วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ลำปางไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้ง จากความร่วมมือทุกภาคส่วนทำให้ “คนลำปางมีน้ำกินน้ำใช้ ไม้ผลไม่ยืนต้นตาย” ขณะที่ผู้ว่าฯยังห่วงปีหน้าอาจจะหนักกว่านี้ ต้องเตรียมรับมือล่วงหน้า

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

วันที่ 20 ก.ค.63  ที่ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานชลประทานที่ 2 อ.เมืองลำปาง นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานแถลงข่าวผลการดำเนินงานด้านภัยแล้งและสถานการณ์น้ำของจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายสิธิชัย  จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง  นายปรีชา จานทอง ผอ.สำนักชลประทานที่ 2 ลำปาง และหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเข้าร่วม

โดยในที่ประชุมได้มีการสรุปผลภาพรวมการดำเนินงานทั้ง 3 ระยะ  คือ ระยะสั้น ระยะเร่งด่วน ได้มีการสำรวจพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค จำนวนทั้งสิ้น 281 หมู่บ้าน โดยได้เร่งให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ เสี่ยงมากจำนวน 4 หมู่บ้าน และ เสี่ยงปานกลางจำนวน 45 หมู่บ้าน  ผ่านการประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ   ด้านไม้ผลเสี่ยงยืนต้นตาย มีพื้นที่เสี่ยงไม้ผลยืนต้นตาย จำนวน 19,604 ไร่  ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสีแดง (วิกฤติ) 2,219.75 ไร่ ได้มีการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนโดยมีการแจกจ่ายน้ำ ตลอดจนให้ความรู้ในการทำระบบน้ำหยดด้วยขวดพลาสติก การปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อวัดความชุ่มชื้นในดิน การตัดแต่งกิ่ง การใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้กับเกษตรกร ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมาจนทำให้ปัจจุบันไม่มีพื้นที่ประสบปัญหาแล้ว  

ด้านการจัดสรรน้ำจากเขื่อนกิ่วลม เพื่อแก้ปัญหาลุ่มน้ำวังตอนล่าง (5 อำเภอ 30 ตำบล) ซึ่งจังหวัดลำปางมีพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และพื้นที่เสี่ยงไม้ผลยืนต้นตาย กระจายในพื้นที่ 9 อำเภอคือ วังเหนือ แจ้ห่ม เมืองลำปาง แม่เมาะ ห้างฉัตร เกาะคา สบปราบเถิน และแม่พริก จึงมีการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำกิ่วลม และอ่างเก็บน้ำแม่ฟ้า รวม 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ด้านท้ายน้ำของแม่น้ำวัง ในวันที่ 17 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2563  ทำให้มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการระบายน้ำครั้งนี้ จำนวน 5 อำเภอ รวม 30 ตำบล รวมทั้งการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเถิน สามารถเก็บกักไว้สำหรับผลิตน้ำประปาได้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2563  ถือได้ว่าการให้บริการน้ำประปาในพื้นที่อำเภอเถินและอำเภอแม่พริก ปี 2563 ได้ผ่านพ้นวิกฤติแล้ว

ในส่วนของระยะปานกลาง และระยะยาวนั้น จังหวัดลำปาง ได้มีแนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากขุมเหมือง เป็นการศึกษาและเตรียมนำโมเดลการนำน้ำจากขุมเหมืองมาใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในลักษณะการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการทำ CSR ซึ่งพื้นที่จังหวัดลำปางมีขุมเหมืองอยู่ ประมาณ 10 ขุมเหมือง โดยดำเนินโครงการนำร่อง (Pilot Project ) เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อย่างยั่งยืน (สิริราชโมเดล) ในพื้นที่ตำบลสันดอนแก้ว อำเภอแม่ทะ ซึ่งมีระบบการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และหรือเพื่อการเกษตรกรรม

นอกจากนี้ ยังวางพัฒนาลุ่มน้ำแม่จางที่เป็นแม่น้ำสายหลักที่ประชาชนใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ แม่เมาะ แม่ทะ และเกาะคา การพัฒนาลุ่มน้ำแม่งาว เพื่อช่วยเหลือประชาชนพื้นที่ 5 ตำบล คือ ตำบลบ้านร้อง ตำบลปงเตา ตำบลนาแก ตำบลหลวงเหนือ และตำบลหลวงใต้  การแก้ไขปัญหาลำน้ำแม่ตุ๋ยช่วงบนมีแนวทางการดำเนินการผันน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำแม่นึง บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในช่วงภัยแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่  การพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ การติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ไม่น้อยกว่า 2500 w และการดำเนินยุทธการหน่วงน้ำในแผ่นดินเขลางค์นคร ซึ่งเป็นแนวคิดการชะลอน้ำหรือหน่วงน้ำไว้ใช้ เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตลอดจนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน การปรับเปลี่ยนแนวคิดการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรน้ำ

          ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ลำปางเป็นจังหวัดที่ใช้น้ำเยอะมาก เนื่องจากมีแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงในการผลิต  รวมทั้งประชาชนใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และใช้น้ำสำหรับพื้นที่ทางการเกษตร  การแก้ปัญหาในปีนี้ได้มีการเตรียมวางแผนกันมาล่วงหน้า ทำให้เกิดประสบความสำเร็จ จ.ลำปาง ไม่มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้งเลย แต่อย่างไรก็ตาม ในปีหน้ายังเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาวิกฤตภัยแล้งขึ้นได้อีก จึงต้องขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมวางแผนรับมือตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อที่จะสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์