วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กระแส คนแม่ทะ ต้านเหมืองปูนฯป่าพังพันไร่!

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ป็นปรากฏการณ์ร่วมที่เกิดพร้อมๆกัน ไม่ว่าบริษัทเอกชนที่คิดอ่านจะไปยึดพื้นที่ชาวบ้านในชนบทเพื่อทำเหมือง โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วงเหมืองถ่านหินบริเวณภาคเหนือตอนบนของ บริษัท 99 ธุรานนท์ จำกัด ที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และกระแสความเคลื่อนไหวในการคัดค้านเหมืองลิกไนต์ ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ที่บ้านบอม อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

ในประเทศการค้าเสรี คงไม่มีข้อห้ามในการลงทุนของภาคเอกชน แต่เฉพาะการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่ต้องมีการขุดหน้าดินในพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล การขนส่งที่ต้องผ่านหมู่บ้าน รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะติดตามมา จากภาพจำเรื่องเหมืองแม่เมาะในอดีต  นี่จึงเป็นการลงทุนธุรกิจที่มีความละเอียดอ่อนมากกับความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่

แน่นอนว่า เราจะด่วนตัดสินว่า การทำเหมืองแร่ของบริษัทปูนจะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือจะส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนไม่ได้ในทันที เพราะกระบวนการก่อนที่บริษัทผู้ลงทุนจะขุดเปิดหน้าดิน นับหนึ่งในการทำเหมืองนั้น ยังมีอีกหลายขั้นตอน เช่น เวทีในการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ซึ่งผู้ลงทุนก็ต้องมีหลักฐาน ข้อมูลมาแสดงจนชาวบ้านวางใจ หรือมีคำอธิบายว่า การมีเหมืองลิกไนต์ใกล้บ้านของพวกเขา จะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิต หรือเศรษฐกิจชุมชนอย่างไร

และหากมองในแง่ของเทคโนโลยี การจัดการปัญหาฝุ่นควัน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ถึงปัจจุบันเครื่องไม้ เครื่องมือก็น่าจะมีความก้าวหน้า ทันสมัย มีประสิทธิภาพในการตรวจจับ และควบคุมมิให้สร้างปัญหาให้ชาวบ้านได้ ก็ไม่แตกต่างไปจากเหมืองแม่เมาะระยะเริ่มต้นในอดีต

ซึ่งต้องฟัง และศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตาม ตรวจสอบ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เจ้าของสัมปทาน

พื้นที่ขอประทานบัตรทั้ง 4 แปลง อยู่ในพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ และพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ล้อมรอบด้วยเทือกเขาป่าอนุรักษ์ทิศเหนือ ทิศตะวันตกและทิศใต้ บริเวณตอนเหนือติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยแม่กอง มีลำห้วยเล็กๆ ไหลจากเทือกเขาด้านตะวันตก ทิศเหนือและใต้ลงอ่างเก็บน้ำ

หรือว่ากันง่ายๆบริเวณเหมือง จะอยู่ในเขตป่าระหว่าง ดอยพระฌาณ และ ดอยม่อนธาตุ ซึ่งมีห้วยต้นน้ำ ห้วยมหาวรรณ ห้วยชมปู ไหลลงแม่น้ำแม่วะลงสู่แม่น้ำจาง ด้านทิศเหนือของดอยม่อนธาตุ น้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำแม่กอง ด้านทิศใต้ไหลลงอ่างแม่วะ

การทำเหมืองของบริษัทปูนซิเมนต์ลำปาง ลิกไนต์จะนำไปใช้ในการผลิตปูนซิเมนต์ในโรงงาน อีกส่วนหนึ่งจะขนส่งออกไปยังแหล่งรับซื้อภายนอก ซึ่งก็จะเกิดการสร้างงานให้กับชุมชนโดยรอบ และทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น มีการไหลเวียนในการใช้จ่ายในชุมชนมากขึ้น

แต่ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นประเด็นที่ชาวบ้านคัดค้านด้วยความไม่มั่นใจในผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเขา ก็คือ การทำเหมืองซึ่งจะต้องขุดหน้าดินลงไป จะต้องโค่นป่านับพันไร่ เป็นป่าสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ

การเปลี่ยนแปลงและทำลายระบบนิเวศ เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า และมันจะส่งผลกระทบไปชั่วลูกชั่วหลาน ในขณะที่พื้นที่ป่าเราลดน้อยถอยลงทุกวัน จากการบุกรุกทำลายป่า นี่ก็อาจเรียกว่าเป็นการบุกรุกทำลายป่า แต่เป็นการบุกรุกทำลายป่าที่ชอบด้วยกฎหมาย

เราคิดว่าการทำลายป่า ทำลายป่าต้นน้ำ คุ้มค่าแล้วหรือไม่กับผลประโยชน์ของชาวบ้าน ที่ได้จากการมีเหมืองมาขุดดินอยู่ใกล้ๆบ้าน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1246 วันที่ 4 - 17 ตุลาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์