วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

รางวัลช่อสะอาด ป.ป.ช. เกียรติยศสื่อบ้านนอก

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

าจเป็นวาระที่น่ายินดี ในสถานการณ์ความยากลำบาก ในการรักษาสถานะความเป็นสื่อที่มุ่งนำเสนอข่าวคุณภาพ เน้นการเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน หรือ Investigative Reporting ซึ่งเป็นวิธีการทำข่าวทุจริตคอรัปชั่น ในยุคที่สังคมข้อมูลข่าวสาร เต็มไปด้วยเฟคนิวส์ (Fake news) ข่าวความขัดแย้ง ข่าวที่มุ่งตอบสนองสัญชาติญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์

เพจเฟซบุ๊กสำนักงาน ป.ป.ช. ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เมื่อเร็วๆนี้ โพสต์ข้อความประกาศสำนักงาน ป.ป.ช. เรื่องผลการพิจารณารางวัลช่อสะอาด ประจำปี 2562 โดย หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ผลงานข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวชมเชย ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ ผลงานทลายกำแพงระบบอุปถัมภ์ เปิดทางสิทธิชุมชนคนแม่เมาะ

เป็นการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล โดยคณะกรรมการตัดสิน ไม่ใช่การส่งผลงานแข่งขันกับสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น โดยรางวัลนี้ มีสื่อได้รับรางวัลรวม 7 รางวัล เป็นสื่อส่วนกลางทั้งสิ้น

ข่าวชิ้นนี้เริ่มขึ้นเมื่อราว 1 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มขึ้นในวงสนทนาครั้งหนึ่ง กับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งบประมาณกองทุนไฟฟ้า ซึ่งอาจมีการรั้วไหล และอาจไม่ตอบโจทย์วัตุประสงค์ที่วางไว้

เรามักได้ยินอยู่เสมอถึงการบริหารจัดการงบประมาณในรูปแบบต่างๆ เพื่อประโยชน์ของคนในท้องถิ่น ในเรื่องการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กรณีการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่พึ่ง หรือความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งมีทั้งกรณีทุจริต คอรัปชั่น และระบบอุปถัมภ์ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับคนส่วนน้อย เช่นในกรณีกองทุนไฟฟ้า หรือกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 75 กองทุน ใน 39 จังหวัดทั่วประเทศที่มีโรงไฟฟ้า

กองทุนไฟฟ้า เป็นกองทุนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 หนึ่งในวัตถุประสงค์ คือ การพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งนี้ ในระดับท้องถิ่น กองทุนจะบริหารโดยคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) มีตัวแทนจากภาคประชาชนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ซึ่งสะท้อนความเป็นคนในพื้นที่ แต่ในความเป็นจริงคนเหล่านั้นก็ไม่ได้มาจากตัวแทนของคนพื้นที่อย่างแท้จริง ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงกองทุน

เงินกองทุนไฟฟ้า หรือกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปางมีมูลค่านับพันล้านบาท เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความไม่โปร่งใส การใช้ระบบอุปถัมภ์เอื้อประโยชน์ให้กับคนเพียงกลุ่มเดียว ไม่ได้กระจายไปยังชุมชนต่างๆอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

นายบรรพต ธีรวาส อดีตผู้บริหารเหมืองแม่เมาะ ให้สัมภาษณ์ ลานนาโพสต์ ครั้งหนึ่งว่า การอนุมัติเงินกองทุน คนที่เคยได้รับก็จะได้โดยตลอด ส่วนคนที่ไม่ได้รับการพิจารณา ก็จะไม่เคยได้รับ นอกจากนั้นยังมีกรณีไม่โปร่งใสหลายเรื่อง

มีปรากฎการณ์ที่สนับสนุนถ้อยคำของผู้บริหารเหมืองแม่เมาะ หลายเรื่อง เช่น กรณีเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะร้อง คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฏร เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ว่าคณะกรรมการกองทุนไม่ปฎิบัติตามระเบียบของกองทุน ซึ่งควรให้ความสำคัญกับผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเป็นอันดับแรกๆ แต่เงินทุนส่วนใหญ่กลับอนุมัติให้กับโครงการสาธารณูปโภค เช่น การสร้างถนน สะพาน

การใช้เงินกองทุนที่น่าสงสัย ในโครงการสาธารณูปโภค ยังมีการใช้งบประมาณจำนวน 1 ล้านบาท สร้างสวนสุขภาพ ที่เต็มไปด้วยหญ้ารกชัฏ การใช้งบประมาณ 2.5 ล้านบาท สร้างลานเอนกประสงค์ ซึ่งพบว่าถูกทิ้งร้างไว้ รวมทั้งการใช้งบประมาณ 8 ล้านบาท สร้างสะพานคอนกรีตเลี่ยงหมู่บ้าน โดยอ้างเหตุแก้ปัญหาจราจรแออัดในหมู่บ้าน แต่สะพานก็ร้างผู้คน ใช้สัญจรตามปกติไม่ได้

การกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกองทุน ยังเท่ากับการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเมื่อรวมกับองค์ประกอบกรรมการภาครัฐ และชาวบ้านบางกลุ่มที่ไม่ได้เป็นตัวแทนภาคประชาชนอย่างแท้จริง กลายเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่ มีการผลักดันโครงการประเภทสาธารณูปโภคจำนวนมาก

ยุคหนึ่ง นายดิเรก ก้อนกลีบ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในฐานะประธานกองทุน ถูก คณะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)สอบสวน กรณีอนุมัติโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำกิ่วข้ามหลามมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ในที่สุดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 16 ปี โดยไม่รอลงอาญา

กองทุนไฟฟ้า จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เงินกองทุนเข้าไปไม่ถึงความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง ระบบอุปถัมภ์ได้สร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับชุมชนแม่เมาะ เช่นเดียวกับอีก 74 กองทุน ในอีก 38 จังหวัดที่อาจมีปัญหาในลักษณะเดียวกัน และสื่อท้องถิ่นในจังหวัดนั้นๆ ก็ยังไม่ได้ทำหน้าที่ได้สืบค้น รายงานข่าวในการบริหารกองทุน ซึ่งมีแนวโน้มในการทุจริตสูง

รางวัลช่อสะอาดครั้งนี้  มาจากการเฝ้าสังเกต เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ ลงพื้นที่สำรวจสภาพความเป็นจริง จากการที่มีการร้องเรียน มีปัญหาการจัดการกองทุน และนำเสนอผ่านสื่อในเครือลานนาโพสต์มีมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี

จากการติดตามรายงานข่าวกองทุนไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการกองทุน เริ่มมีเบาะแส และเห็นภาพชัดมากขึ้น จนกระทั่งนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้สั่งการให้ชะลอ ทบทวนโครงการ และสุดท้ายให้รื้อระบบบริหารทั้งหมด

นี่เป็นการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ พวกเขาควรได้รับความช่วยเหลือเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มิใช่การใช้เงินกองทุนไปเพื่อโครงการสาธารณูปโภค สร้างถนน สร้างสะพาน ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์ และยังเป็นช่องทางการทุจริต คอรัปชั่นของคนบางกลุ่มด้วย

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1247 วันที่ 18 - 31 ตุลาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์