วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562

เหมืองโปร่งใสทุกขั้นตอน ปูนรออนุญาต อุตสาหกรรมเคลียร์ใจเปิดเหมืองแม่ทะ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

อุตสาหกรรมจังหวัดตอบข้อข้องใจชาวบ้าน ต.บ้านบอม  เผยบริษัทปูนซิเมนต์ฯ ทำถูกทุกขั้นตอน ยันยังไม่ได้มีการอนุญาตประทานบัตรทั้ง 4 คำขอ ขณะที่ลานนาโพสต’ สำรวจพื้นที่ พบเหมืองไม่ได้มีเพียงแม่เมาะ เปิดยอดประทานบัตรเหมืองใน อ.แม่ทะ รวม 82 ประทานบัตร กินอาณาเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กว่า 2,300 ไร่ 

จากกรณีที่บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่ต. บ้านบอม อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ซึ่งต่อมาได้มีกลุ่มชาวบ้านออกมาคัดค้านการทำเหมืองแร่ดังกล่าว เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาในหมู่บ้านโดยเฉพาะเรื่องการตัดไม้ทำลายที่จะต้องสูญเสียไปมากเกือบ 1 พันไร่  รวมไปถึงการเกิดฝุ่นละออง และกลิ่น เนื่องจากพื้นที่ห่างจากหมู่บ้านไม่ถึง 10 กิโลเมตร  โดยได้มีการยื่นร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคัดค้านการขอสัมปทานเหมืองแร่ดังกล่าว  ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด สมาชิกวุฒิสภา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และ อบต.บ้านบอม เป็นต้น

โดยเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 62 ที่ผ่านมา  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง โดยนายสุภชัย ไวยาวัจมัย อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง   ได้ตอบกลับหนังสือเรื่องขอคัดค้านการขอประทานบัตร 4 แปลงของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย(ลำปาง) จำกัด มายังนายจลุนสายหนิ้ว ตัวแทนชาวบ้านอำเภอแม่ทะ  กรณีที่ชาวบ้านได้รวมรายชื่อกันคัดค้าน เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึง  และไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยฯ  จึงต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดผลกระทบต่อชุมชนที่หวงแหนและป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัย เช่นโรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจ และโรคอื่นๆ กับชาวบ้าน   จึงขอให้ยับยั้งและเปิดเวทีให้ชาวบ้าน ต.บ้านบอม และ ต.บ้านกิ่ว ให้รับทราบผลกระทบโดยทั่วกัน พร้อมกับแนบรายชื่อชาวบ้านที่ร่วมคัดค้านทั้งหมดมาด้วยกว่า 200 คน

ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ได้แจ้งว่า บริษัทปูนซิเมนต์ไทย(ลำปาง)จำกัด ได้ยื่นคำขอประทานบัตร 4 แปลง ในพื้นที่หมู่ 6 ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ทำเหมืองแร่ในประเภทที่ 3 ได้ดำเนินการตามมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร พ.ศ.2561 คือ การรังวัดกำหนดเขตพื้นที่คำขอประทานบัตร จำนวน 4 คำขอ ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 62 และได้ส่งผลการปฏิบัติงานรังวัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ  จากนั้นได้มีการปิดประกาศการขอประทานบัตรเหมืองแร่ ทั้ง 4 คำขอ ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ที่ทำการอำเภอแม่ทะ อบต.บ้านบอม  ที่ทำการกำนันตำบลบ้านบอม และที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ต.บ้านบอม  พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งหน่วยงานเพื่อขอปิดประกาศการขอประทานบัตร เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 62  เพื่อให้ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ยื่นคำร้องหลักฐานต่ออุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ปิดประกาศ แต่ไม่มีผู้ใดคัดค้าน

ต่อมาจึงได้ประสานผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ จ.ลำปาง จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของชุมชน เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ก.ย. 62  ที่ศาลาเอนกประสงค์ หมู่ 6 บ้านบอมพัฒนา ต.บ้านบอม  มีหนังสือแจ้งถึงนายอำเภอแม่ทะ ขอคัดรายชื่อราษฎรเพื่อจัดรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตร ซึ่งประชาชนต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในหมู่บ้านของชุมชนไม่น้อยกว่า 90 วัน  เพื่อแจ้งให้ประชาชนเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น  พร้อมกับทำการปิดประกาศเชิญเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นการขอประทานบัตรทั้ง 4 คำขอ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 62 และจัดทำหนังสือเชิญประชาชนที่อยู่ในรัศมี 1,000 เมตร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่มีผู้ใดคัดค้าน และแจ้งก่อนการรับฟังความคิดเห็น  ได้ประสานผู้ใหญ่บ้านให้ประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวชุมชน และประกาศผ่านเครือข่ายสารสนเทศ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนเริ่มรับฟังความคิดเห็น   หลังจากจัดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 6 ก.ย. 62 แล้ว  ได้มีการรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน โดยปิดประกาศที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และในพื้นที่ รวมทั้งส่งรายงานผลรับฟังความคิดเห็นให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่พิจารณาแล้ว

