วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

คิดถึง ณ ลำปาง (2) “ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุดอนเต้า”

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ต้องยอมรับว่าถึงวันนี้ ชีวิตเรายังสลัดมหันตภัยร้าย “โควิด-19” ไม่หลุด ถึงจะไม่อยู่ในภาวะฝุ่นตลบเหมือนช่วงที่ผ่านมาก็ตาม เห็นได้จากมาตรการผ่อนปรนจากทางรัฐบาลในหลายเรื่อง ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ยังคงมองว่า การดำเนินชีวิตที่จำเป็นต้องตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัย โดยมีคีย์เวิรด์ “วิถีชีวิตใหม่” หรือ NEW NORMAL ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงกันในวงกว้าง

เอาจริงๆ เรื่องของ “วิถีการดำเนินชีวิต” จริงๆ มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอยู่แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ แต่สำหรับ “วิถีชีวิตใหม่” เป็นการปรับแนวทางที่หลายๆ คนจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิต ไม่เฉพาะในเรื่องไลฟ์สไตล์ แต่ยังรวมไปถึงด้านธุรกิจและบริการต่างๆ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การเรียนออนไลน์ การเปิดระบบลงทะเบียนออนไลน์ การใช้ระบบซื้อขายและบริการทางออนไลน์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นวิถีใหม่ในการดำรงชีวิต ซึ่งเมื่อเราจำต้องปฏิบัติกันเป็นปกติต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่งจนเกิดเป็นความพอใจ ในที่สุดทั้งหมดนี้ก็ได้กลายเป็น New Normal ในสังคมไปโดยปริยาย 
แต่ไม่ว่าวิถีชีวิตจะถูกปรับเปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดก็ตาม สำหรับการยึดปฏิบัติตามหลัก ขนบธรรมประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อ ของผู้คนในชุมชนต่างๆ จะยังคงมีสืบทอดมาและต่อไป แม้ว่าวิธีการปฏิบัติหรือบริบทอาจจะถูกปรับเปลี่ยนไปบ้าง...

ยกตัวอย่าง “จังหวัดลำปาง” เมืองที่ได้ซึ่งได้มี “พระธาตุ” จำนวนมากมายหลายแห่ง จึงมีการจัดพิธีสมโภชอย่างต่อเนื่อง และตามปฎิทินกิจกรรมประจำปี 2563 เช่น ระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคมที่ผ่านมา หากในภาวะปกติจะมี งานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุดอนเต้า ไหว้สาพระเจ้าทองทิพย์เดือนแปดเป็ง ณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ร่วมกับ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระอารามหลวง ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมใหญ่อีกหนึ่งงานของชาวเขลางค์นคร โดยกิจกรรมหลักใหญ่ใจความเน้นพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงภายในงานมีการแสดงศิลปะพื้นบ้าน การออกร้านของดีบ้านฉัน พร้อมนี้มีการฟ้อนเทียนถวายเป็นพุทธบูชา "นบน้อมไหว้สา ปู่จาพระบรมธาตุแก้วดอนเต้า โดยมีช่างฟ้อนจากชุมชน หน่วยงาน สถานศึกษา และบุคคลทั่วไปร่วมฟ้อนถวาย เป็นจำนวนมาก...เช่นเดียวกับหลายๆ กิจกรรรมใหญ่ในหลายพื้นที่คือถูกยกเลิก  และไหนๆ เมื่อกล่าวถึง งานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุดอนเต้า แล้ว ก็ขอใช้พื้นที่ตรงนี้บอกเล่าเกี่ยวกับประวัติ "วัดพระแก้วดอนเต้า" กันสักหน่อย

"วัดพระแก้วดอนเต้า" หรือ "วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม" เป็นวัดที่เก่าแก่และสวยงาม มีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ปี พ.ศ.1979 เป็นเวลานานถึง 32 ปี เหตุที่วัดพระแก้วดอนเต้าได้ชื่อว่า วัดพระแก้วดอนเต้า มีตํานานกล่าวว่า นางสุชาดา ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (ภาษาเหนือเรียกว่าหมากเต้า) และนำมาถวายเจ้าอาวาส เพื่อแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ซึ่งก็คือ พระแก้วดอนเต้า ต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุ ลําปางหลวง จนถึงปัจจุบัน  ปูชนียสถานที่สําคัญในวัดพระแก้วดอนเต้า ได้แก่ พระบรมธาตุซึ่งเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า มณฑปศิลปะพม่า ลักษณะงดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ วิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ที่มีอายุเก่าพอๆ กับวัดนี้ นอกจากนี้ยังมี วิหารหลวง พิพิธภัณฑสถานแห่งล้านนา นี้ และวิหารพระเจ้าทองทิพย์

จากตำนานบอกว่า มีผู้ไปฟ้องเจ้าเมืองลำปางในขณะนั้นว่า พระเถระและนางสุชาดา เป็นชู้กัน เจ้าเมืองลำปางจึงให้จับนางสุชาดาไปประหารชีวิต ส่วนพระเถระองค์นั้นทราบข่าวก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปหนีไป โดยได้นำไปฝากไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน ส่วนสถานที่ตั้งบ้านของนางสุชาดาก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธาในคุณงามความดีของนาง บริจาคเงินสร้างวัดขึ้นชื่อวัดสุชาดาราม แต่มีบางสันนิษฐานบอกว่าเนื่องจากวัดพระแก้วดอนเต้า และ วัดสุชาดาราม นั้นร้างลง แต่บางที่ก็มีการสันนิษฐานเพิ่มว่า น่าจะเป็นเพราะย่านนี้เป็นสวนหมากเต้า และเป็นที่ดอน จึงชื่อพระธาตุว่า พระบรมธาตุดอนเต้า และชื่อวัดว่า วัดพระธาตุดอนเต้า และต่อมาเมื่อมีการประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระแก้วดอนเต้า

สำหรับ วัดสุชาดารามสร้างขึ้นราว พ.ศ.2325-2352 เมื่อครั้งชาวเชียงแสนถูกกวาดต้อนมาตั้งชุมชนในเมืองเขลางค์ เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนางสุชาดาหลังจากได้รับโทษประหารชีวิตด้วยความเข้าใจผิดและมาปรากฎความจริงในภายหลัง เชื่อกันว่าที่ตั้งของวัดแห่งนี้คือบ้านและไร่แตงโมของ เจ้าแม่สุชาดาในอดีต ต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2527 กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการรวมวัดสุชาดารามเข้ากับวัดพระแก้วดอนเต้า และเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

อีกหนึ่งความน่าสนใจภายในวัดแห่งนี้ คือ “อุโบสถ” นับสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองฝีมือช่างเชียงแสน มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยภาพจิตรกรรมลายไทยลงรักปิดทอง ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐานชุกชี อุโบสถแห่งนี้ได้ทำการบูรณะเมื่อ พ.ศ.2465 พ.ศ.2503 และในปี พ.ศ.2550 เนื่องในโอกาสฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี

สัปดาห์หน้าจะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติของ “ศาลหลักเมืองลำปาง” เนื่องจากในช่วงระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2563 จะมีการจัด “งานสมโภชศาลหลักเมืองลำปาง”...เผื่อจะให้พี่น้องชาวลำปางและชาวไทย ที่ไม่มีโอกาสได้กลับไปเยือนถิ่นรถม้าในช่วงเวลานี้ ได้คลาย
                                                                                                เรื่อง : กอบแก้ว แผนสท้าน


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์