูง ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง และพร้อมที่จะต่อสู้กับข้อกล่าวหาต่างๆนานานั้นด้วยสติ ด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ

คนเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ต้องหนักแน่น ไม่หวั่นไหวง่ายดายเช่นนี้

แม้ด้านหนึ่งจะเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะท่านนายกรัฐมนตรีก็ยืนยันว่า “ผมก็เป็นนายกรัฐมนตรีแบบนี้” ซึ่งก็เป็นมาตลอด จนอาจไม่ต้องวิเคราะห์ วิจารณ์กันหนักหน่วง เป็นประเด็นข่าวที่มีน้ำหนัก ควรค่าแก่ความสนใจ เมื่อบุคลิกลักษณะ อารมณ์ ความรู้สึก ถ้อยคำเช่นนี้ มีมาอย่างต่อเนื่อง จะสนใจหรือไม่สนใจก็ได้ ถ้าเขาไม่ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

ประเทศไทยไม่ได้เพิ่งมีนายกรัฐมนตรี แต่เรามีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ๒๙ คน ไม่รวมพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในสมัยแรก ไม่ว่าท่านเหล่านั้นจะเข้าสู่อำนาจด้วยวิถีทางใด เมื่อได้รับการเรียกขานว่าเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำประเทศแล้ว ก็ต้องตระหนักว่า แม้จะเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติยศสูงสุด แต่ใช่ว่าจะถูกวิพากษ์ วิจารณ์ไม่ได้ จะถูกติฉิน นินทา ดุด่าว่ากล่าวไม่ได้ ผู้นำที่มี Emotionall Intelligent Leadership เขาจะแยกแยะได้ว่า สิ่งใดควรฟัง สิ่งใดไม่ควรฟัง ไม่ไปเก็บขยะมาเป็นอารมณ์

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ครั้งเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อถูกวิพากษ์ วิจารณ์ ถูกรุกไล่หนักเข้า ท่านก็จะยิ้มน้อยๆ แล้วบอกนักข่าวว่า ‘กลับบ้านเถอะลูก’ยุคพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ไม่ว่านักข่าวจะมารูปแบบไหน คำว่า ‘โนพรอบเบลม’ ก็สะกดได้ทุกอย่าง

แน่นอนว่า ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ แต่ระหว่างมนุษย์ที่ได้รับการยกย่อง มีบทบาท มีเกียรติยศ มีหน้าที่รับผิดชอบ กับมนุษย์ที่เป็นชาวบ้านเดินดินทั่วไป คงต่างกันตรงที่วุฒิภาวะ ความฉลาดรู้ทางอารมณ์นั่นเอง

เมื่อนายกรัฐมนตรีมีความอดทนต่ำเช่นนี้ รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจากนี้ย่อมมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1240 วันที่ 2 - 8 กรกฎาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์