วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

น้ำพุรถไฟ 4 เจน ความสวยงามที่แตกต่าง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

สถานีรถไฟนครลำปาง ตั้งอยู่ที่ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2458 และเปิดใช้งานเมื่อครั้งรถไฟหลวงขบวนแรกเดินถึงจังหวัดลำปางในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 และหลังจากนั้นไม่นานเมื่อราวปี 2500-2510 ก็ได้มีการสร้างน้ำพุวงเวียนขึ้นมาตรงหน้าสถานีรถไฟแห่งนี้ สิ่งสองสิ่งนี้สร้างอยู่คู่กันมาช้านานจนจะเรียกว่าคู่ขวัญก็ไม่ปาน เพราะเวลาพูดถึงน้ำพุวงเวียนก็จะทำให้นึกถึงสถานีรถไฟ และพอพูดถึงสถานีรถไฟก็ชวนให้นึกถึงน้ำพุวงเวียนอยู่อย่างนี้เสียไม่ได้ (อนันต์ กิตติวรากูล, มปป, [ออนไลน์])  



ต่อมาในปี 2530 วงเวียนหน้าสถานีรถไฟถูกเปลี่ยนเป็นพีระมิดกระจกสะท้อนกลับหัวสะท้อนรูปเกือกม้า สร้างความชินตาให้กับชาวลำปางและนักท่องเที่ยว ที่มักจะเห็นความแปลกของเจ้าพีระมิดกลับหัวดังกล่าว 


จนเวลาล่วงเลยผ่านไป 24 ปี   ก็ได้มีการปรับโฉมวงเวียนหน้าสถานีรถไฟ เป็นน้ำพุอีกครั้งในปี 2554 ในสมัยของ ดร.นิมิตร จิวะสันติการ เป็นนายกเทศมนตรีนครลำปาง  โดยยึดความเชื่อตามหลักฮวงจุ้ยบ้านเมือง ปราชญ์จีนโบราณถือว่ารถไฟเป็นของร้อน การเจอกับกระจกของพีระมิดหัวกลับสะท้อนรูปเกือกม้า ทำให้เกิดพลังงานร้อน ตามความเชื่อจึงต้องดับด้วยของเย็น จึงเป็นที่มาของการสร้างน้ำพุที่เปิดโล่งให้ลมหมุนเวียน เมื่อหยิน-หยาง ลงตัวจึงเกิดเป็นพลังสมดุลธรรมชาติ เพราะมีลมจึงมีพลัง สุขภาพ สันติจึงบังเกิด มีน้ำจึงมีทรัพย์ กินอยู่ อุดมสมบูรณ์ การปรับโฉมครั้งนี้เป็นเหมือนการเปิดประตูบ้าน เพราะสถานีรถไฟเปรียบเหมือนประตูด่านแรกที่นักท่องเที่ยวจะต้องผ่าน ทำให้เห็นความงามของเหล่าอาคารพาณิชย์ที่เก่าแก่สวยงาม และวิถีชีวิตโดยรอบ เมื่อมองจากตัวอาคารสถานีรถไฟออกมาก็จะเห็นถนนและอาคารที่สวยงาม และเมื่อมองมาจากบริเวณวงเวียนก็จะเห็นตัวอาคารเช่นกัน เป็นสิ่งก่อสร้างที่สวยงามสะดุดตา


การปรับโฉมน้ำพุในครั้งนั้นของ ดร.นิมิตร ได้มีการทำประชาพิจารณ์ ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านในย่านนั้นและประชาชนบริเวณนั้น เห็นชอบให้ปรับโฉมเพื่อเปิดภูมิทัศน์โดยรอบ โดยมีการออกแบบให้น้ำพุที่มีเหล่าช้างน้อยมานั่งพ่นน้ำ สร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้พบเห็นอย่างมาก (ข้อมูล:กลุ่มนครลำปาง, 2562, ออนไลน์)

น้ำพุช้างน้อยพ่นน้ำอยู่คู่กับวิถีสัญจรบนถนนของชาวลำปางมาช้านาน แต่น่าเสียดายที่ช่วงหลังบริเวณนั้นเกิดอุบัติเหตุบ่อย เนื่องจากมีแสงสว่างไม่เพียงพอ

จนกระทั่งปลายปี 2562  น้ำพุก็ได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งในยุคของ ดร.กิตติภูมิ นามวงค์ เป็นนายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้นำแนวคิดที่อยากจะชูผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของนครลำปางอย่าง “ชามตราไก่” พร้อมทั้งติดตั้งประติมากรรมลายฉลุ “ม้าวิ่ง” จำนวน 5 ตัว ประดับด้วยแสงไฟและน้ำพุขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม โดดเด่น เป็นแลนด์มาร์คที่น่าประทับใจอีกหนึ่งแห่งของจังหวัดลำปาง สมกับความเป็นเมืองน่าอยู่และสร้างน้ำพุแบบใหม่ที่ให้แสงสว่างได้ดีกว่า ซึ่งเป็นน้ำพุม้าที่มีฐานเป็นถ้วยตราไก่สำเร็จในต้นปี 2563



น้ำพุหน้าสถานีรถไฟเป็นที่สะดุดตาทุกครั้งเมื่อขับรถผ่านบริเวณนั้น เชื่อว่าประติมากรรมชิ้นนี้จะสร้างความผูกพันแก่ชาวลำปางไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ละแวกนั้น ในการนี้ลานนาโพสต์จึงไปสอบถามความรู้สึกของประชาชนแถวนั้นว่ารู้สึกอย่างไร

เสียงจากใจคนบ้านใกล้
จากการสอบถามแม่ค้าขายดอกไม้แถวร้านดามาเรียมมานานกว่าสิบปี คุณน้าก็เล่าว่า “ขายดอกไม้อยู่ตรงนี้จนลูกเรียนจบสองคนก็เห็นน้ำพุหน้าสถานีรถไฟนี้สร้างมาหลายรุ่นแล้ว รุ่นก่อนเป็นช้าง รุ่นนี้เป็นม้าแล้วมีถ้วยตราไก่รองอยู่ข้างล่างเพิ่มความสว่าง ลดอุบัติเหตุ ถ้าถามว่าชอบแบบไหน ก็ชอบอันปัจจุบันนี้แหละ สว่างดี”

คุณยายนฤมล พึ่งพา อายุ 70 กว่าปี  กล่าวว่า “เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยก่อนตอนเย็นๆ จะมีนํ้าพุเปลี่ยนสีเป็นของใหม่สําหรับยุคนั้นแล้วจะมีทีวีหน้าสถานีให้ดูฟรีคนนั่งดูเต็มไปหมด แต่วงเวียนก็มีการบูรณะเปลี่ยนใหม่เรื่อยๆ”  พอถามว่าชอบแบบไหน คุณยายก็ตอบว่า “ยายชอบทุกแบบจ้า”


จากที่ผ่านมาวงเวียนหน้าสถานีรถไฟนครลำปางมีการรื้อถอนเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันมาถึงรุ่นที่ 4 แล้ว และไม่อาจจะคาดเดาได้ว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่และจะเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบไหน อันนี้ก็ต้องมาติดตามกันต่อไป

เกษณี ตั๋นตุ้ย นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตรและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง





Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์