วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2562

บ้านบอมฮือ เหมืองปูนฯ โค่นป่าพันไร่ ต้นน้ำสำคัญ หวั่นซ้ำแม่ทาน

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ห่วงป่าต้นน้ำกว่าพันไร่สูญหาย ชาวบ้าน ต.บ้านบอม ตื่นตัว ติดป้ายค้านการทำเหมืองลิกไนต์ในพื้นที่ คาดผลกระทบเป็นวงกว้างถึง 3 ตำบล  หวั่นซ้ำรอยเหมืองแม่ทาน ชาวบ้านไม่อยากได้แต่ไม่มีปากมีเสียง
-       รับฟังความเห็นครั้งที่ 1
จากกรณีที่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย(ลำปาง)จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ จำนวน 4 คำขอประทานบัตร ในพื้นที่ ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ประกอบด้วย คำขอประทานบัตรที่ 7/2561 หมายเลขหลักเขตเหมืองแร่ที่ 30543 เนื้อที่ 290-1-65 ไร่  คำขอฯที่ 8/2561 หมายเลขฯ 30542 เนื้อที่ 298-3-15 ไร่, คำขอฯที่ 9/2561 หมายเลขฯ 30544 เนื้อที่ 267 – 0 – 40 ไร่ และ คำขอฯที่ 10/2561 หมายเลขฯ 30545 เนื้อที่ 102 – 0 – 81 ไร่  รวมพื้นที่ประทานบัตรทำเหมือนแร่ถ่านหินกว่า 900 ไร่  โดยวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในการผลิตปูนซิเมนต์ของโรงงาน และส่วนหนึ่งจะมีการขนส่งปิดมิดชิดในการนำไปส่งแหล่งรับซื้อภายนอก โดยได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 ก.ย.62 ที่ผ่านมา ที่ศาลาเอนกประสงค์ ม.6 ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
-       สรุปผลประชุม
หลังจากการประชุมในวันดังกล่าว ในวันที่ 18 ก.ย. 62 ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้นำรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ขอประทานบัตร มาปิดประกาศให้ประชาชนได้รับทราบ  โดยมีประชาชนลงชื่อเข้าร่วมประชุม 117 คน  และผู้เข้าร่วมโครงการ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ และผู้แทนองค์กรเอกชน จำนวน 28 คน  โดยรายละเอียดการใช้พื้นที่ 958 ไร่ ประกอบด้วย  พื้นที่ทำเหมือง 248 ไร่เศษ พื้นที่เก็บกองเปลือกดิน 427 ไร่  พื้นที่อื่นๆเช่นสำนักงาน ถนน 218 ไร่  พื้นที่กันเขตไม่ทำเหมือง 10 เมตร รอบประทานบัตร  36 ไร่ พื้นที่โรงแต่งแร่และเก็บกองแร่ถ่านหิน 17 ไร่  พื้นที่ทำบ่อตักตะกอน 10 ไร่ 
-       ประโยชน์ของเหมือง
ผลประโยชน์จากการทำเหมือง คือ การจ้างแรงงานในท้องถิ่น ค่าภาคหลวงแร่ร้อยละ 20 รัฐแบ่งให้แก่ชุมชน  จัดตั้งกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ  วางหลักประกันการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง ทำประกันภัยความรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของบุคคลภายนอก ช่วยเหลือชุมชนในด้านต่างๆ เช่น สาธารณูปโภค การศึกษา และด้านการกุศล  โดยมีการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ คือ ฉีดพรหมน้ำบนเส้นทางถนนลูกรังที่ใช้เป็นเส้นทางขนส่ง อย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง หรือตามสภาพอากาศ  หมั่นดูแลสภาพผิดถนนให้แข็งแรงใช้งานได้ดี  ควบคุมความเร็วของรถบรรทุกขนส่งแร่ ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  และปิดตั้งป้ายเตือนอย่างชัดเจน รถบรรทุกที่ขนส่งแร่ออกไปยังแหล่งรับซื้อภายนอกต้องยู่ในสภาพดี ไม่มีรอยรั่วหล่นได้  ปิดผ้าใบมิดชิด  หลีกเลี่ยงการขนส่งในช่วงที่ประชาชนหนาแน่น ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ  กรณีที่ประชาชนได้รับอุบัติเหตุจากการขนส่ง ยินดีจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างยุติธรรม  และหากได้รับการร้องเรียนจากประชาชน จากการขนส่งแร่จะรับผิดชอบและแก้ไขทันที  ซึ่งรายละเอียดต่างๆ จะอยู่ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน
-       ชาวบ้านห่วงแหล่งน้ำ
