
ย้อนกลับไปประมาณเกือบๆ 30 ปีที่ผ่านมา
การเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ยังไม่ง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัสเหมือนอย่างทุกวันนี้
ที่เกริ่นแบบนี้เพียงเพราะจะเล่าเรื่องน่าขายหน้าของตัวเองชนิดไม่มีวันลืมให้ฟังว่า
ในช่วงเวลาดังกล่าว ยุคเศรษฐกิจยังเฟื่องฟู หรูหราหมาเห่า
ตัวเองซึ่งนับได้ว่าเป็นกลุ่มเฟิร์สจ๊อบเปอร์ ใช้ชีวิตแบบเวิร์คฮาร์ดเพลย์ฮาร์ด (Work
Hard Play Hard) ทำงาน กิน ดื่ม เที่ยว วนเวียนอยู่ในรูทเหล่านี้
ดังนั้นเมื่อถึงช่วงวันหยุดยาว เป็นต้องหาเรื่องออกไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ
ไม่ได้ซ้ำ ตามประสาโจ๋วัยมันส์
และเส้นทางภาคเหนือก็เป็นหนึ่งในนั้น
พวกเราขับรถเก๋งตะลุยเที่ยวแวะตามจังหวัดต่างๆ ตามที่เรามีเครือข่าย พรรคพวก
ตั้งแต่นครสวรรค์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่
ไหลเรื่อยไปจนถึงจังหวัดเชียงราย....ความประทับใจแต่ละแห่งก็ต่างกันตามพื้นที่และเจ้าถิ่นที่คอยต้อนรับเลี้ยงดูปูเสื่อ
แน่นอนว่าที่ “เมืองรถม้า” แห่งนี้ก็มีความประทับจิตประทับใจไม่รู้เลือน
เมื่อตัวเองและเพื่อนสาวในฐานะน้องเล็กของทริป
ถูกรุ่นพี่รวมหัวกันหลอกขับรถพาวนรอบ ”วงเวียนชามตราไก่”
ถึง 3 รอบ
ตรงนี้ไม่เด็ดเท่าเมื่อเราถูกกำชับด้วยน้ำเสียงค่อนข้างจริงจัง
ให้ยกมือไหว้ นมัสการด้วยเหตุว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ทุกคนเมื่อไปถึงแล้วต้องยึดปฏิบัติ
หาไม่เช่นนั้นแล้วจะถือว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่น โน่น นี่ นั่น แล้วแต่เขาจะสรรหามาหยิบยกให้เราคล้อยตาม..
และเราก็คล้อยตามจริงๆ ซะด้วย โดยการยกมือท่วมหัวไหว้กันปรกๆ
พาให้รุ่นพี่ฮาน้ำตาเล็ดน้ำตาลาดทั้งคันรถ แทนที่จะได้เข้าไปกราบสักการะ ”ศาลหลักเมืองลำปาง” อย่างที่พึงควรกระทำ...ทั้งหมดนี้จะโทษว่าเป็นความทะเล้นของพวกพี่ๆ
แต่ฝ่ายเดียวคงไม่ได้ หากเราศึกษาข้อมูลดีพอ
ดังนั้นในโอกาสนี้ ตามปฏิทินกิจกรรมของหวัดลำปาง
ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม-2
มิถุนายน 2563 จะมี ”พิธีฉลองสมโภชศาลหลักเมืองลำปาง
และสืบชะตาเมือง” จึงอยากจะหยิบยกข้อมูลรวมถึงเกร็ดความรู้มาเล่าสู่กันฟังสักหน่อย
เผื่อว่าหากใครที่ยังไม่เคยไปเยือน “เมืองเขลางค์นคร”
จะได้ไม่ต้องโดนเพื่อนหลอกให้ไหว้ “วงเวียนชามตราไก่”
จนต้องอับอายยันลูกหลานบวชเหมือนอย่างตัวเอง
อย่างที่ทราบกันดีว่า ลำปาง...ไม่ใช่แค่หนาวมาก (ใครพูด???) เพียงอย่างเดียว
แต่ยังมีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่แพ้เมืองใดในอาณาจักรล้านนา ...