ในการดำเนินการคำขอประทานบัตร จะต้องมีการดำเนินการหลายขั้นตอน และต้องเป็นไปตามระเบียบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และอนุบัญญัติที่ออกตามความใน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ที่ไม่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560  พร้อมทั้งดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่างๆอย่างถูกต้องครบถ้วน  ผู้ขอประทานบัตรต้องมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และต้องได้รับความเห็นชอบในรายงานฯ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อน  ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรตามคำขอดังกล่าว

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูล พบว่า อ.แม่ทะ จ.ลำปางยังมีการจัดสร้างเหมืองหลายแห่ง ซึ่งก็ได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในชุมชนบริเวณเหมืองเช่นกัน


โดยข้อมูลจากกรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) แสดงให้เห็นว่า ในพื้นที่อ.แม่ทะ จ.ลำปาง มีการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ทั้งหมด 82 ประทานบัตร มีพื้นที่รวม 8,826 ไร่ โดยในปัจจุบัน มีประทานบัตรที่เปิดทำการอยู่ทั้งหมด 8 ประทานบัตร มีพื้นที่รวม 1,951 ไร่ โดยแบ่งเป็นประทานบัตรที่ขออนุญาตใช้พื้นที่ในต.แม่ทะ 22 ประทานบัตรต.หัวเสือ 22 ประทานบัตรต.สันดอนแก้ว 19 ประทานบัตรต.น้ำโจ้6 ประทานบัตรต.บ้านบอม5 ประทานบัตรต.ป่าตัน 2 ประทานบัตรและต.บ้านกิ่ว 1 ประทานบัตร

และเป็นเหมืองที่ขุดเจาะบอลเคลย์ 42 ประทานบัตร คิดเป็นร้อยละ 32 ถ่านหิน 26 ประทานบัตร ร้อยละ 20ดินขาว 23 ประทานบัตร ร้อยละ 18 หินเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง 22 ประทานบัตร ร้อยละ 17ดินเบา 6 ประทานบัตรร้อยละ5 ดินซีเมนต์ 5 ประทานบัตร ร้อยละ4 ดินเหนียวสี 4ประทานบัตร ร้อยละ 3  และฟอสเฟต 1 ประทานบัตร ร้อยละ1

ทั้งนี้ บริษัทที่ยื่นขอใช้พื้นที่มากที่สุด3 อันดับแรก คือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ใช้พื้นที่ 2,562 ไร่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ใช้พื้นที่ 1,684 ไร่ และบริษัท ลำปางเกาลีนไมนิ่ง จำกัด (มหาชน) ใช้พื้นที่ 472 ไร่ โดยในการทำเหมืองที่อ.แม่ทะ จ.ลำปาง นี้ ได้มีการใช้พื้นที่ของป่าแม่จาง ซึ่งเป็นป่าสงวนในเขตอ.แม่ทะ ไปทั้งหมด 2,337 ไร่


ลานนาโพสต์ได้สรุปพื้นที่การทำเหมืองสูงสุดใน จ.ลำปาง 5 อันดับ  จากข้อมูลประทานบัตรตามเว็บไซต์กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ณ วันที่ 11 ธ.ค.62 พบว่า อำเภอที่มีพื้นที่การทำเหมืองมากที่สุด คือ อ.แม่เมาะ จำนวน 29,656.76 ไร่ รองลงมาคือ อ.แจ้ห่ม 15,170.80 ไร่  อันดับ3 คือ อ.แม่ทะ 9,046.98 ไร่  อันดับ 4 อ.เมืองลำปาง 3,115.52 ไร่  และอันดับ 5 อ.งาว 2,421 ไร่  จะเห็นว่าถึงแม้พื้นที่ อ.แม่ทะไม่มีโรงงานใหญ่ แต่ก็เป็นแหล่งเหมืองแร่ที่อยู่จำนวนมากเช่นกัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1251 วันที่ 13 - 26 ธันวาคม 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์