
ขณะที่กระแสดราม่าเรื่อง
ลดใช้ถุงพลาสติกและขยะ ในประเทศไทยกำลังร้อนผ่าว
เพราะคนส่วนหนึ่งยังไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
จึงเป็นเรื่องน่าทึ่งกึ่งน่าตกใจ
เมื่อศูนย์ข่าวพลังงานได้นำสื่อมวลชนท้องถิ่นไปเยี่ยมชมศูนย์กำจัดขยะขนาดใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่
จังหวัดเชียงใหม่ รู้จักกันในชื่อ “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสานบ้านตาล"
โดย หจก. ธเนศการก่อสร้าง ตั้งอยู่บริเวณบ้านแม่ยุย ตําบลบ้านตาล อำเภอฮอด
จังหวัดเชียงใหม่ รับกำจัดขยะองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นในเชียงใหม่
รวมถึงขยะจากเทศบาลนครเชียงใหม่ เชียงรายและพะเยาบางส่วน รวมแล้ว ร่วม 1,000 ตันต่อวัน
สิ่งที่น่าสนใจ
ของศูนย์กำจัดขยะแห่งนี้ คือการจัดการขยะแบบผสมผสาน เน้นการสร้างประโยชน์ เพิ่มมูลค่าจากขยะกลับมาใช้ใหม่
ศูนย์กำจัดขยะแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมดกว่า
2,000 ไร่ ส่วนหนึ่งของพื้นที่เป็นภูเขาขยะที่รอการคัดแยกมหาศาล
ภายในแบ่งเป็นพื้นที่หลุมฝังกลบขยะมูลฝอยที่ปิดไปแล้วประมาณ 150 ไร่ หลุมฝังกลบขยะมูลฝอยที่ กำลังดำเนินการในปัจจุบันประมาณ 50 ไร่ และพื้นที่อาคารสำนักงาน โรงผลิตไฟฟ้า บ่อบำบัดน้ำเสียอีกประมาณ 125 ไร่ ส่วนที่เหลือกันไว้เป็นพื้นที่สำหรับรอรับขยะที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ขยะมูลฝอยกองรวมกันเป็นภูเขาเพื่อรอ
กำจัดด้วยกระบวนการฝังกลบ คลุมปากหลุมเป็นโดม
เพื่อนำเอาก๊าซที่เกิดขึ้นจากหลุมฝังกลบขยะไปใช้ในโรงงานผลิตไฟฟ้า
ขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่วนความร้อนทิ้งที่เหลือจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า
ผันไปใช้ในโรงงานลําไยอบแห้ง ที่สร้างไว้เพื่อบริการอบลำไยให้กับเกษตรกรในพื้นที่
ขณะเดียวกันก๊าซที่ได้บางส่วน
นำส่งก๊าซชีวภาพจากบ่อฝังกลบขยะมูลฝอยไปยังชุมชนเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในการหุงต้มของครัวเรือนในชุมชน
ผ่านโครงการ Biogas Network ซึ่ง กระทรวงพลังงาน
สนับสนุนงบประมาณ ร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือ ศูนย์กำจัดขยะ
และเทศบาลตำบลบ้านตาล สมทบอีกร้อยละ 30
เพื่อก่อสร้างสถานีเพิ่มแรงดัน เพื่อส่งจ่ายก๊าซชีวภาพ ตามท่อส่งก๊าซชีวภาพไปยังหมู่บ้าน
รอบพื้นที่ 200 ครัวเรือน
ส่วนน้ำชะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจะส่งเข้าระบบบำบัดแบบไร้อากาศ
บ่อผึ่ง และระเหยแห้งในพื้นที่
นอกจากนี้กำลังศึกษากระบวนการเร่งการหมักและย่อยสลายของกองขยะ มูลฝอย
และขุดรื้อร่อนกองขยะมูลฝอยเก่า แยกโลหะ แก้วนำไปขาย
เอาดินกลับมาใช้ฝังกลบขยะที่เข้ามาใหม่ ส่วนสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายแล้ว
จะนำมาใช้เป็นปุ๋ยปลูกพืชที่ให้ร่มเงาและความเขียวคืนสภาพแวดล้อม
สิ่งที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ส่งเข้าระบบการเผาไหม้โรงไฟฟ้าแบบพลังงานความร้อน
ในอนาคต
มีแผนจะนำก๊าซชีวภาพจากกองขยะมูลฝอยมาปรับปรุงคุณภาพ และอัดลงถัง
เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่
ขนส่งขยะมูลฝอยจากจุดขนถ่ายขยะเข้ามายังศูนย์กำจัดขยะ
