
ในสถานการณ์ความอ่อนไหวของสื่อหนังสือพิมพ์
ห้วงปีที่กำลังจะผ่านไป อาจเป็นห้วงเวลาแห่งความยากลำบากไม่เพียง “ลานนาโพสต์”
แต่หมายถึงสื่อหนังสือพิมพ์ทั้งระบบ ซึ่งในกลุ่มหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคเหนือตอนบน
เชียงใหม่นิวส์ ได้ปรับตัวเป็นสื่อออนไลน์เต็มรูปแบบแล้ว
ไม่ใช่ธุรกิจเพื่อสร้างผลกำไร
หากเป็นการต่อสู้เพื่อยืนหยัดในการทำหน้าที่ “พูดความจริง”
สะท้อนปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมในจังหวัดเล็กๆนี้ อย่างครบถ้วน และรอบด้าน
ความพยายามเหล่านี้อาจนำมาซึ่งกำลังใจ เล็กๆน้อยๆ จากรางวัลบทนำดีเด่น
ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และรางวัลช่อสะอาด
ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ที่ได้รับในปีนี้
กำลังใจจากผลงานการได้รับรางวัลระดับชาติ
มาพร้อมกับการบั่นทอนกำลังใจ ที่ทำให้ลานนาโพสต์ได้ประจักษ์ถึงความจริงข้อหนึ่ง
หลังจากที่ถูกสำนักข่าวใหญ่ในเมืองหลวงอย่างน้อย 3 แห่ง
ละเมิดลิขสิทธิ์งานข่าว ว่า การต่อสู้ของสื่อเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองไม่ได้มีความหมายเลยในสังคมอุปถัมภ์
ที่พวกพ้องสำคัญกว่าความถูกต้อง
สังคมเปลี่ยนไป บริบททางสังคมเปลี่ยนไป
ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป สังคมไทยแทบไม่ได้ให้คุณค่าความสำคัญของสื่ออิสระ
ที่มีจุดมุ่งหมายในเชิงอุดมการณ์ ซื่อสัตย์ต่อความจริง
และมุ่งต่อผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญอีกต่อไป
ยังไม่ต้องกล่าวถึง
บางผู้คนที่ไม่ยอมรับความจริง ไม่ยินดีกับการมีสื่อที่พูดความจริง
และยังสำคัญผิดในอำนาจว่า สามารถสยบสื่อที่พูดความจริงได้ ไม่ว่าจะด้วยการข่มขู่
ไม่ว่าจะใช้การฟ้องคดีอาญาด้วยความเข้าใจว่าจะทำให้สื่อตื่นกลัว
แต่ความจริงมักชนะเสมอ
เหมือนที่ลานนาโพสต์
ชนะคดีสมาชิกสภาเทศบาลคนหนึ่งทั้งศาลชั้นต้น และอุทธรณ์
คนฟ้องคดีหมิ่นประมาท อาจกลายเป็นจำเลยคดีฟ้องเท็จ
เบิกความเท็จ แต่ด้วยความเมตตา ลานนาโพสต์จึงละเว้นให้ด้วยความยินดี เอาเวลาไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดีกว่ามาค้าความในเรื่องไร้สาระ
และน่าจะรู้ได้ว่าจะแพ้คดี ตั้งแต่แรกที่คิดแล้ว
เรื่องคดีหมิ่นประมาท เป็นเรื่องที่มีความเข้าใจผิดกันมาก
เพราะมิใช่เพียงรู้สึกเอาเองว่าตัวเองเสียหาย แล้วจะมาฟ้องหมิ่นประมาท
โดยที่ไม่ได้ใส่ใจในเรื่ององค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทเลย เช่น
การพูดในที่ชุมนุม ที่ประชุม หรือในการสัมมนา
การถ่ายทอดถ้อยคำที่เป็นประเด็นสาธารณะนั้น ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
ความรับผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น
จะต้องครบองค์ประกอบความผิด คือ (1).จะต้องมีการใส่ความ
คือการยืนยันข้อเท็จจริงที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง (2)
เป็นการใส่ความผู้อื่น คำว่าผู้อื่น หมายถึงผู้ที่ถูกกล่าวอ้างถึง หรือผู้เสียหาย
และ(3) เป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม คำว่า “บุคคลที่สาม”
หมายถึง บุคคลที่ได้ทราบข้อความนั้น โดยมิใช่ผู้กล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาท
หรือผู้เสียหาย (4)เป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียชื่อเสียง
ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
คือฟังได้ว่าอาจทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงเสื่อมเสียชื่อเสียง
หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง คำว่าน่าจะ เป็นการคาดคะเน
แม้ผู้ฟังถ้อยคำนั้นอาจไม่รู้สึกถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
หรือการใส่ความจะไม่เกิดผลจริงจัง ก็ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ และ (5) ผู้ใส่ความจะต้องมี “เจตนา” คือเจตนาที่จะให้บุคคลที่สาม
ทราบข้อความนั้นด้วย
ดังนั้น
ใครก็ตามที่คิดจะฟ้องหมิ่นประมาทสื่อที่รายงานข่าวตามข้อเท็จจริง
และไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ก็อาจเปลี่ยนข้างไปเป็นจำเลยคดีฟ้องเท็จ
แจ้งความเท็จได้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น