วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สวนเขลางค์ พื้นที่สีเขียวของคนลำปาง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

เสียงเพลงลูกกรุงเก่า ๆ แว่วมากับสายลมต้นฤดูหนาว กลุ่มชาย-หญิงวัยกลางคนกำลังวาดลวดลายโชว์สเต็ปลีลาศกันอย่างพลิกพลิ้ว ย่ำ ย่ำ ย่ำ ย่ำ ก้าว ย่ำ ย่ำ ย่ำ ย่ำ ถอย ชัด ชัด ชัด ชัด ช่า หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ราวกับพื้นที่ตรงนั้นคือฟลอร์เต้นรำในสโมสรหรูหรา แต่เปล่าเลย มันคือพื้นที่หย่อนใจธรรมดา ๆ ส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะเขลางค์นครของเรา ความพิเศษของฟลอร์เต้นรำแห่งนี้ ไม่ได้อยู่ที่แอร์เย็นฉ่ำ วงดนตรีไพเราะ อาหาร-เครื่องดื่มรสเลิศ แต่แค่แวดล้อมไปด้วยความร่มครึ้มของแมกไม้น้อยใหญ่ กับอากาศสดสะอาด เพราะนี่คือโรงงานผลิตออกซิเจนขนาดย่อมให้กับปอดของพวกเรานั่นเอง

ด้วยพื้นที่ราว 34 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา มากพอที่จะรองรับกิจกรรมอันหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเย็น ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยชาวเมืองทุกเพศทุกวัยที่มาใช้เวลาร่วมกัน

กลุ่มเดิน-วิ่งที่สลับกันมาทั้งช่วงเช้าและเย็น กับระยะทางวงรอบสวน 775.25 เมตร ที่เรียกเหงื่อได้ดี และอาจตบท้ายด้วยเครื่องออกกำลังกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนที่มีอยู่หลายชนิด กลุ่มแอโรบิกและดนตรีท่วงทำนองชวนขยับแข้งขาของพวกผู้หญิง กลุ่มรำไทเก็กกับดนตรีบรรเลงที่ได้บรรยากาศแบบจีน เด็กน้อยที่มุมของเล่นสนาม เด็กโตหน่อยเข้ากลุ่มโรลเลอร์เบรดแล่นฉิว ๆ อย่างสนุกสนาน ส่วนคู่แบดมินตันก็จับจองพื้นที่ตีโต้ลูกขนไก่กันตามใจชอบ นอกจากนี้ ยังมี กลุ่มเตะตะกร้อลอดห่วง กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่นัดกันมาซ้อมเต้นบีบอย สตรีทเดนซ์ หรือทำกิจกรรมกลุ่มต่างๆ รวมถึงมีไม่น้อยที่แค่มานั่งเล่นหย่อนใจเงียบ ๆ มองดูอากัปกิริยาของผู้คนเพลิน ๆ

ย้อนกลับไปในอดีต ที่นี่เคยเป็นสถานที่รวมขบวนส่งเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพบก รวมถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ กล่าวกันว่า มีการจัดขบวนอย่างยิ่งใหญ่อลังการ

ในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย ชาวตะวันตกกับแง่มุมการใช้ชีวิตในฐานะผู้จัดการห้างป่าไม้ เป็นผู้นำการใช้ชีวิตอย่างหรูหรามาเผยแพร่ ทั้งการอยู่อาศัยในบ้านหลังใหญ่ ขับรถโก้ ๆ และนำวัฒนธรรมการเล่นกีฬาอย่างเช่น กอล์ฟ เทนนิส ฟุตบอล บิลเลียด และโปโล มาให้คนลำปางได้ซึมซับรับรู้

ทั้งนี้ พื้นที่บริเวณสวนเขลางค์ในอดีตก็เคยเป็นที่ตั้งของ ข่วงโปโล สโมสรที่พักผ่อนเล่นโปโลบนหลังม้าของพวกฝรั่งที่เข้ามาทำไม้และทำงานที่สถานกงสุลอังกฤษประจำนครลำปาง ซึ่งนายมิลเลอร์ ได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งบริเวณบ้านดงในปี พ.ศ. 2449 ทำเป็นสปอร์ตคลับในนามละกอนสปอร์ตคลับ ถือว่าเป็นสโมสรกีฬาสากลแห่งแรกในมณฑลพายัพเลยทีเดียว

กระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี พ.ศ. 2485-2488 ทหารญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางเคลื่อนพลผ่านไปยังดินแดนทางเหนืออย่างพม่า และได้เข้ามาตั้งกองบัญชาการที่เมืองลำปาง โดยยึดอาคารสถานที่ที่เป็นของพวกฝรั่ง ทำให้ทั้งชาวอังกฤษ อเมริกัน และชนชาติอื่น ๆ พากันอพยพลี้ภัยสงครามออกไป

ทหารญี่ปุ่นยึดอาคารสำคัญ ๆ ในตัวเมืองลำปาง โดยเฉพาะอาคารร้านค้าในกาดกองต้า และแน่นอน ข่วงโปโลแห่งนี้ก็กลายเป็นที่ตั้งกองทัพม้าของทหารญี่ปุ่นด้วย เล่าต่อ ๆ กันมาว่า พวกเขาให้ม้าสวมแว่นตาสีเขียว เพื่อหลอกม้าว่ามีหญ้าสีเขียวสดอยู่ทุกทิศทุกทาง ขณะที่โรงแรมทิพย์ช้างใกล้ ๆ กันนั้น ถูกยึดเป็นตึกบัญชาการกองพล 1 ญี่ปุ่น

ในยุคหลัง สโมสรข้าราชการจังหวัดลำปางได้ขายกรรมสิทธิ์การถือครองสวนเขลางค์ให้กับเทศบาลนครลำปางในราคา 13,000,000 บาท เมื่อปลายปี พ.ศ. 2534 คนลำปางจึงมีพื้นที่ออกกำลังกายและพักผ่อนกลางเมืองในชื่อสวนสาธารณะเขลางค์นคร

ผ่านมาระยะหนึ่ง สวนเขลางค์ได้รับการปรับโฉมครั้งใหญ่ในสมัยนายกเทศมนตรี ดร. นิมิตร จิวะสันติการ มีการก่อสร้างเวทีกลางแจ้ง โรงเก็บบุษบก ประตูทางเข้า ถนน และไฟทาง

ดอกปีบร่วงพราวส่งกลิ่นหอมเป็นระยะ จวบจนถึงวันนี้ จากข่วงโปโล กับกีฬาโปโลที่คนธรรมดา ๆ คงเอื้อมไม่ถึง สวนเขลางค์คืนสู่ความเรียบง่าย มาเป็นขวัญใจมหาชนคนรักสุขภาพและรักธรรมชาติ ซึ่งต่างก็มุ่งหวังในสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดเช่นกัน นั่นคือ ความสะอาดและความปลอดภัย เพียงเท่านี้จริง ๆ
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์