
ชาวบ้านสบลี
ต.แจ้ซ้อน กว่า 200 คน
แจ้งความถูกหลอกออมเงินวันละบาท แต่กลับไม่ได้เงินคืนตามตกลง
อีกทั้งยังพบข้อมูลการเบิกเงินค่าปลงศพผู้เสียชีวิต ไม่ตรงกับความเป็นจริง
ด้านประธานกองทุนยันดำเนินการตามระเบียบ มีเอกสารหลักฐานครบ
พร้อมชี้แจงกับเจ้าหน้าที่
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 62 เวลา 13.40 น.
กลุ่มชาวบ้านสบลี หมู่ 6 ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง 195 คน นำโดยนายบุญชู แปดนัด อายุ 64 ปี
ตัวแทนซึ่งได้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านผู้เสียหายทั้งหมด 212 คน
รวมตัวเดินทางมายัง สภ.แจ้ซ้อน เพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายสอง ต๊ะเวที ประธานกองทุนออมวันละบาท และเป็น อดีตกำนันตำบลนาสัก พร้อมด้วยนางบัวเหลียว คำมี เลขานุการกองทุน ในคดีอาญาทุกฐานความผิด
หลังจากทั้งสองคนได้เชิญชวนให้ชาวบ้านได้สมัครเข้ากองทุนสวัสดิการอิ่มบุญอิ่มใจ
บ้านสบลี ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน แต่กลับได้รับเงินออมและเงินสมทบคืน
นายบุญชู แปดนัด เล่าว่า
เมื่อเดือน ธ.ค.53 ได้มีคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการอิ่มบุญอิ่มใจ
ต.แจ้ซ้อน หรือกองทุนออมบุญวันละหนึ่งบาท คือนางบัวเหลียว คำมี
ได้เชิญชวนให้สมัครเข้ากองทุนสวัสดิการอิ่มบุญอิ่มใจบ้านสบลี หมู่ 6 ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน
ซึ่งทางสมาชิกหลายคนเห็นว่ามีประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว
จึงได้ร่วมสมัครเป็นสมาชิก โดยมีเงื่อนไขจากแผ่นพับระบุว่า สามารถออมเงินครบ 5 ปี ถ้าลาออกจะได้รับเงินออมสะสมคืนครบจำนวน มีสวัสดิการในการพักรักษาพยาบาล 100 บาทต่อคืน และไม่เกิน 10 คืนต่อปี และกรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินค่าปลงศพ
ตามเงื่อนไขจำนวนปีที่ออม และได้รับเงินสะสมคืนครบจำนวน จนกระทั่งเดือน มี.ค.62
ได้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งทางสมาชิกเพิ่งได้รับทราบว่า
มีกรณีสมาชิกกองทุนฯเสียชีวิตแต่กลับไม่ได้รับเงินออมสมทบคืนแต่อย่างใด
จึงได้เรียกร้องให้ทางคณะกรรมการกองทุนฯ ประจำหมู่บ้านชี้แจงตั้งแต่เดือน เม.ย. 62 ที่ผ่านมา แต่ทางคณะกรรมการไม่เคยมีการชี้แจงให้ชาวบ้านทราบ
โดยที่ชาวบ้านไม่เคยทราบความเคลื่อนไหวของกองทุนเลย
ตั้งแต่เปลี่ยนประธานกองทุนคนใหม่เมื่อปี 2558 เป็นต้นมา
ชาวบ้านได้เล่าอีกว่า เมื่อทางสมาชิกได้สอบถามเรื่องรายรับรายจ่ายประจำปี
ทางคณะกรรมการก็ตอบแบบคลุมเครือไม่โปร่งใส
และไม่เคยแจ้งให้ทราบเลยว่าได้นำรายชื่อของสมาชิกไปรบเงินสมทบเพิ่มเติมจากทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
จ.ลำปาง และ อปท.
ทางสมาชิกจึงได้เสนอว่าจะขอลาออกและขอรับเงินออมสะสมคืน ทางคณะกรรมการแจ้งเพียงแต่ว่าไม่ได้ใช้ระเบียบเดิมแล้ว
ซึ่งได้นำระเบียบใหม่จากจังหวัดมาใช้จึงไม่สามารถคืนเงินได้
ชาวบ้านกลุ่มสมาชิกจึงได้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 62 ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้รับความชัดเจนเหมือนเดิม
จึงหาช่องทางที่จะขอความช่วยเหลือและได้ติดต่อไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดลำปาง ต่อมาวันที่ 22 ส.ค. 62
ได้ข้อสรุปว่า คณะกรรมการจะจ่ายให้เฉพาะเงินออมที่คงเหลือ 4,950 บาท แต่ไม่สามารถนำเงินในส่วนของราชการมาสมทบจ่ายคืนกรณีนี้ได้ ขณะเดียวกันทางสมาชิกได้ตรวจสอบทางเว็บไซด์ www.aombun1bath.com พบว่า
ในเดือน ก.พ.62 มีสมาชิกเสียชีวิต 1 ราย
แต่ทางคณะกรรมการได้แจ้งขอเบิกจำนวน 3 ราย
โดยมีการเบิกจ่ายเงินค่าสวัสดิการปลงศพจำนวน 45,000 บาท ในเดือน พ.ค.62
พบข้อมูลการเงินรายจ่ายอื่นๆ 53,990 บาท ซึ่งถือว่าผิดปกติ และเดือน ก.ค.62 จำนวน 28 ราย แต่ความจริงเสียชีวิตก่อนวันที่ที่ระบุ และอายุสมาชิกไม่ถูกต้อง
ขณะนี้มีชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด
212 คน โดยมียอดจำนวนเงินออมที่ต้องการรับคือ จำนวน 482,820 บาท โดยทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับเรื่องไว้
และจะได้เรียกตัวทางผู้ถูกกล่าวหามาทำการสอบสวนตามกฎหมายต่อไป
สำหรับในเรื่องนี้
แหล่งข่าวได้ระบุว่า ทางกองทุนได้มีการปรับเปลี่ยนระเบียบการจ่ายเงินดังกล่าว
ตั้งแต่ปี 2553
โดยเป็นมติร่วมกันของทางคณะกรรมการกองทุน ต่อมานายสอง ต๊ะเวที ได้เข้ามาเป็นประธานกองทุนเมื่อปี 2559 โดยทางสมาชิกได้มีการร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอมาแล้วครั้งหนึ่ง
ซึ่งทางนายสอง ได้มีนำเอกสารต่างๆไปชี้แจงให้กับทางสมาชิกได้รับทราบแล้ว
แต่ก็ยังมีการร้องเรียนเรื่อยมา จนกระทั่งไปสู่การแจ้งความดังกล่าว
ลานนาโพสต์ได้ติดต่อสอบถามไปยังนายสอง
ต๊ะเวที ได้รับการเปิดเผยว่า ตนเองได้ปฏิบัติตามระเบียบของกองทุนฯ พร้อมทั้งมีเอกสารหลักฐานในการดำเนินการทุกอย่างครบถ้วนพร้อมจะมอบให้ทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องดำเนินการไปขั้นตอนของกฎหมาย
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1250 วันที่ 29 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม 2562)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น