
ที่ความสูง 450
เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ท่ามกลางไม้ใหญ่ขึ้นคลุมหนาแน่น นี่อาจเป็นเพียงยอดเขาธรรมดาหากไม่มีเสียงไก่ป่าช่วยดึงความสนใจเราให้มองลงไปยังหุบด้านล่าง
เมื่อกวาดตามองพื้นที่โดยรอบอย่างถี่ถ้วน เราก็พบตัวเองยืนอยู่บนขอบปล่องภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟูนั่นเอง
กรมทรัพยากรธรณีระบุว่า
ปล่องภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟูมีลักษณะเป็นปล่อง 2 ปล่องซ้อนกัน
ปล่องแรกมีขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากมีการปะทุของลาวา 2 ครั้ง
จึงทำให้ขอบปล่องเดิมถูกทำลาย เหลือแต่ขอบด้านใต้ โดยเกิดเป็นปล่องเล็กซ้อนขึ้นมา ปล่องเล็กนี้มีลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์
แต่ขอบปล่องด้านทิศเหนือเปิดออก ทำให้ลาวาไหลคลุมพื้นที่ราบโดยรอบเกิดเป็นหินบะซอลต์
ปากปล่องมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 200 เมตร
คลุมพื้นที่ครึ่งตารางกิโลเมตร
แต่ในความเป็นจริงก็คือ
เมื่อขึ้นมาถึงปากปล่องภูเขาไฟ กลับให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการยืนอยู่บนยอดเขา
นั่นเพราะในหัวของเราถูกฝังจำด้วยภาพปล่องภูเขาไฟสุดอลังการจากหนังสือเนชั่นแนลจีโอกราฟิก
ซึ่งแน่นอนว่าต้องผิดหวัง เนื่องจากปล่องภูเขาไฟบ้านเรานั้น กินพื้นที่กว้างเกินกว่าสายตาจะมองเห็นเป็นวงรอบได้
ทั้งยังมีต้นไม้สูงใหญ่ขึ้นคลุมหนาแน่น การมองจึงต้องอาศัยจินตนาการค่อนข้างสูง
“ฝรั่งมาเที่ยวกันเยอะ
มาถึงก็ลงไปข้างล่างโน่น ถ้าจะเดินต้องหน้าแล้ง ช่วงนี้งูเยอะ”
ชาวบ้านคนหนึ่งบอก ขณะกวาดลานโล่งด้านบนเพื่อเตรียมจัดงานตักบาตรเทโวช่วงออกพรรษา
การเดินลงไปยังปล่องภูเขาไฟด้านล่างสามารถทำได้หากเป็นช่วงฤดูร้อน ซึ่งจะเห็นลักษณะของภูเขาไฟชัดเจนกว่าช่วงฤดูฝนที่มีต้นไม้ขึ้นคลุมหนาแน่น
ไม่ไกลจากภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู
ถนนสายลำปาง-แม่เมาะเส้นเดิมนำเรามาถึงภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดด บันไดปูนทอดยาวขึ้นไปยังสันเขา
มันหายลับไปกับความสูงชันและพรรณไม้หนาทึบช่วงปลายฤดูฝน
ช่วงสุดท้ายของความชันพาเรามาถึงสันเขาที่ความสูง
530
เมตร จากระดับทะเลปานกลาง มีหอชมวิวตั้งตระหง่าน
ภาพที่เห็นไม่ต่างจากภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู แต่ภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดดโอบล้อมด้วยป่าแน่นทึบกว่า
ยุงค่อนข้างชุม และหากการชมภูเขาไฟทั้ง 2 ลูกต้องใช้จินตนาการสูง
ภูเขาไฟลูกนี้คงต้องใช้จินตนาการสูงสุด
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีบอกว่า
ลักษณะของปล่องภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดดเป็นปากปล่องที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 150
เมตร ขอบปล่องด้านเหนือและด้านตะวันตกเฉียงใต้เปิดออก
ทำให้ลาวาไหลออกคลุมพื้นที่บริเวณห้วยจำห้า ห้วยแม่ทะ และพื้นราบ
เห็นได้จากหินบะซอลต์ที่คลุมบริเวณดังกล่าว ความชันของเนินเขาด้านใต้มีมุมเอียงเทมากกว่าด้านเหนือ
รูปร่างภูเขาไฟมองเห็นไม่ชัดเจน เพราะเกิดชิดกับเทือกเขาหินปูน ซึ่งเป็นเทือกที่ขวางกั้นระหว่างแอ่งลำปางกับแอ่งแม่เมาะ
ภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดดมีขนาดพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ปล่องด้านเหนือแหว่งเล็กน้อย
