หากลายปูรณฆฏะ
หรือลายหม้อน้ำในวิหารจามเทวีของวัดปงยางคก คือต้นแบบความงามแห่งลวดลายหม้อปูรณฆฏะ
ลวดลายโพธิพฤกษ์ในวิหารน้ำแต้มของวัดพระธาตุลำปางหลวง ก็คือที่สุดความงามของลวดลายต้นโพธิ์
ที่กลายเป็นต้นแบบให้ภาพต้นโพธิ์ ซึ่งเราอาจจะเคยเห็นตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงแรม
ร้านอาหาร หรือแม้แต่บ้านเรือน
วิหารน้ำแต้มเป็นวิหารโถง ได้รับยกย่องว่าเป็นงานสร้างสรรค์ที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งของสถาปัตยกรรมล้านนา
วิหารขนาดเล็กหลังนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุ เยื้องมาทางด้านหลังของวิหารหลวง
คำว่า “น้ำแต้ม” แปลว่า “ภาพเขียน” ชื่อของวิหารน้ำแต้มมาจากลักษณะการประดับตกแต่งวิหารที่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่บริเวณคอสอง
ซึ่งได้มีผู้ศึกษาภาพจิตรกรรมดังกล่าวและลงความเห็นว่า
จิตรกรรมนี้ควรจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 สอดคล้องกับการกำหนดอายุของวิหารน้ำแต้ม
เพราะจากข้อความที่ปรากฏในตำนานและศิลาจารึกทำให้นักวิชาการเชื่อว่า
วิหารหลังนี้น่าจะมีการสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 เพื่อประดิษฐานพระประธาน
คือ พระเจ้าสามหมื่นทอง พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ สูง 2 ศอก 1 คืบ
สิ่งที่ถือเป็นไฮไลต์ของวิหารน้ำแต้มอยู่ที่ลายคำด้านหลังพระประธาน
ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นลายคำลวดลายโพธิพฤกษ์ที่งดงามมากแห่งหนึ่ง
และเป็นลวดลายที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใคร ๆ หยิบยืมไปต่อยอดสร้างสรรค์
ลายคำนั้น เป็นภาพโพธิพฤกษ์ 3 ต้น ที่แตกกิ่งก้านอย่างงดงาม ตอนบนด้านซ้ายมีภาพดวงจันทร์
ซึ่งทำสัญลักษณ์เป็นรูปกระต่ายในดวงจันทร์ และด้านขวาเป็นภาพดวงอาทิตย์
ทำสัญลักษณ์เป็นรูปหงส์ในดวงอาทิตย์ อันเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาล
สอดแทรกด้วยภาพนกแก้วและหงส์บิน และมีเทวดากระทำอัญชลีพร้อมช่อดอกไม้ประกอบอยู่ทั้งสองข้าง
ทั้งนี้ ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อยู่คนละฝั่งของต้นพระศรีมหาโพธิ์
เพื่อสื่อความหมายว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
จึงมีดวงอาทิตย์และดวงจันทร์โคจรอยู่โดยรอบ นอกจากนี้ บริเวณฝาผนังด้านข้างของห้องที่
5 ตกแต่งด้วยรูปปูรณฆฏะ
ทำเป็นรูปดอกไม้เลื้อยตั้งเรียงไปตามแนวนอน
อาจารย์วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ภาควิชาศิลปะไทย
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงเทคนิคการทำลายคำในวิหารน้ำแต้มไว้ในหนังสือ
“วิหารล้านนา” ว่า เทคนิคที่ทำนั้น
เป็นการปรุกระดาษให้เป็นตัวภาพ แล้วจึงนำไปทาบกับผนังที่เตรียมพื้นไว้แล้ว
และลงรักเช็ดตามรอยปรุ หลังจากนั้นจึงปิดทองคำเปลวตามลายที่ลงรักเช็ดไว้
