
“เสา 8 ต้น จาวล้านนาเปิ้นเจื้อว่า ดี บุญเรืองก้ำฟ้า บ้านเสานัก
คู่บุญลำปาง นับผ่อแล้วตกอยู่ที่เสา 8 ต้นนี้แล”
ที่ใจกลางย่านเมืองเก่าท่ามะโอ ยังมีบ้านไม้สักโบราณหลังหนึ่ง
อายุรวม 124 ปี มีต้นสารภีเคียงคู่
ว่ากันว่าต้นสารภีต้นนี้เกิดก่อนจะมีการสร้างบ้าน 30 ปี
ไม่อาจจะรู้ได้เลยว่ามันคือเรื่องบังเอิญหรือความตั้งใจที่ต้นไม้ต้นนี้จงใจเกิดมาก่อนเพื่อรอเวลาที่จะได้แผ่ร่มเงาอยู่เคียงคู่บ้านหลังงามหรือไม่
บ้านหลังนี้สร้างอยู่ท่ามกลางอารยธรรมล้านนา โดยฝีมือของชาวพม่า
จึงทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างศิลปะพม่าและล้านนาขึ้นอย่างละเมียดละไม (
หลังคาและโครงสร้างเป็นแบบล้านนา ส่วนพาไลย์ (ระเบียง) รอบบ้านแสดงความเป็นพม่า )
และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น
กลายเป็นบ้านไม้สักทรงไทยที่มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย ซึ่งบ้านดังกล่าวก็คือ
“บ้านเสานัก” นั่นเอง
บ้านเสานัก สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2438 โดยคหบดีพ่อค้าชื่อ “หม่องจันโอง”
ที่เป็นชาวพม่า (ต้นตระกูล จันทรวิโรจน์) บ้านเสานัก
มีชื่อที่แปลเป็นภาษาไทยภาคกลางจะหมายความว่า บ้านเสามาก ซึ่งชื่อนี้เป็นชื่อที่
หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ตั้งชื่อให้
เพราะว่าเป็นบ้านเรือนไม้สักที่มีเสาจำนวนมากถึง 116 ต้น โดยเนื้อที่ของบ้านมีประมาณ
3 ไร่ ประกอบด้วย เรือนใหญ่ซึ่งเป็นเรือนหมู่ โรงรถ และยุ้งข้าว
แต่เดิมบ้านเสานักเป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
และใช้เป็นสถานที่จัดขันโตกและงานพิธีมงคล เรื่องราวของบ้านเสานักถูกเล่าขานจากความโดดเด่นที่ประจักษ์ให้เห็น
จนทำให้อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง
ได้มาศึกษาและถ่ายภาพบ้านเสานักเพื่อนำไปอ้างอิงเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของทางล้านนา
นอกจากนี้บ้านเสานักยังกลายเป็นสถานที่ดูงานของนักศึกษาสถาปัตยกรรมจากสถาบันต่างๆ จนทำให้ชื่อเสียงของบ้านเสานักแพร่สะพัดไปในหมู่สถาปนิกและนักออกแบบทั่วประเทศ
กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2539 สยามสมาคมได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเสานักไว้ในหนังสือ
Heritage Homes of Thailand รวมทั้งมีนิตยสารจากต่างประเทศหลายฉบับนำเรื่องราวและประวัติของบ้านเสานักไปเผยแพร่ทั่วโลก
ปัจจุบันบ้านเสานัก ตกทอดมาถึงทายาทรุ่นที่
5
ของตระกูลจันทรวิโรจน์ ซึ่งก็คือคุณพิมพ์จักร ชิวารักษ์ โดยเปิดบ้านเสานักเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดลำปาง
ภายในตัวบ้านจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณ เช่น แหย่งช้างของเจ้าหลวงลำปาง
หีบโบราณ เครื่องอัดกลีบผ้าม่วง กำปั่นเหล็ก เครื่องเขิน เครื่องเงิน
ที่ผนังติดภาพเจ้าดารารัศมี และภาพของเจ้าของบ้านรุ่นแรก ในส่วนของภายนอกบริเวณใกล้เคียงกับตัวบ้านยังมีถุข้าว(ยุ้งข้าว)
ให้ชมอีกด้วย (Museum Thailand. มปป. [ออนไลน์])
บ้านเสานัก
เวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของจังหวัดลำปางเหมือนหยุดอยู่ที่สถานที่แห่งนี้
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ก็ยังคงความงดงาม ตราตรึงผู้พบเห็นได้เสมอ ด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาที่ผสมผสานกับศิลปะพม่าอย่างวิจิตรบรรจง
และนอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นจากจำนวนเสาบ้านที่มีมากถึง 116
ต้น ซึ่งจำนวนเสาทั้ง 116 ต้นนี้
หากนำมาเชื่อมโยงกับความเชื่อล้านนาตามตำราจัดเสาเรือน จำนวนเสาของบ้านเสานัก จะตกที่เสา
8 ต้น บุญเรืองก้ำฟ้า ดี (บุญเรืองค้ำฟ้า ดี)
ซึ่งมีความหมายว่า ความดีอันรุ่งเรืองยาวนานจนไม่มีกำหนด
และนี่คงเป็นเหตุผลที่บ้านเสานักถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญในลำปางที่มีความเจริญรุ่งเรืองจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับตำราจัดเสาเรือนของล้านนา
ตามตำราจัดเสาเรือนให้ความหมายของเสาเฮือนแต่ละต้น
ไว้ว่า
เสา 1 ต้น น้ำบ่อแก้วกิ๋นเย็น
ดี
เสา 2 ต้น ผีเข็นเข้าป่าช้า
บ่ดี
เสา 3 ต้น นั่งอยู่ถ้ากองดาย
ปานกลาง
เสา 4 ต้น หยิบถุงลายใส่เงินย่อย
ปานกลาง
เสา 5 ต้น จ่อมอ่อยเสียผี
บ่ดี
เสา 6 ต้น เศรษฐีขายลูก
บ่ดี
เสา 7 ต้น ผูกไว้แทนเมือง
ดี
เสา 8 ต้น บุญเรืองก้ำฟ้า
ดี
เสา 9 ต้น แสนโศกถ้ามาฮอม
บ่ดี
เสา 10
ต้น ฮิฮอมได้ก่ตึงยาก บ่ดี
เสา 11 ต้น มีโชคมากท่านลือชา
ดี
เสา 12 ต้น ศัตรูถ้าคอยโจร
บ่ดี
* หากมีมีเสาเฮือน เกินต้นที่ 12
ไปให้นับต้นที่ 13 เป็นต้นที่ 1 ใหม่ หมายถึง ต้นที่ 13 คือ ต้นที่ 1 นั่นเอง
(นายตัวดี
ท.ทิวเทือกเขา. 2555. [ออนไลน์])
เกษณี ตั๋นตุ้ย นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตรและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เอกสารอ้างอิง : https://www.museumthailand.com/th/3110/storytelling/%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81/
,
http://www.kasetsomboon.org/oldweb/index.php/th/joomla-license/2009-05-24-10-30-14/2009-06-06-21-32-16/287-2009-08-08-08-18-02.html
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น