
หากใครผ่านไปมาบริเวณชุมชนศรีเกิด
คงคุ้นชินกับป้อมปืนที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางชุมชนมานานมากกว่า 200 ปี
ป้อมปืนแห่งนี้ ดูเหมือนจะเป็นโบราณสถาน ที่ทุกวันนี้ได้รับการบูรณะอย่างดี
จนสามารถถ่ายทอดภาพป้อมปืนโบราณออกมาได้อย่างน่าเกรงขาม
ในสมัยพระเจ้าหอคำดวงทิพย์
เจ้าผู้ครองนครลำปาง ลำดับที่ 3 (พ.ศ. 2337-2368) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าหอคำดวงทิพย์ได้สร้างหอคำ
กำแพงเมืองเขลางค์รุ่นที่ 3 และขุดคูเมือง
จนเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2351
ปีเดียวกันนี้ยังได้มีการสร้างป้อมปืนขนาดใหญ่สำหรับเก็บปืนใหญ่และกระสุน
และเพื่อป้องกันศัตรู ใช้เป็นหอสังเกตการณ์ข้าศึก และตรวจดูความเรียบร้อยของบ้านเมือง
โดยเรียกเป็นภาษาพม่าว่า “หออะม็อก” แปลว่า “หอปืน”
หออะม็อกเป็นป้อมรูปทรงแปดเหลี่ยม
มี 3 ชั้น ก่อด้วยอิฐสอดินดิบ พื้นที่ภายในกว้าง 13 เมตร ยาว 17 เมตร สูง 10.25
เมตร ฐานของกำแพงลดหลั่นขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ยอดกำแพงป้อมหน้าสูง 1.50
เมตร ส่วนยอดสุดเป็นรูปใบเสมา กว้าง 1.50 เมตร
หนา 1 เมตร มีช่องทางเข้า-ออกทางด้านตะวันตกด้านเดียว
ซึ่งเป็นด้านในของกำแพงเมือง ภายในหออะม็อกเป็นนั่งร้านไม้ 3 ชั้น โดยชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 มีช่องสำหรับลำเลียงกระสุนปืนใหญ่อยู่ตรงกลางนั่งร้าน อันเป็นตำแหน่งที่ตั้งของปืนใหญ่
หออะม็อกตั้งอยู่ใกล้กับประตูศรีเกิด
ซึ่งเป็น 1
ในประตูเมืองรุ่นที่ 3 ที่มีจำนวนทั้งหมด 6
ประตู ได้แก่ ประตูหัวเวียง (ถนนบุญวาทย์) ประตูศรีเกิด
(หน้าวัดศรีเกิด) ประตูชัย (ห้าแยกประตูชัย) ประตูศรีชุม (สี่แยกศรีชุม)
ประตูสวนดอก (ถนนสวนดอก) และประตูเชียงราย (ห้าแยกหอนาฬิกา)
ในสมัยพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ยังได้มีการขุดคูเมืองด้านนอกชิดขนานกำแพงเมืองตลอดแนว
เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกเข้ามาประชิดกำแพงเมืองได้
และยังเป็นวางระบบชลประทานที่แยบยล
โดยคูเมืองรอบกำแพงทำหน้าที่เป็นทั้งระบบส่งน้ำและระบายน้ำฝนจากดอยพระบาทลงสู่แม่น้ำวัง
ขณะที่มีการระบุไว้ด้วยว่า น้ำจากห้วยแม่กระติ๊บ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเมือง
ไหลผ่านบริเวณค่ายสุรศักดิ์มนตรีในปัจจุบัน ได้จัดการทดน้ำเข้าสู่คูเมือง
เพื่อใช้สอยตลอดปี
หออะม็อกยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อหมอกมุงเมือง
ทหารเอกของพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ โดยท่านเป็นต้นตระกูล “ชัยนิลพันธ์” ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ชาวชุมชนศรีเกิดและผู้เคารพนับถือ
จะร่วมกันจัดประเพณีฟ้อนผี เป็นการบวงสรวงดวงวิญญาณของท่านเป็นประจำทุกปี
หออะม็อกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร
เมื่อปี พ.ศ. 2478
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีการบูรณะจนดูใหม่และแข็งแรง ทว่าก็ไม่ได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
มีการล็อกกุญแจแน่นหนา ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงว่า เหตุที่ไม่เปิดประตูหออะม็อก
เพราะหลังจากบูรณะได้มีการสร้างชั้นไม้ 2 ชั้น
และบันไดขึ้นไปยังชั้นบนสุด ซึ่งสูงกว่า 10 เมตร
หากเปิดประตูไว้เกรงว่าจะมีคนขึ้นไป และอาจเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมา นอกจากนี้
ก็อาจมีคนเข้าไปทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1242 วันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2562)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น