กว่าจะมาเป็นวงจรของการกำจัดขยะที่เห็น
ผ่านการคัดค้านและต่อต้านมามากมาย เพียงเพราะคนทั่วไปต่างเข้าใจว่า ขยะ
คือสิ่งน่ารังเกียจ และสร้างมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม
และอาจเป็นเพราะความไม่มั่นใจในระบบการจัดการ กำจัดขยะที่ปลอดภัย
ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ของคนในพื้นที่ใกล้เคียงพิกัดที่ตั้งแหล่งกำจัดขยะก่อให้เกิดการต่อต้าน
และหลายโครงการต้องชะงักไป
ในส่วนของจังหวัดลำปางเองก็มีศูนย์จัดการขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร
องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง
ซึ่งได้รับอนุญาตจากจังหวัดลำปางให้เข้าประกอบกิจการในที่ดินของรัฐเนื้อที่ประมาณ 450 ไร่ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2552
จากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 695 ล้านบาท
นายเฉลิมพล มิ่งเชื้อ หัวหน้าฝ่ายสาธารณะภัยและสิ่งแวดล้อม
อบจ.ลำปาง เผยว่าศูนย์กำจัดขยะครบวงจรของ อบจ.ลำปาง
มีระบบการคัดแยกขยะมูลฝอยด้วยเครื่องจักรร่วมกับการใช้แรงงานคน เพื่อคัดแยกนำขยะรีไซเคิล
รวบรวมไว้ประมูลขายนำรายได้เข้ารัฐ
โดยเศษพลาสติกจะแยกไว้อัดก้อนรอขายเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse
Derived Fuel: RDF) ส่วนขยะเปียกจะลำเลียงไป
ยังระบบการหมักปุ๋ยชีวภาพ ส่งมอบให้ ท้องถิ่นที่ต้องการนำไปใช้เป็นปุ๋ย
แต่ไม่มีระบบการสร้าง ก๊าซชีวภาพ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงต่อการจัดการระบบที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้
อบจ.ลำปางมีแนวทางศึกษาเพื่อแปรรูปเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานความร้อน
ในรูปแบบของโรงไฟฟ้าขยะ เพื่อนำขยะ RDF มาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นไฟฟ้าในอนาคต
ซึ่งต้องรอศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการทำประชาพิจารณ์ตามขั้นตอน
“การกำจัดขยะที่ศูนย์ของ อบจ.ลำปาง ปัจจุบันเรา
มีรายได้จากการขายขยะรีไซเคิล นำเงินเข้ารัฐแล้วประมาณ 3
ล้านบาท นอกจากนี้เรายังแบ่งเก็บรายได้ค่าขนขยะ จากบริษัทเอกชน ตันละ 30 บาท เข้าเป็นเงินกองทุนฟื้นฟูพื้นที่และชุมชนรอบพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะ
ขณะนี้มีเงินราว 3 ล้านบาท
เอาไว้สำหรับชุมชนที่ขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน
แต่ขณะนี้ยังไม่มีการใช้จ่ายเงินส่วนนี้ ซึ่งในอนาคต
รายได้จากขยะก็จะกลับคืนสู่ชุมชน” นายเฉลิมพลกล่าว
จากข้อมูลของ ศูนย์กำจัดขยะที่เชียงใหม่และลำปาง
อาจมีข้อแตกต่างกัน ระหว่างศูนย์กำจัดขยะโดยธุรกิจเอกชน กับภาครัฐ
แต่ประเด็นที่น่าคิด คือ การจัดการขยะที่ดีมีรายได้ และสร้างประโยชน์
กลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชน หากหน่วยงานท้องถิ่นขนาดเล็กหรือวิสาหกิจชุมชน
กล้าจะลงทุน วางระบบการจัดการขยะขนาดเล็กที่ดี ช่วยลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้เข้าชุมชนดีกว่าควักเงินจ่ายค่าขนขยะ
เป็นเรื่องที่น่าสนใจ...พิจารณา
เรื่อง
ภาพ : ศชากานท์ แก้วแพร่
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น