เนื่องจากเป็นทางไหลออกของลาวา ความชันของเนินเขาด้านใต้ชันมากกว่าด้านเหนือ
ภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดดถูกค้นพบโดย
ดร. เปีย ซอเรนเซน นักโบราณคดีชาวเดนมาร์ก
ที่ได้เข้ามาสำรวจและขุดค้นร่องรอยของคนสมัยไพลสโตซีนในพื้นที่อำเภอแม่ทะและอำเภอแม่เมาะ
เขาพบว่า ช่วงดอยผาเกด เขตติดต่อลำปาง-แพร่เคยเป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลมารวมกับแม่น้ำจาง
แต่ถูกลาวาจากภูเขาไฟพ่นทับถมร่องน้ำจนสายน้ำดังกล่าวเปลี่ยนทิศทางไหลไปรวมกับแม่น้ำยมทั้งหมด
จึงได้แกะรอยที่มาของลาวาดังกล่าว จนมาพบภูเขาไฟ
ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายทางอากาศในช่วงฤดูแล้ง
อย่างไรก็ตาม ภูเขาไฟลำปางเกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก
ทำให้เกิดรอยเลื่อนลึกขึ้นในแนวเหนือ-ใต้ เป็นช่องทางให้หินหนืดภายใต้ผิวโลกทะลักล้นออกมาในแนวรอยเลื่อนนี้
เกิดเป็นปล่องภูเขาไฟเรียงตัวกันในแนวนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู
ภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดด หรืออีกลูกหนึ่งที่อำเภอเกาะคา
ลูกหลังนี้ไม่หลงเหลือความเป็นปล่องภูเขาไฟให้เห็นเลย โดยทั้งหมดมีอายุราว 800,000
ปี
และอย่างที่เรารู้กัน
ภูเขาไฟที่พบในประเทศไทยทั้งหมดเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ปล่องภูเขาไฟลำปางเมื่อมองจากด้านล่างจะเห็นเป็นเทือกเขายอดเว้า
แต่ถ้ามองจากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นยอดเป็นแอ่งรูปกลม การขึ้นไปชมจึงไม่ควรลืมที่จะลดความคาดหวังให้น้อยลง
และเพิ่มจินตนาการให้มากขึ้น
ลองนึกถึงโลกยุคบรรพกาล
ความรู้สึกร้อนระอุใต้ฝ่าเท้า ภาพลาวาแดงฉานหลากไหลลงไปยังภูมิประเทศด้านล่าง
บางทีการเที่ยวชมภูเขาไฟเมืองลำปางอาจสนุกได้ (และคงจะดียิ่งขึ้นหากมีป้ายบอกทางที่ชัดเจน
รวมถึงป้ายบอกข้อมูลอย่างรอบด้านของภูเขาไฟ)
...............................
หมายเหตุ
ปล่องภูเขาไฟลำปางที่จัดได้ว่าเห็นชัดที่สุด
ได้แก่ ปล่องภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู ตำบลแม่ทะ อำเภอแม่ทะ และปล่องภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดด
ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ ซึ่งอยู่ไม่ห่างกัน เพียงคนละฝั่งถนนที่จะไปอำเภอแม่เมาะ
จากตัวเมือง ภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟูจะถึงก่อน
โดยมีป้ายซ้ายมือเขียนไว้ว่า “ภูเขาไฟลำปาง” จากนั้นเลี้ยวขวาตามป้ายบอกทางไปวัดป่าเวียงสวรรค์ ระยะทาง 3 กิโลเมตร เมื่อถึงวัดให้เลยไปจนสุดถนน จะเห็นลานจอดรถ เดินขึ้นบันไดไปราว 100-200
เมตร ถึงศาลาชมวิวบนปากปล่องภูเขาไฟ ส่วนภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดดอยู่เลยไปไม่ไกล
สังเกตป้ายซ้ายมือเขียนไว้ว่า “ภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดด 2
กิโลเมตร” จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าไป
เมื่อถึงทางเข้าจะมีป้ายและซุ้มอยู่ทางซ้ายมือ เดินขึ้นบันไดสูงชันราว 400 เมตร
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1246 วันที่ 4 - 17 ตุลาคม 2562)
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1246 วันที่ 4 - 17 ตุลาคม 2562)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น