วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

101 ภาพในนิทรรศการ “ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา”

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

"ฟิล์มกระจก" เป็นเอกสารจดหมายเหตุประเภทโสตทัศนวัสดุ เป็นฟิล์มชนิดหนึ่งที่มี ภาพในลักษณะเนกาทีฟและโพสซิทีฟปรากฏบนแผ่นกระจก เป็นหนึ่งในวิทยาการด้านการ ถ่ายภาพที่นิยมในช่วงพุทธศักราช 2395-2472 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว



"ภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก" เป็นหนึ่งในเอกสารที่ผ่านการประเมินว่ามีคุณค่า มีความสําคัญในฐานะที่เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สะท้อนบริบททางสังคมของประเทศ แสดงให้เห็นถึงสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สภาพบ้านเมือง ผ่านมุมมองของผู้ที่บันทึกภาพ เป็น ประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึกด้วยภาพถ่าย สื่อความหมายแทนการบันทึกในเอกสารที่เป็น ลายลักษณ์อักษรถือเป็นมรดกตกทอดจากสังคมในอดีตมาสู่สังคมปัจจุบัน


ดังนั้น เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ บุคคล สถานที่ และเหตุการณ์สําคัญในอดีตได้เป็นอย่างดี จนได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงวัฒนธรรม โดย นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ  เป็นประธานในการแถลงข่าวการจัดนิทรรศการ ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลาโดยมี ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน, นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร และ นายนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน


ภาพถ่ายจากฟิล์มกระจกที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งจากภาพถ่ายชุด  หอพระสมุดวชิรญาณ ที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี พ.ศ. 2560 กล่องที่ 1-24 และ 50-52 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 1,000  ภาพ บอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยในอดีต รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 ทั้งนี้ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิพร้อมผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาพถ่ายโบราณร่วมจัดทำคำบรรยายและคัดเลือกภาพถ่าย จำนวน 205 ภาพ นำมาจัดพิมพ์หนังสือในชื่อ ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์เล่ม 2 ซึ่งมีเนื้อหาแบ่งเป็น 2 หมวด ประกอบด้วย หมวดที่ 1 พระนคร แบ่งเป็น 12 หมวดรอง ได้แก่ พระราชวังและวัง พระราชพิธี ศาสนสถาน แม่น้ำลำคลองถนน ยานพาหนะ โรงเรียน โรงพยาบาล โรงมหรสพ อาคารพักอาศัย อาคารสำนักงาน ห้างร้าน และอาคารเบ็ดเตล็ด และหมวดที่ 2 หัวเมือง แบ่งเป็น 4 หมวดรอง ได้แก่ พระราชวัง เสด็จประพาส เสด็จตรวจราชการ และโบราณสถาน ต่อมา ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ได้นำภาพถ่ายจากหนังสือ ร่วมกับภาพถ่ายชุดอื่น ไปออกแบบเนื้อหาและนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการภายใต้ชื่อ ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลารวมทั้งสิ้น 101 ภาพ แบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้


ส่วนที่ 1 : ปฐมบรรพ การเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาพการเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ และการเสด็จประพาสต้น คือ การเสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์ เพื่อได้ทรงใกล้ชิดและทราบทุกข์สุขของประชาชน ทำให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์อย่างใกล้ชิด

ส่วนที่ 2 : ทุติยบรรพ สยามอันสุขสงบในรอยต่อของกาลเวลา เป็นภาพวิถีชีวิตที่ธรรมดาเป็นกิจวัตรของผู้คนในกรุงเทพฯ ให้บรรยากาศของความสุขสงบ เรียบง่ายของผู้คนและบ้านเมือง

ส่วนที่ 3 : ตติยบรรพ ตะวันออกบรรจบตะวันตก เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นบทบาทของชาวตะวันตกที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7

 ส่วนที่ 4 : จตุตถบรรพ เร่งรุดไปข้างหน้า เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงการรับอิทธิพลของชาติตะวันตกที่ทำให้สยามประเทศขณะนั้นเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการสร้างและเชื่อมโยงระบบเส้นทางรถไฟ ซึ่งนำไปสู่การเติบโตทางการปกครอง เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

นิทรรศการ ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลาเปิดนิทรรศการในวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2563 โดยได้รับเกียรติจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดฯ และเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม – 20 กันยายน 2563 ระหว่างเวลา 10.00-18.30 น. น. ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ณ หอศิลปวัฒนธรรกรุงเทพมหานคร ผู้สนใจสามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด


นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีการเสวนาวิชาการ จำนวน 2 ครั้ง ณ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในวันเสาร์ ที่ 18 กรกฎาคม 2563 หัวข้อ เบื้องหลังการอ่านภาพฟิล์มกระจก และในวันเสาร์ ที่ 15 สิงหาคม 2563 หัวข้อ เล่าเรื่องการเก็บรักษาฟิล์มกระจกและภาพเก่า สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ www.nat.go.th หรือ facebook ของกรมศิลปากร และสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือโทรศัพท์ หมายเลข 0-2281-1599
                                                                                เรื่อง : กอบแก้ว แผนสท้าน


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์