
ตึกๆ…ตึก เสียงกระตุกกี่ทอที่คอยถักทอเส้นใยสู่ผืนผ้า
บทเพลงแห่งกี่ทอบรรเลงจากอดีตสู่ปัจจุบันจนฝังรากเหง้าเป็นภูมิปัญญาอยู่คู่ชาวไทย
ผ้า
เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิตของมนุษย์ นอกจาก อาหาร ที่อยู่อาศัย
และยารักษาโรค จากหลักฐานที่ปรากฏในจดหมายเหตุและพงศาวดารครั้งสมัยสุโขทัย อยุธยา
และรัตนโกสินทร์ แสดงให้เห็นว่าผ้าทอนั้นอยู่คู่กับคนไทยมาแต่โบราณกาล…..
ศูนย์การเรียนรู้การผลิตผ้าทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กลุ่มชุมชนผ้าฝ้ายปั่นมือย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเดา (ตูบแก้วมา)ศูนย์การเรียนรู้ที่8 ของโครงการ “ฝ้ายแกมไหม” ตั้งอยู่ที่บ้านนาเดา ต.เสริมซ้าย อ.เสริมงาม
จ.ลำปาง โดยมีคุณจันทร์คำ แก้วมาเป็นผู้นำกลุ่ม จุดเด่นของตูบแก้วมานั้นอยู่ที่การบริหารจัดการที่เริ่มต้นจากฐานของครอบครัวและขยายความร่วมมือไปยังสมาชิกในชุมชน
“ที่ใช้คำว่า
“ตูบ” เพราะเราอยู่ในชนบท ไม่มีงบอย่างใครเขา
ถ้าจะให้สร้างเป็นตึกเป็นคอนโดเหมือนในเมืองคงทำไม่ได้หรอก ส่วนคำว่า “แก้วมา”
ก็มาจากนามสุกลแม่นี่แหละ ฮ่าๆๆ ”
ก่อนจะมาเป็นศูนย์การเรียนรู้นั้น
คุณจันทร์คำ แก้วมา เล่าว่า ประมาณปี 2526 สมัยเจ้าคณะวัดนาเดามีงานพัฒนาชุมชนเข้ามา
จึงเชิญชวนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มรายได้ที่วัดนาเดาและเนื่องจากเมื่อ 200-300
ปีก่อน บรรพบุรุษของชาวบ้านนาเดาปลูกฝ้าย ปั่นฝ้ายทอเอง จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะรวมกลุ่มกันทอผ้าแต่ก็ได้รับรายได้ไม่ดีเท่าที่ควร
เพราะจำนวนคนมีมากแต่ผลตอบรับน้อย จนปี 2536 ก็มีอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางได้เข้ามาสนับสนุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และลวดลายให้ตรงกับความต้องการของตลาด
จนทำให้กลุ่มทอผ้าบ้านนาเดามีลายผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งก็คือ “ลายสร้อยดอกหมาก”
ต่อมาในปี 2545 ทางกลุ่มก็ได้เข้าร่วมการอบรมการย้อมสีจากธรรมชาติในโครงการ
“ฝ้ายแกมไหม” ที่อยู่ภายใต้การดูแลจากสถาบันและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนสามารถพัฒนามาเป็นศูนย์การเรียนรู้การผลิตเส้นใยธรรมชาติครบวงจร
ใช้ชื่อว่า “ตูบแก้วมา”
ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเดิมที่วัดนาเดาก็ยังมีการทอผ้าอยู่แต่ที่วัดนาเดาจะให้ไหมประดิษฐ์ในการทอ
ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือของตูบแก้วมา
เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากเส้นใยธรรมชาติของแท้ โดยทุกกรรมวิธีการผลิตฝ้ายจะอยู่ในความรับผิดชอบของชาวบ้านในกลุ่ม
เริ่มตั้งแต่กระบวนการปลูกฝ้าย ประกอบด้วยการปลูกฝ้ายพื้นเมือง พันธุ์แก่นแป
พันธุ์ขี้แมว พันธุ์น้อยและพันธุ์ตุ่น โดยมีการปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อง่ายต่อการเรียนรู้ของผู้สนใจ
ตั้งแต่รูปร่างของต้นฝ้ายแต่ละชนิด การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก จนถึงเทคนิคการเก็บเกี่ยวผลผลิต
ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้
เป็นศูนย์การเรียนรู้ครบวงจร ที่เริ่มกระบวนการผลิตทั้งหมดตั้งแต่เริ่มปลูกฝ้ายจนสำเร็จเสร็จออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอเพื่อเป็นการสร้างอาชีพเสริมแก่คนในชุมชน
และเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจ ปัจจุบันนี้ก็ตูบแก้วมาก็ได้รับความสนใจจากผู้คนและหน่วยงานต่างๆ
เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงประเทศญี่ปุ่นที่เป็นลูกค้ารายใหญ่
ณ ขณะนี้
“เสียงเพลงแห่งกี่ทอจะยังดำเนินต่อไปเพื่อชุมชนและครอบคัวของผู้ที่บรรเลงมัน”
เกษณี ตั๋นตุ้ย นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เกษณี ตั๋นตุ้ย นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1252 วันที่ 27 ธันวาคม 2562 - 9 มกราคม 2563)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น