วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

20 พ.ย.ชี้ชะตา “ธนาธร” โอนหุ้นจริงหรือไม่ สำคัญกว่าถือหุ้นสื่อ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

วันที่ 20 พฤศจิกายน นี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยกรณีถือหุ้นสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หากเอาประเด็นว่านายธนาธร โอนหุ้นสมบูรณ์ก่อนวันรับสมัครเลือกตั้งหรือไม่ ประเด็นนี้ก็น่าเป็นห่วง แต่หากพิจารณาประกอบกับเหตุผล หลักการ ความจำเป็นที่ผู้สมัคร ส.ส.ต้องห้ามไม่ให้ถือหุ้นสื่อ คำวินิจฉัยของศาลก็จะสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของโลก และนายธนาธร ก็อาจหลุดพ้นจากข้อหานี้ได้

ในการพิจารณาของศาล ไม่มีประเด็นว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ก่อนที่เขาจะยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ไม่ว่าการโอนหุ้นสื่อจะทำก่อนหรือหลังการสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ก็ไม่ได้ส่งผลต่อสังคม ต่อผู้บริโภคข้อมูล ข่าวสาร รวมทั้งต่อการทำหน้าที่
นักการเมืองแต่อย่างใด
คนเขียนรัฐธรรมนูญ คนเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ รวมทั้งมายาคติของสังคมที่เชื่อว่า ผู้ใดครอบครองสื่อ ผู้นั้นมีอำนาจ และอำนาจการสื่อสารนี้เอง จะไปครอบงำความคิดของผู้คน ไปเปลี่ยนแปลงความคิด ความเห็น ทัศนคติ หรือไปเป็นเครื่องมือของนักการเมืองในการสร้างอิมเมจ เมกเกอร์ที่ผิดไปจากความจริง หรือใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม

กฎหมายที่ล้าหลังความเป็นจริงของโลก ไม่เพียงกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เท่านั้น หากยังมีกฎหมายบางฉบับที่ยังตกหล่มอยู่ในความคิดเก่า ยังหวาดกลัวเรื่องการผูกขาด ครอบงำ เช่น ที่เขียนไว้ในมาตรา 31 ส่วนการป้องกันการผูกขาด ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551

กฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เขียนไว้ว่า “เพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งครอบงำกิจการในลักษณะที่เป็นการจำกัดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ที่มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย หรือกระทำการอันเป็นการผูกขาดการประกอบกิจการสื่อมวลชนหลายประเภทในเวลาเดียวกัน ห้ามผู้รับใบอนุญาตถือครองงธุรกิจในกิจการประเภทเดียวกัน หรือครองสิทธิข้ามสื่อในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่เกินสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

ถามว่า ลักษณะของการผูกขาดในสื่อโดยเฉพาะกิจการโทรทัศน์ ที่อาจตีความได้ว่า เป็นการครอบงำกิจการอันฝ่าฝืนกฎหมายเช่นนี้ มีหรือไม่ คำตอบคือ สปริงนิวส์ เทคโอเวอร์เนชั่น กลุ่มปราสาททองโอสถ ของหมอเสริฐ เจ้าของ พีพีทีวี ซื้อช่องวัน ซึ่งการครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการมีสื่อประเภทเดียวกัน ไม่ได้ส่งผลให้กิจการเหล่านั้นมีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมนี้เลย

เพราะโลกเปลี่ยนไป ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน จากการมีสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ ถึงยุคสื่อออนไลน์ โลกของสื่อมีความลุ่มลึก และหลากหลายมากขึ้น มีผู้คนเข้าถึงช่องทางสื่อ มีอำนาจในการสื่อสาร โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสื่ออาชีพ เป็นนักการเมือง หรือเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อ เป็นเพียงเจ้าของเพจเพียงช่องทางเดียว ก็มีอิทธิพลได้ ชี้นำสังคมได้ และอาจครอบงำความคิดของผู้คนได้ ถ้าเชื่อว่าสื่อมีอิทธิพล

ในอดีต นักการมือง ผู้มีอำนาจหลายยุค ก็มีสื่อในครอบครอง โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ ที่ไม่ไกลไปมากนัก ก็คือนายบรรหาร ศิลปอาชา หนังสือพิมพ์บ้านเมือง นายสมัคร สุนทรเวช หนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ชาวไทย ของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ แต่หนังสือพิมพ์เหล่านั้น ก็ไม่ได้มีอิทธิพลมากมายนอกจากการเป็นไม้กันหมา ให้นักการเมืองเจ้าของทุนในบางสถานการณ์

สังคมไทยพัฒนามาไกลกว่าความคิดของคนร่างกฎหมาย ห้ามผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้นบริษัทสื่อแล้ว หากพวกเขาจะเปลี่ยนทัศนคติ หรือมีความเห็นโน้มเอียงไปทางสื่อใด ก็เพราะเขามีความเชื่อถือในสื่อนั้นๆ ไม่ใช่เพราะสื่อนั้น มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือผู้มีอำนาจคนใดเป็นเจ้าของ

สถานะของนายธนาธร จังรุ่งเรืองกิจ จะเป็น อย่างไรก็เป็นปัญหาของเขา แต่สื่อหรือนักเคลื่อนไหว ที่พยายามจับเท็จเรื่อง ฐานที่อยู่ การเดินทางมาเซ็นโอนหุ้นจริงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องเลอะเทอะ ไร้สาระ  สื่อควรตอบคำถามสังคมให้ได้ชัดเจนมากกว่าว่า การถือครองหุ้นสื่อของนายธนาธร มันจะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อสังคมนี้อย่างไร
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์