
พลันที่ตัวแทนลิขสิทธิ์ริลัคคุมะ ออกมายืนยันว่า เด็กหญิงวัย 15
ปี ชาวจังหวัดนครราชสีมา ไม่มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์
อีกทั้งบริษัทเวอร์รีเซ็ค ที่นายประจักษ์ โพธิ์ผล ผู้นำจับอ้างว่าเป็นตัวแทน
ผู้รับมอบอำนาจของบริษัทแซนเอ็กซ์ บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น
ก็ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริง คำถามก็กระหึ่มดังขึ้นว่า นี่เกิดเหตุอันใดกันแน่
เมื่อมีความชัดเจนว่า เธอไม่มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์
ตำรวจก็เตรียมที่จะขอหมายศาล ออกหมายจับนายประจักษ์ โพธิ์ผล
กับพวกที่ล่อซื้อกระทงจากเด็ก ซึ่งกลายเป็นคดีที่จะขยายผลไปยังกรณีอื่นๆ
ที่พบว่ามีพฤติกรรมล่อซื้อเพื่อจับฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอีกหลายราย
ในขณะเดียวกัน สภาทนายความจังหวัดนครราชสีมาแจ้งว่าได้ช่วยผู้เสียหายกว่า
40 ราย
ที่ถูกล่อซื้อสินค้าลายการ์ตูนลิขสิทธิ์หลายรูปแบบ โดยได้รวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เพื่อให้พนักงานสอบสวนนำหลักฐานทั้งหมดไปยื่นขอศาลออกหมายจับผู้ที่อยู่ในขบวนการล่อซื้อจับกมุสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
โดยเบื้องต้นคาดว่ามีผู้เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 3 ราย
ดูเหมือนว่าทุกคนจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มบุคคล
ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ยังไม่มีใครพูดถึงมากนัก
สำหรับตำรวจที่เป็นตัวการสำคัญ
ที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้กรรโชกทรัพย์เหยื่อเป็นผลสำเร็จ
และน่าสงสัยว่าจะมีส่วนแบ่งในการใช้กฎหมายข่มขู่ผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่
เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่คนทั่วไปอาจไม่มีความรู้ มาเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์
กฎหมายลิขสิทธิ์ เป็นกฎหมายที่มีความผิดทางอาญา
แต่เป็นความผิดอาญาที่ยอมความได้ แปลว่า
หากคู่กรณีตกลงกันได้ไม่ว่าในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ และศาล คดีก็จบกันไป
แต่ในความเป็นจริง คนที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ มักจะถูกทนายความ
ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์หรืออ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจ เช่น
กรณีกระทงเด็กอายุ 15
ปีที่จังหวัดนครราชสีมา ร่วมมือกับตำรวจตบทรัพย์จากผู้ถูกจับกุมอยู่เสมอ โดยสร้างสถานการณ์ให้เห็นว่า
เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดร้ายแรง ใหญ่โต
ลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสำคัญ เราควรให้ความเคารพ
และไม่ไปละเมิดความคิดสร้างสรรค์ของบุคคลอื่น ไม่ไปทำซ้ำ ดัดแปลง
และเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยเฉพาะหากการกระทำนั้นเป็นไปเพื่อการค้า ต้องมีความรับผิดเพิ่มขึ้น
แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้เท่าทัน
มิจฉาชีพในคราบทนายความและตำรวจที่ทำมาหากินในเรื่องนี้มายาวนาน
หากมีบุคคลใดอ้างตัวว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจ
ให้มาจับกุมเราฐานละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากจะขอดูหลักฐานใบมอบอำนาจแล้ว
ต้องเข้าใจว่าถ้าเราเป็นเพียงคนทั่วไป หรือผู้ค้ารายย่อย
ปกติเจ้าของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ เขาไม่ได้มีนโยบาย หรือให้ความสำคัญกับรายเล็ก
รายน้อยอยู่แล้ว
และเนื่องจากเป็นความผิดอาญา ที่ยอมความได้ อย่าด่วนยอมรับความผิด
และจ่ายเงินเพื่อตัดปัญหาความยุ่งยาก แต่ต้องดูว่างานเราละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
ถ้าไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ก็ให้การปฏิเสธไป
เพื่อเป็นการปกป้องคนอื่นๆที่อาจเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้
เพราะถ้าชัดเจนว่าไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ ตำรวจก็ไม่อาจทำสำนวนส่งอัยการได้
เรื่องลิขสิทธิ์เป็นช่องทางให้ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจ และโดยเฉพาะตำรวจ
รวมหัวกัน กรรโชกทรัพย์คนอื่นมานาน กรณีกระทงเด็กอายุ 15 ที่นครราชสีมา
อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการกวาดล้างคนพวกนี้ให้สิ้นซาก
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น