เสร็จแล้วจะปรากฏภาพลายทองสุกอร่ามอยู่บนพื้นสีแดงชาด ซึ่งพื้นสีแดงนี้
มักจะเป็นพื้นรักที่ผสม “หาง”
ซึ่งเป็นแร่ชนิดหนึ่งที่บดให้ละเอียด และมีคุณสมบัติที่ผสมกับรักแล้วไม่จมในน้ำรัก
อันเป็นเทคนิคเดียวกับการทำเครื่องเขินในล้านนา
การประดับตกแต่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของวิหารน้ำแต้มอยู่ที่เสาสี่เหลี่ยมระหว่างผนัง
ที่มีการประดับด้วยเทอควอยซ์บดเขียนเป็นภาพหงส์
วิหารน้ำแต้มยังมีลักษณะพิเศษ นั่นก็คือ
มีรูปสัตว์ต่าง ๆ ประดับอยู่ตามหลังคา หรือเหนือเสา ไม่ว่าจะเป็นตัวมอม
และสัตว์จำพวกหงส์ นกฮูก นกหัสดีลิงค์ ตกแต่งบริเวณเหนือป้านลมและสันหลังคา
นอกจากนั้น ที่ฐานชุกชียังมีงานปูนปั้นเป็นรูปสิงห์ทูนหม้อน้ำปูรณฆฏะ นกแก้ว
และเสือ ประดับไว้ด้วย
เรื่องสัตว์ที่นำมาประดับวิหารน้ำแต้มก็มีที่มาที่ไปน่าสนใจไม่น้อย
สำหรับนกแก้ว นกฮูก และเสือ เป็นสัตว์ที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ นกแก้ว
แสดงถึงสัตว์ที่มีค่าและใช้เป็นสัตว์บรรณาการของราชสำนักจีน นกฮูกนั้น
นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าประดับอยู่ในตำแหน่งที่นกฮูกจริง ๆ สามารถเกาะได้
และในช่วงเวลานั้น นกฮูกคงเป็นสัตว์ป่าที่พบเห็นได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ส่วนเสือ
แน่นอนว่านำมาประดับเพื่อแสดงถึงพละกำลังและอำนาจ จากคติโบราณของจีนเชื่อว่า
เสือเป็น 1 ใน 4 จตุรทิศสัตว์เทพ
ประจำทิศตะวันออก อีกทั้งยังเชื่อว่า เสือช่วยป้องกันภูตผีปีศาจและคุ้มครองชีวิต
ส่วนมอม สิงห์ หงส์ และนกหัสดีลิงค์
เป็นสัตว์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากจินตนาการ หรือสัตว์หิมพานต์
ซึ่งมีภาวะระหว่างสัตว์ตามธรรมชาติและสัตว์สวรรค์
มอม คือ สัตว์ครึ่งลิงครึ่งเสือ มีขนยาว ตัวดำ
บางท่านว่าลำตัวคล้ายสุนัขพันธุ์ปักกิ่ง บางแห่งแปลว่าเสือดำ
สิงห์ เป็นสัตว์ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวในพระพุทธศาสนามากที่สุด
ทำหน้าที่ปกปักรักษาสิ่งก่อสร้างทางพระพุทธศาสนา
หงส์ ราชาแห่งสัตว์ปีกทั้งมวล
นับเป็นสัตว์มงคล เชื่อกันว่าทำหน้าที่ปกป้องภัยจากทางเบื้องบน
และสามารถล่วงรู้ความวุ่นวายบนโลกมนุษย์ได้ หงส์นี้มีขนงามตลอดตัว
มีเสียงร้องคล้ายขลุ่ย ไม่กินแมลงมีชีวิต ไม่จิกต้นไม้ที่ยังเขียวสด
ไม่อยู่เป็นฝูง ไม่บินเร่ร่อนไปในที่ต่าง ๆ
ในภาพจิตรกรรมหากมีรูปหงส์แสดงให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่ดำเนินอยู่บนสวรรค์
นกหัสดีลิงค์
มีความสัมพันธ์กับชาวล้านนามาอย่างยาวนาน นกชนิดนี้มีความใหญ่โตและทรงพละกำลังมาก
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น
คือความงามระดับสุดยอดของวิหารน้ำแต้มก่อนการบูรณะ
ซึ่งหลายครั้งหลายคราที่การบูรณะมักทำลายเสน่ห์ความงามดั้งเดิมให้จืดจางลงไป
ด้วยการทำให้ของเดิมกลายเป็นของใหม่
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น