วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

มายาคติว่าด้วยสื่อละเมิดจริยธรรม

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

เหตุใดคำเตือนถึงสื่อที่ละเมิดจริยธรรม จึงคล้ายย่ำรอยเท้าลงไปบนผืนทราย สื่อที่ละเมิดก็ยังคงละเมิดต่อไป วนเวียนเช่นนี้ไม่รู้จบสิ้น

มีความจริงบางด้านที่เราอาจมองข้ามไป มีความจริงอีกบางด้านที่เราอาจไม่แฟร์ สำหรับคนทำงานสื่อ ที่มีความตั้งใจจริง เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้ได้ภาพ ได้ข่าวที่ดีที่สุด เพื่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน แม้ความเป็นจริง หากพวกเขาที่อยู่แนวหน้า ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ก็แทบไม่มีหลักประกันใดๆเลยสำหรับคนที่อยู่ข้างหลัง

เพราะการแข่งขันสูง เพราะเรทติ้งเป็นตัววัดความสำเร็จ คนตายได้ แต่เรทติ้งต้องไม่ตาย ผู้บริหารข่าว หรือนักข่าวภาคสนาม ที่เปรียบเสมือนคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมข่าว จึงต้องผลิตข่าวจำนวนมาก เพื่อช่วงชิงพื้นที่หน้าจอ และคิดถึงข่าวที่ขายได้ มากกว่าข่าวที่ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบ

ไม่ใช่เรื่องยาก ที่เราจะด่าสถานีข่าวสัก 2-3 ช่อง ที่นักวิชาการ องค์กรวิชาชีพสื่อที่มีกรรมการสังกัดอยู่ในสถานีที่ละเมิดจริยธรรมนั้นเอง ต่างวิพากษ์ วิจารณ์ ต่างมีคำเตือนถึงเพื่อนสื่อให้ระมัดระวังในการทำงาน แต่เสียงเหล่านั้นแผ่วเบาอย่างยิ่ง เพราะถึงสิ้นเดือน เขาต้องรับเงินเดือนจากสถานี ไม่ใช่นักวิชาการ หรือองค์กรวิชาชีพสื่อ

สังคมโทษสื่อ สื่อก็อาจบอกว่า ก็เพราะสังคมนิยมบริโภคข่าวสารเช่นนี้เอง เขาถึงต้องผลิตข่าวเพื่อตอบสนองความพึงพอใจ และสำคัญที่สุดคือเรทติ้ง ที่จะมีผลต่อโบนัส และการปรับเงินเดือนประจำปี

เราอาจคาดหวังในสังคมอุดมคติสูงเกินไป เราอาจคาดหวังสถาบันสื่อ ซึ่งต้องนับว่าเป็นองค์กรธุรกิจที่มีกำไร ขาดทุนเป็นตัววัดความสำเร็จ มากเกินไป แต่เราอาจลืมที่จะบอกตัวเอง บอกสังคมว่า หากพฤติกรรมการรับสารของคุณเปลี่ยนแปลง ลงโทษพวกเขา ด้วยมาตรการทางสังคม ไม่ดู ไม่ฟัง ต่อไป สื่อก็จะกลับมาตอบโจทย์ ความเป็นสื่อคุณภาพ สื่อน้ำดีได้

เข้าใจสังคม แต่สังคมก็ควรเข้าใจสื่อบ้าง เป็นกำลังใจให้พวกเขาได้ทำหน้าที่ต่อไป ใช้เมตตาธรรมช่วยให้พวกเขาได้เปลี่ยนแปลง แทนที่จะเอาแต่ก่นด่า ซึ่งไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์