แม้การกระทำของนายพีระพงศ์
อมรพิชญ์ หรือผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ Peerapong Amornpich ซึ่งได้โพสต์คลิปเหตุการณ์
ทุบกระจกรถหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่ขับรถเข้ามาจอดในที่จอดรถคนพิการ
บริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย
จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ฐานทำให้เสียทรัพย์
หากแต่ก็เป็นการกระทำที่สะท้อนถึงความอึดอัด
คับข้องใจของสังคมไทย ที่พบเห็นคนเห็นแก่ตัว ไร้จิตสำนึก
ที่มักขับรถเข้าไปจอดในที่จอดรถคนพิการเสมอ ทั้งที่มีมือ มีแขน มีขาปกติดี
และอย่างน้อยอาจเป็นจุดกระตุ้นเตือน ให้คนที่มักง่ายได้คิดบ้างว่า
จะต้องให้ความเคารพในสิทธิของคนพิการอย่างไร
นายพีระพงศ์
อมรพิชญ์ อธิบายว่า ก่อนก่อเหตุ เขาได้แจ้งให้ประชาสัมพันธ์ของห้าง
ประกาศให้เจ้าของรถ ออกมาเลื่อนรถ แต่เวลาผ่านไปนานนับชั่วโมง
ก็ไม่มีผู้ใดออกมาเลื่อนรถ จึงตัดสินใจทุบกระจกรถ จากนั้นได้ยืนคอยเจ้าของรถออกมา
และแจ้งว่ายินดีจ่ายค่าเสียหาย
ความคิด
ความรู้สึกในแบบนายพีระพงศ์นั้น เกิดขึ้นกับคนโดยทั่วไป แต่พวกเขาอาจได้แต่รู้สึก
แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรได้ ฝ่ายคนที่มักง่าย ก็เห็นว่าการแย่งชิงที่จอดรถคนพิการ
ก็ไม่เห็นจะมีใครมาว่ากล่าวอย่างไร หนักเข้าก็กลายเป็นความเคยชิน
ไม่เพียงที่จอดรถคนพิการ
ห้องน้ำคนพิการ สิ่งอำนวยความสะดวกที่รัฐจัดให้คนพิการก็ถูกคนไม่พิการเบียดเบียน
โดยเฉพาะที่จอดรถคนพิการที่จัดไว้ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ
บางครั้งเราอาจเห็นรถจอดไว้ทุกช่อง โดยไม่รู้ว่าเจ้าของรถพิการหรือไม่
ที่จอดรถคนพิการ คนชรา ตามสถานที่ต่างๆ จัดไว้ตามกฎกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ.2548 ว่าด้วยที่จอดรถ ซึ่งระบุว่าต้องกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคาร
สำหรับผู้พิการ หรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ.2548 หมวด 4
ว่าด้วยเรื่อง ที่จอดรถ ระบุให้สถานที่สาธารณะต่างๆ
เช่นห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ฯลฯ ต้องมี ที่จอดรถสำหรับผู้พิการ หรือทุพพลภาพ
และคนชรา ใกล้ทางเข้าออกอาคารให้มากที่สุด พร้อมติดตั้งสัญลักษณ์ของผู้พิการ ไว้อย่างชัดเจน
ข้อ 13 ที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา
ให้จัดไว้ใกล้ทางเข้าออกอาคารให้มากที่สุด มีลักษณะไม่ขนานกับทางเดินรถ
มีพื้นผิวเรียบ มีระดับเสมอกัน
และมีสัญลักษณ์รูปผู้พิการนั่งเก้าอี้ล้ออยู่บนพื้นที่ของที่จอดรถด้านที่ติดกับทางเดินรถ
ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับการจอดรถใน ที่จอดรถสำหรับคนพิการ
คนชรา เป็นเรื่องผิดกฏหมาย เนื่องจากเครื่องหมายที่จอดสำหรับคนพิการไม่ใช่เครื่องหมายห้ามจอด
แต่ถ้าหากเป็นที่ๆ ห้ามจอด มีป้ายหรือสัญลักษณ์จราจรห้ามจอดชัดเจนตาม
พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 57 หากฝ่าฝืนจอดก็จะมีความผิดตามกฎหมายมีโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
แต่ขณะนี้กำลังจะมีการพิจารณาว่า ควรตรากฎหมายเอาผิด
ผู้ที่ฝ่าฝืนจอดรถในที่จอดรถของผู้พิการหรือไม่
เรื่องคนปกติ จอดรถในที่จอดรถของคนพิการ
อาจไม่ใช่เรื่องต้องบังคับด้วยกฎหมาย และเราก็ไม่สนับสนุนให้ผู้ใด
ไปทุบทำลายรถของผู้ฝ่าฝืน เพราะคนเหล่านั้นแม้ไม่พิการทางกาย
แต่ก็นับว่าพิการทางใจ ที่สมควรประณามอย่างยิ่ง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น