วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563

อสม.ปราการด่านแรก ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง กรองคนกลับถิ่นกว่า 14,000 ชีวิต

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์
การปฏิบัติหน้าที่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ หลายคนมีความเหน็ดเหนื่อยและย่อท้อไปบ้าง แต่ก็ต้องลุกขึ้นสู้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อทั่วประเทศยังคงมีประชาชนเคลื่อนไหวตัวเองอยู่ เพื่อกลับสู่ภูมิลำเนาบ้านเกิด หลังจากที่ธุรกิจหลายๆอย่างต้องปิดตัวลงชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  โดยคนที่ตั้งรับอยู่ภูมิลำเนา ก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าบุคคลเหล่านั้น เดินทางไปที่ใดมาแล้วบ้าง จะมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหนในการกลับมาบ้านเกิด

สถานการณ์ใน จ.ลำปาง รายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง วันที่ 10 เม.ย.63  พบผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันอยู่ที่ 4 ราย เป็นครอบครัวเดียวกันทั้งหมด  ซึ่งมีผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคสะสมแล้วจำนวน 97 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 4 ราย  ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่กลุ่มเสี่ยง ยอดสะสมอยู่ที่ 15,122 ราย   กักตัวเองที่บ้าน 5,771 ราย พ้นระยะกักตัวแล้ว 9,351 ราย

จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้คนจากต่างถิ่น กลับเข้ามาใน จ.ลำปางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงปลายเดือน มี.ค. 63 ที่เมืองหลวง หรือ กรุงเทพมหานคร เริ่มมีคำสั่งปิดกิจการต่างๆเป็นการชั่วคราว เพราะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  กลุ่มแรงงานบางส่วนที่ไม่มีงานทำ จึงต้องเดินทางกลับมาภูมิลำเนา  ทำให้จำนวนตัวเลขคนเดินทางเข้ามาใน จ.ลำปาง เพิ่มขึ้นจาก 1,000 คน เป็น 10,000 คน ในช่วงเวลาไม่กี่วัน  กระจายอยู่ในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ

และกลุ่มคนที่ต้องพบเจอกับผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงเป็นปราการด่านแรก ผู้ที่ต้องสอดส่องหาคนทำงานต่างถิ่นที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ผู้ที่ต้องเข้าไปสำรวจคัดกรองบุคคลเหล่านี้  พร้อมกับกำชับให้มีการกักตัว 14 วัน เพื่อความปลอดภัยต่อตนเอง ชุมชน และสังคม  นั่นคือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. นั่นเอง    ดังนั้น อสม.จึงเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงไม่น้อย เพราะเชื้อโรคร้ายนี้ไม่ได้ออกอาการทันที แม้แต่คนแข็งแรงเป็นปกติก็สามารถติดเชื้อได้   อสม.ที่เข้าไปสำรวจข้อมูลก็ต้องมีการป้องกันตัวเองอย่างดีในระดับหนึ่ง

บรรดา อสม.ของแต่ละหมู่บ้าน จะมีการเดินสายเคาะประตูเข้าตามบ้านแต่ละหลัง ทำการสำรวจจำนวนผู้อาศัย และวัดไข้บุคคลภายในบ้าน มีการแจกสติกเกอร์ติดหน้าบ้านว่าบ้านหลังนี้ปลอดผู้ติดเชื้อโควิด-19  รายงานไปยังเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคของท้องถิ่นในพื้นที่ให้ทราบทุกกระบวนการ เพื่อรวบรวมข้อมูลเหล่านี้รายงานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง และส่งให้กับจังหวัดรวบรวมต่อไป

นางอำพรรณ อมรไตรศรี ประธาน อสม.ชุมชนรถไฟนครลำปาง  ได้เล่าเรื่องราวการทำงานของ อสม.ในชุมชนว่า  อสม. 1 คนนั้นจะต้องรับผิดชอบบ้านเรือนอยู่ประมาณ 25-30 หลังคาเรือน โดยต้องสอดส่องดูแลในโซนที่ตัวเองรับผิดชอบว่าบ้านหลังนี้อยู่กันกี่คน ใครประกอบอาชีพอะไร  มีผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงหรือไม่  รวมทั้งมีการตรวจสอบโดยการเคาะประตูบ้านแต่ละหลัง อสม.ต้องป้องกันตัวเองโดยการเว้นระยะห่าง 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัย เมื่อเสร็จภารกิจก็จะรีบล้างมือด้วยน้ำสบู่ และ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า

นอกจากนั้นจะมีการติดตามเจ้าบ้านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ แนะนำให้ปฏิบัติตามระเบียบมาตรการจังหวัดลำปาง  อสม.ก็จะคอยสอดส่องและกำชับให้เขาปฏิบัติมีการบอกให้คนในบ้านดูแลกัน คนที่ต้องกักตัว 14  วันก็จะต้องปฏิบัติ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากกองสาธารณสุข เทศบาลนครลำปาง ร่วมกับ อสสม. สับเปลี่ยนเข้าไปเยี่ยมบ้าน  ส่วนใหญ่ชาวบ้านให้ความร่วมมืออย่างดี  ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีการรายงานไปยังเจ้าหน้าที่ดูแลควบคุมโรคติดต่อและไม่ติดต่อ กองสาธารณสุข เทศบาลนครลำปาง  และเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ร่วมกับ อสม.ด้วย

ด้านนายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ สาธารณสุขจังหวัดลำปาง กล่าวว่า การคัดกรองบุคคลที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงนั้น เป็นการทำงานของ อสม.เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยร่วมกับผู้นำชุมชนที่ต้องช่วยกันสอดส่อง ซึ่ง จ.ลำปาง อสม.มีความเข้มแข็งมาก และทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าอาจจะมีบุคคลที่ตกหล่นไปบ้าง แต่เชื่อว่ามีน้อยมาก โดยเฉพาะ อสม.ในพื้นที่ชุมชนชนบท ที่คัดกรองคนอย่างเข้มข้น 

ขอขอบคุณ อสม. ชรบ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกภาคส่วนที่ช่วยกันเฝ้าระวังผู้คนที่กลับมาจากกลับจากพื้นที่เสี่ยง ขอความร่วมมือกับประชาชนทุกคน ตอนนี้เราต้องเหนื่อยกันหมด แต่ขอว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงลง  เพราะโควิด-19 ไม่ได้อยู่ในระยะสั้นอาจจะ 6 เดือนหรือมากกว่านั้น เราต้องปรับตัวให้เข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ให้ได้นายแพทย์สาธารณสุข กล่าว

ขอบคุณภาพจาก อสม.ชุมชนรถไฟนครลำปาง ต.สบตุ๋ย , อสม.ชุมชนพรประสิทธิ์ ต.บ่อแฮ้ว อ.เมืองลำปาง 


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์