ดังนั้น จึงต้องมี
“เสาหลักเมือง” เป็นสัญลักษณ์ของการสร้างเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2440 สร้างศาลากลางจังหวัดขึ้น
ได้นำหลักเมืองมาไว้ที่บริเวณหน้าศาลากลาง
และได้มีการสร้างมณฑปครอบหลักเมืองทั้งสามในปี พ.ศ. 2511
ซึ่งในปัจจุบันศาลหลักเมืองเป็นที่เก็บเสาหลักเมืองโบราณจากที่ต่างๆ ไว้
และยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดลำปาง
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดลำปาง
ด้านตะวันตกเฉียงใต้ หลักเมืองทำด้วยไม้สัก โดยภายในศาลหลักเมือง
จะมีหลักเมืองอยู่ 3 ต้น
แต่ละต้นเป็นเสาไม้เนื้อแข็งขนาดหนึ่งคนโอบถากปลายแหลม ประดิษฐานอยู่ตามมุมต่างๆ
ซึ่งทั้งสามต้นจะมีประวัติความเป็นมาต่างกัน ดังนี้ เสาหลักที่ 1 นำมาจากวัดปงสนุก สร้างขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. 2400 ใน
สมัยเจ้าวรญาณรังษี, เสาหลักที่ 2
สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2416 สมัยพระเจ้าพรหมภิพงษ์ธาดา
และเสาหลักที่ 3 นำมาจากบริเวณตลาดราชวงศ์
ข้างคุ้มราชวงศ์เก่า (ในอดีตบริเวณนี้เป็นท่าน้ำ) สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2429 สมัย เจ้านรนันท์ไชยชวลิต
เหตุผลที่เสาหลักทั้งสามนี้มาประดิษฐานอยู่ด้วยกัน เพราะเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์
เจ้าเมืองลำปาง ได้สร้างศาลาว่าการจังหวัด ขึ้นในที่ดินที่เรียกว่า หอคำ
เมื่อแล้วเสร็จจึงได้อัญเชิญเสาหลักเมืองทั้งสามมาประดิษฐานอยู่ด้วยกัน ในปี พ.ศ. 2440 และในปี พ.ศ. 2511
ได้มีการสร้างมณฑปครอบเสาหลักเมืองไว้
ในบริเวณ ใกล้เคียงกันยังมี “พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 49 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในอาคารทรงไทยจัตุรมุข ใกล้กับศาลหลักเมือง ซึ่งในหลวงทรงเททองหล่อด้วยพระองค์เอง ในปี พ.ศ. 2509 หลังจากผ่านการปลุกเสกเบิกพระเนตรแล้ว จึงพระราชทานไปประดิษฐานยังทิศทั้งสี่ของประเทศไทย
โดยชาวจังหวัดลำปางจะเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "หลวงพ่อดำ"
เพราะสร้างจากโลหะผสมแล้วรมดำทั้งองค์
เหตุผลที่ไม่มีการปิดทองเหมือนพระพุทธรูปองค์อื่นๆ เพราะในหลวงทรงหล่อขึ้น
เพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือพระองค์ดำ เนื่องจากพระองค์ท่านมีพระฉวีดำคล้ำ
และบริเวณใกล้เคียงก็จะเป็นมณฑปของหลวงพ่อเกษม เขมโก เราสามารถซื้อดอกไม้ธูปเทียนได้ในบริเวณนั้นได้เลยครับ
จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายดอกไม้ ไว้บริการ
สำหรับผู้ที่แวะเวียนไปเที่ยว
อย่าลืมเข้าไปสักการะศาลหลักเมืองลำปาง และหลวงพ่อดำ ที่ศาลากลางเมืองลำปาง
เพราะที่นี่เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 17.00 น. ...หลังจากกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง ตามธรรมเนียมกันแล้ว
จะขับรถไปวนรอบวงเวียนชามตราไก่ให้รู้ว่าไปถึงลำปางสักรอบสองรอบไว้เป็นที่ระลึก
เผื่อวันหน้าที่คิดถึงลำปางจะได้งัดภาพความทรงจำ ขึ้นมาชมเพิ่มรอยยิ้มให้กับเรื่องราวดีๆ
ในวันวาน เพื่อเติมพลังในก้าวต่อๆ ของวันนี้และวันพรุ่งนี้
เรื่อง
: กอบแก้ว แผนสท้าน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น