สำหรับประเด็นที่ชาวบ้านเป็นห่วงในเรื่องของ มลพิษจากการขุดเหมืองที่อาจจะส่งผลกระทบไหลลงในอ่างเก็บน้ำห้วยแม่กอง เพราะชาวบ้านต้องใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร  และน้ำที่ใช้ล้างถ่านหินจำเอาไปบำบัดในส่วนไหน ชาวบ้านจะรู้ได้อย่างไรว่าไม่มีการล้างถ่านหินจริง  นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องการทำลายป่าประมาณ 1,000 กว่าไร่ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำแม่กอง  ปัจจุบันในพื้นที่ไม่ได้มีน้ำเยอะอยู่แล้ว หากแหล่งต้นน้ำหายไป จะทำให้ไม่มีน้ำเข้าออกอ่าง   และในการขุดเหมืองยังทำให้เกิดฝุ่นละออง เป็นมลพิษสู่หมู่บ้านและลงในอ่างเก็บน้ำ  สิ่งที่ตามมาคือชาวบ้านจะได้รับผลกระทบเรื่องระบบทางเดินหายใจ  มีอะไรที่จะมายืนยันได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาในส่วนนี้ ฯลฯ
-       ปูนฯแจงไม่ล้างแร่
ในเรื่องต่างๆนี้ ทางตัวแทนของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย(ลำปาง)จำกัด กล่าวว่า จากที่ได้ศึกษาในพื้นที่พบว่าชั้นดินด้านล่างเป็นดินเหนียว น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้  ในบ่อเหมืองจะไม่มีน้ำขัง จะมีการสูบน้ำออกไปพักที่บ่อตักตะกอน  โดยจะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่บ่อตักตะกอน ก่อนจะนำไปใช้ และจะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกปี   ซึ่งในกระบวนการจะไม่มีการล้างถ่านหิน จะเป็นการขุดถ่านขึ้นมาบดย่อย และจะมีการสเปรย์เพื่อดับฝุ่น
-    ต้องปลูกป่าทดแทน
ส่วนประเด็นเรื่องการทำลายป่านั้น นายกิตติศักดิ์  ตันตินรเศรษฐ์ อุตสาหกรรมจังหวัด กล่าวว่า  การโค่นต้นไม้ใหญ่ ทางบริษัทฯจะไม่สามารถทำได้ ถ้ากรมป่าไม้ไม่อนุญาต กรมป่าไม้จะต้องอนุญาตต้องมั่นใจว่าพื้นที่นั้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ป่า  ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมหรือปลูกป่าทดแทนได้ ถ้าดูโครงการของบริษัทฯ จะพบว่าพื้นที่ขุดต้องทำเป็นแหล่งน้ำ นำดินไปถมทิ้งมูลดินทรายต้องปลูกป่าทดแทน คือการเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งทางบริษัทฯก็ต้องนำไปคิดต่อไปว่าจะเสนอมาตรการอย่างไรในขั้นตอนต่อไป  ส่วนเรื่องสุขภาพจะมีกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ จะไปลงที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  เมื่อมีผลกระทบด้านสุขภาพเกี่ยวกับการทำเหมือง บริษัทฯต้องรับผิดชอบ
-        ไม่มีค้าน
ทั้งนี้ ผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นได้ระบุว่า ประชาชน หมู่ 6 ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ไม่มีผู้ใดคัดค้าน เพียงแต่มีประเด็นข้อห่วงใย ในเรื่องแหล่งน้ำ การทำลายปา  ฝุ่นละออง และกลิ่น ที่จะส่งผลถึงระบบทางเดินหายใจและสุขภาพของคนในชุมชน  เป็นต้น
-       ชาวบ้านฮือ
และหลังจากที่มีรายงานผลการประชุมออกมา ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ เริ่มตื่นตัวเนื่องจากคลางแคลงใจในผลสรุปว่าไม่มีชาวบ้านคัดค้านในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในการประชุมนั้นเพียงเป็นการแสดงความคิดเห็น ไม่มีใครถามว่าชาวบ้านต้องการเหมืองหรือไม่  จึงได้มีการรวมตัวกันเพื่อพูดคุยหาทิศทางการดำเนินการ และเริ่มมีการติดตั้งป้ายคัดค้านการทำเหมืองลิกไนต์ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย(ลำปาง) ทั้งในพื้นที่ ต.บ้านบอม และ ต.บ้านกิ่ว อ.แม่ทะ แล้ว
