
ขึ้นชื่อว่าบ้านหลุก
อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ก็เลื่องเชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่มีสล่า(ช่าง)
แกะสลักไม้ฝีมือดีในภาคเหนือ ประวัติอันยาวนาน
ทำให้บ้านหลุกเป็นแหล่งต้นน้ำของงานศิลปะไม้แกะสลัก ที่มีทั้งงานฝีมือชั้นครู
และงานแกะไม้ลอยตัวรูปสัตว์ต่างๆ ขายส่งไปยังกลุ่มพ่อค้าที่ซื้อไป ทำสี
หรือเพิ่มมูลค่าเป็นงานสำหรับตกแต่งบ้านราคาแพง

* เหมือนฝันที่ยังไกลตัว
ณรงค์
วงศ์กันทะ กำนันตำบลนาครัว พื้นเพเป็นชาวบ้านหลุก
บอกว่า แม้ว่าหมู่บ้านหลุกจะมีงานหัตถกรรมไม้แกะสลักเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น
ซึ่งชาวบ้านมีรายได้จากงานนี้เป็นหลักอยู่แล้ว ในเรื่องของการมีส่วนร่วมของชาวบ้านเรามีความพร้อม
ชุมชนค่อนข้างเข้มแข็งให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานทีดึงงบประมาณมาสนับสนุนผลักดันให้บ้านหลุกเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว
ซึ่งปัจจุบันก็เป็นเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอป
ส่วนใหญ่มีคณะศึกษาดูงาน และกลุ่มทัวร์กลุ่มเล็กเข้ามาท่องเที่ยวเป็นหลัก
ส่วนจะยกระดับให้เป็นหมู่บ้านที่มีนักท่องเที่ยวทั่วไปเข้ามาโดยธรรมชาติยังค่อนข้างน้อย

* ติดระเบียบการใช้งบประมาณรัฐ
“งบประมาณส่วนใหญ่ภาครัฐให้การสนับสนุนด้านท่องเที่ยว
เรื่องการอบรมการเป็นเจ้าบ้านที่ดี หรือหลักการด้านการท่องเที่ยว หรือการทำอาหาร
ผมว่าเรื่องพวกนี้ต้องทำหลังจากที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากพอระดับหนึ่งแล้ว
ชาวบ้านก็สนใจจะพัฒนาเอง แต่การพัฒนาด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนอื่นๆนอกเหนือจากการชมผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก
มักติดระเบียบการใช้งบประมาณภาครัฐ การล่องเรือชมแม่น้ำจาง ซึ่งเรามีเรือหางยาว 8 ที่นั่ง ไว้บริการพานักท่องเที่ยว เพียง 1 ลำ
เราอยากจะซื้อเรือเพิ่มก็ทำไม่ได้ รัฐห้ามใช้งบประมาณซื้อครุภัณฑ์
หรือทำสิ่งปลูกสร้างถาวร ทำได้เฉพาะการปรับภูมิทัศน์เล็กๆน้อยๆ ทำป้าย
สำหรับถ่ายภาพ สวยๆ แต่นักท่องเที่ยวไม่ได้มาแค่ถ่ายรูป เขาอยากสัมผัสวิถีชุมชน
แต่เราทำไม่ได้ ลำพังชุมชนก็ไม่มีเงินลงทุนพัฒนาเอง อย่างนี้เป็นต้น” กำนันณรงค์กล่าว
อย่างไรก็ตาม
กำนันณรงค์ บอกว่า ปัจจุบันภาครัฐสนับสนุนงบประมาณสร้างศูนย์หัตกรรมไม้แกะสลักให้เป็นจุดรับนักท่องเที่ยว
และมีตลาดนัดชุมชนทุกวันศุกร์ แต่ก็เป็นเพียงตลาดชุมชนไม่มีนักท่องเที่ยวจากภายนอก

จากการสอบถามไป
สุรีย์ มาปลูก นายอำเภอแม่ทะ ถึงแนวทางการพัฒนาบ้านหลุก หรือการพัฒนาด้านท่องเที่ยวที่บ้านหลุก
ว่าปัจจุบันโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบ้านหลุกยังไม่มีโครงการเพิ่มเติมจากเดิมที่พัฒนาไปบางส่วนแล้ว
ซึ่งต้องหารือร่วมกันหลายฝ่ายถึงแนวทางและความเป็นไปได้ ร่วมกันในการผลักดัน
ระหว่างทำวิถีการแกะสลักไม้ให้สร้างรายได้หลักเพิ่มขึ้นดีกว่าเดิม หรือการพัฒนาในด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ
ล่าสุดมีสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนกำลังจะหารือ
แนวทางการจัดเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนในวันที่ 4ตุลาคม
2562 เพื่อหาแนวทางและแนวร่วมที่ชัดเจน

จากข้อมูลข้างต้น
หลายฝ่ายในอำเภอแม่ทะ ก็เห็นทางเดียวกันว่า การพัฒนาบ้านหลุกเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ควบคู่ไปกับหมู่บ้านหัตถกรรมนั้น ต้องหาแนวทาง ร่วมกันใหม่
เพราะสุดท้ายคนที่ลงมือทำ สร้างเสน่ห์ รายได้ และรักษาให้ยั่งยืน ก็คือคนในชุมชน
บางทีนโยบายรัฐที่จัดสรรงบประมาณลงไปโดยไม่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ที่แท้จริงก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะการท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้ต้องมีเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนอยากไปสัมผัสวิถีชุมชนนั้นให้มากพอ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1246 วันที่ 4 - 17 ตุลาคม 2562)
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1246 วันที่ 4 - 17 ตุลาคม 2562)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น