
เรียกว่าเป็นความมหัศจรรย์
สุดขั้ว ระหว่างการสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย
กับสนามกีฬาจังหวัดลำปาง โรงพยาบาลใช้เวลา 10 วัน
ขณะที่สนามกีฬา ใช้เวลามา 7 ปีแล้ว ยังไม่เสร็จ
จนน่าสงสัยว่า อาจมีกรณีไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น
อย่างน้อยคือการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) ที่พบว่า เบิกเงินไป 27
ล้านบาท แต่พบรายการซื้อวัสดุจริงเพียง 4 ล้านบาท
เงินส่วนต่างหายไปไหน ไปเข้ากระเป่าใคร ?
ไม่มีคำตอบ
มีแต่คำอธิบายเรื่องการอนุมัติงบ ตัดลดงบประมาณ
ปัญหาการเบิกจ่าย กับอนุสาวรีย์สนามกีฬา ที่ยังเรียกว่า
สนามกีฬาได้ไม่เต็มคำ เพราะอัฒจันทร์ ก็กลายเป็นอัศจรรย์สร้างไม่เสร็จ
ใช้งานไม่ได้ ไม่มีลู่วิ่ง ไม่มีสนามฟุตบอล รอความหวังครั้งใหม่ที่ว่า
ได้รับงบเพิ่มเติมมาแล้ว ขอเวลาอีก 5 เดือน
การก่อสร้างสนามกีฬาครั้งนี้
ศูนย์สร้างทางลำปางเป็นแม่งานใหญ่ คู่ขนานไปกับสนามกีฬาลำปาง ศูนย์สร้างทางลำปาง
ยังรับผิดชอบโครงการสร้างสนามกีฬาที่จังหวัดสกลนคร ที่มีปัญหาไม่แตกต่างกันด้วย
สนามกีฬาสกลนคร ถูก
สตง.ตรวจสอบพบปัญหาการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างสูงกว่าข้อเท็จจริง
การก่อสร้างไม่เป็นไปตามรูปแบบ มีการเบิกจ่ายค่าจ้างแรงงานเท็จ
มีการแบ่งซื้อแบ่งจ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งราคา และเอื้อประโยชน์กับผู้เสนอราคา
นอกจากนี้ยังพบธุรกรรมการเงินที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ขายสินค้ากับผู้มีอำนาจอนุมัติด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสนามกีฬาอย่างน้อย
2
สนาม คือที่ลำปางและสกลนคร ที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์สร้างทางลำปาง
ไม่ใช่เรื่องงบประมาณ หรือระบบขั้นตอนเบิกจ่ายของราชการ
แต่มันคืออภินิหารของการทุจริต คอรัปชั่น
ที่ไม่มีใครสามารถลากตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้
ความเป็นจริง
ในห้วงเวลาเดียวกับที่ สตง.ตรวจพบความผิดปกติของการสร้างสนามกีฬาทั้งที่ลำปาง
และสกลนคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งในเวลานั้น เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี
และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ให้ความสนใจอยู่
และทำท่าขึงขังที่จะให้มีการตรวจสอบกรณีทุจริตเรื่องนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป
ทุกสิ่งก็หายไปกับสายลม
สนามกีฬาลำปาง กับความหวังครั้งใหม่ จะสร้างให้เสร็จใน 5 เดือนก็ว่ากันไป แต่ผู้บริหารศูนย์สร้างทางลำปาง
หรือใครก็ตามที่มีอำนาจอนุมัติ จัดซื้อ จัดจ้าง ในเวลานั้น
ที่ทำให้สนามกีฬากลายเป็นสิ่งก่อสร้างไร้ค่า ไร้ประโยชน์มาถึงวันนี้
จะมีใครตามตัวมารับผิดชอบได้บ้างหรือไม่
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น