วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ข่าวร้ายโควิด ! กับความตายของคนอับจนหนทาง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

คนไทยตกอยู่ภายใต้อาณาจักรของความกลัว อย่างน้อยตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมาแล้ว  ความกลัวนั้นเริ่มปรากฎเป็นรูปเป็นร่าง หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระดมนายแพทย์ระดับมันสมองของประเทศ มาร่วมประชุมปรึกษาหารือ ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

รวมทั้งการประกาศตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีแถลงรายวันโดยคุณหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เจ้าของวลี “อย่าการ์ดตกนะครับ”

ไม่มีปัญหาสำหรับคุณหมอทวีศิลป์ คุณหมอก็ทำหน้าที่ของเขาโดยปกติ อัพเดทตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ข้อมูลการติดเชื้อในต่างประเทศ อธิบายตอบปัญหาของสื่อมวลชน ข้อมูลเหล่านี้มีส่วนอยู่บ้างในการตัดสินใจของพล,อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้อำนวยการ ศบค.

แต่ที่มีอิทธิพลมาก สำหรับการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือการคาดการณ์ การพยากรณ์การระบาดของโรค ของคุณหมอผู้ใหญ่หลายคน โดยเฉพาะคุณหมอประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เมื่อห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

อาจด้วยเจตนาดี ด้วยบริสุทธิ์ใจ ด้วยความเชื่อเช่นนั้นจริงๆ การคาดการณ์สถานการณ์ที่ว่า ในขณะที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง  จะมีการระบาดของไวรัส โควิด รอบที่สองติดตามมา ซึ่งจะมีคนตายมากกว่ารอบแรกถึงเท่าตัว

คำพูดของคุณหมอมีน้ำหนักมาก ที่จะโน้มน้าวให้รัฐยังคงใช้มาตรการเข้ม คุมการระบาดของโรคต่อไป รวมทั้งการคงอำนาจ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อไป

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงยิ่ง คือคนยาก คนจน คนที่ทำมาหากินวันต่อวัน ผู้ที่มีรายได้น้อยและไม่แน่นอน โดยเฉพาะผู้คนจำนวนมหาศาล ที่ชีวิตฝากไว้กับการเดินทาง การท่องเที่ยว ซึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ยกเว้นข้าราชการ คนทำงานในหน่วยงานรัฐ ที่มีเงินเดือนประจำ ธุรกิจขนาดใหญ่ บริษัทที่มีความมั่นคง

แม้จะมีการคลายล็อกบางส่วน คนบางกลุ่มเริ่มทำมาหากินได้ ภายใต้เงื่อนไขของการเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด 19 ที่บางเรื่องก็น่าประหลาดใจ เช่น การนั่งรถยนต์ไปทานข้าวด้วยกันนอกบ้าน แต่พอถึงร้านอาหารจะต้องนั่งแยกจากกัน

แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในภาวะยากลำบาก ทำมาหากินไม่ได้ ไม่มีรายได้อื่น ส่วนหนึ่งฆ่าตัวตาย เพราะชีวิตอับจนหนทางที่จะไปต่อ ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นโต้แย้งกันระหว่างรัฐกับชาวบ้านว่า มาจากสาเหตุการแพร่ระบาดของโควิด 19 หรือไม่

เรายังไม่พ้นจากอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวอีกหรือ เรายังไม่เชื่อว่าทุกคนก็รักตัวกลัวตาย และระมัดระวังรักษาชีวิตของเขาไม่ว่ารัฐบาลจะคลายล็อกหรือไม่ การใส่หน้ากาก ล้างมือ ดูแลตัวเอง เป็นวิถีใหม่ที่กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนในยุคนี้แล้ว

หากเสียงแห่งข่าวร้ายยังคงดังอยู่ รัฐยังเชื่อในมาตรการเข้มในการคุมโควิด 19 จนพวกเขาหมดหนทางในชีวิต เขาอาจไม่ตายด้วยโควิด 19 แต่จะอดตาย หรือฆ่าตัวตายในที่สุด
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์