-      ติดป้ายค้าน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 62 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจความคืบหน้า พบว่าบริเวณหน้าวัดสักนารินทร์ ต.บ้านกิ่ว ได้มีการนำป้ายผ้าขนาดยาวประมาณ 10 เมตร มาติดกำแพงด้านหน้าวัดว่า ชาวบ้านขอคัดค้านการทำเหมืองแม่ก๋อง  และจากการสอบถามชาวบ้าน ต.บ้านกิ่ว ได้กล่าวว่า ถึงแม้ว่าบ้านกิ่วจะไม่ใช่พื้นที่การทำเหมืองโดยตรง แต่จะได้รับผลกระทบไปด้วยเนื่องจากชาวบ้านต้องใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ก๋อง ซึ่งจะไหลลงลำห้วยแม่วะ ไหลผ่าน ต.บ้านกิ่ว ยาวไปจนถึง ต.ป่าตัน  เกรงว่าจะได้รับสารพิษจากการใช้น้ำ ชาวบ้านทำการเกษตรต้องใช้น้ำจากลำห้วยเหล่านี้เป็นประจำทุกปี
-       ป่ายังสมบูรณ์
นอกจากนั้นยังได้เข้าตรวจสอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่ก๋อง ซึ่งคาดว่าเป็นจุดที่ใกล้เคียงจากการทำเหมือง จุดเหนือขึ้นไปจากอ่างเก็บน้ำ โดยบริเวณดังกล่าวยังคงเป็นพื้นที่ป่าเขียวชอุ่ม อุดมสมบูรณ์ มีภูเขาล้อมรอบหมู่บ้าน  เบื้องต้นทราบว่าจุดที่ขอประทานบัตรทำเหมืองนั้น  เป็นพื้นที่ป่าระหว่างวัดพระธาตุดอยพระฌาน และวัดดอยม่อนธาตุ   ซึ่งจะมีห้วยต้นน้ำ ห้วยมหาวรรณ ห้วยชมปู ไหลลงแม่น้ำแม่วะลงสู่แม่น้ำจาง  
     -    เสียงส่วนใหญ่ไม่เอา
ด้านชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ 6 ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านก็ไม่ได้ทราบเรื่องว่าจะมีการทำเหมืองในพื้นที่ มีเพียงข่าวว่าทางบริษัทปูนซิเมนต์(ลำปาง) ได้ทำเรื่องขอเข้ามาสำรวจพื้นที่ป่า ต.บ้านบอม เมื่อ 2 ปี ที่แล้ว จนกระทั่งมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 วันที่ 6 ก.ย.62 ที่ผ่านมา จึงทราบเรื่องว่ามีการขอประทานบัตรทำเหมืองในพื้นที่ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เพราะโทษเยอะกว่า และมีข่าวว่าจะเข้ามารอบที่ 2   ยังไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไร ชาวบ้านก็รอเขามาปิดประกาศอยู่  โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 ก.ย.62 ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้มารวมตัวพูดคุยกันกับผู้ใหญ่บ้านว่า ลูกบ้านส่วนใหญ่เห็นควรว่าไม่เอา เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับสุขภาพ ที่สำคัญคือต้องการรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำเอาไว้ เพราะพื้นที่ขอประทานบัตรเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ทั้งหมดกว่า 1,000 ไร่  ซึ่งชาวบ้านก็เห็นตัวอย่างของเหมืองแม่ทาน ต.สันดอนแก้ว อ.แม่ทะ มาก่อน เพราะพื้นที่ทำเหมืองแม่ทาน อยู่ห่างจาก ต.บ้านอ้อ อ.สบปราบ ประมาณ 15 กิโลเมตร แต่ก็ยังได้กลิ่นสารพิษจากแร่อยู่  แต่พื้นที่ขอประทานบัตรของ ต.บ้านบอม ห่างจากบ้านเรือนชาวบ้านเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น สังเกตว่าในพื้นที่จะมีดอยล้อมรอบทั้งหมด การขุดเหมืองมีการขุดจากด้านบนเหนืออ่างเก็บน้ำแม่ก๋องขึ้นไป เมื่อเกิดการขุด ปัญหาฝุ่น ปัญหากลิ่น จะไปไหนได้เพราะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ก็จะล้อมรอบอยู่ในหมู่บ้านทั้งหมด  ตอนนี้ยังไม่รู้รายละเอียดอะไรมาก ชาวบ้านที่มีความรู้ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็ยังทำการศึกษากันอยู่เพื่อแจ้งให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านได้รับทราบข้อมูล  ส่วนคนที่เห็นด้วยก็คงจะมีอยู่บ้าน แต่เสียงส่วนใหญ่ในหมู่บ้านยังไงก็ไม่เอาเหมือง
-       รอประชุมครั้งที่ 2
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชาวบ้านได้รอว่าทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะเข้ามาทำการปิดประกาศกำหนดวันประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เมื่อไร ซึ่งจะต้องปิดประกาศแจ้งล่วงหน้า 15 วัน คาดว่าน่าจะมีการประชุมช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1246 วันที่ 4 - 17 ตุลาคม 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์