วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563

แจ้ห่ม..ชมความศรัทธาสูงเสียดฟ้า

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

สัปดาห์นี้ไม่พูดพร่ำฮัมเพลงให้เสียเวลา ขอชวนไปเที่ยว "แจ้ห่ม" ด้วยกัน อ๊ะ!! ถ้าไม่ใช่ชาวลำปางหรือคนเมืองเหนือ เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยต้องออกอาการขมวดคิ้วผูกโบว์เป็นเครื่องหมายคำถาม แจ้ห่ม คือที่ไหน??? กันบ้างล่ะ แต่ถ้าเอ่ยปากถึง "อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน" หรือ "น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน" น่าจะประสานเสียงร้องอ๋อไปตามๆ กัน  ซึ่งว่ากันตามความเป็นจริง อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของอำเภอแจ้ห่ม เพียงแค่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากกว่าเท่านั้นเอง

จังหวัดลำปาง แบ่งการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ "แจ้ห่ม"  เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งยังเป็นเป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับสาม ของจังหวัดลำปางรองจากอำเภองาวและอำเภอเถิน

ตามประวัติอำเภอแจ้ห่ม ตามตำนานพงศาวดารโยนกได้กล่าวว่าในราวพ.ศ. 1801 สมัยพระยางำเมืองได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองราชสมบัติแว่นแคว้นพะเยานคร ซึ่งในประวัติศาสตร์อำเภอแจ้ห่มได้กล่าวว่าในปีนั้นได้ส่งพญาคำแดงผู้ราชบุตรมาครองเมืองแจ้ห่มในฐานะพระยุพราชพญาคำแดงผู้ราชบุตรได้ครองเมืองพะเยาเป็นอันดับที่ 13 ของราชวงศ์พะเยา และส่งพญาคำลือผู้ราชบุตรให้มาครองเมืองแจ้ห่ม ในฐานะพระยุพราชเช่นเดียวกัน จากการตรวจสอบทั้งด้านภูมิประเทศ ภาพถ่ายทางอากาศ เอกสารตำนานและนิทานพื้นบ้านต่างๆ อาจสรุปได้ถึงลักษณะเมืองแจ้ห่มโบราณว่า ในพื้นที่ดังกล่าว น่าจะมีเมืองลัวะที่สร้างขึ้นบนดอยเตี้ยๆ ใกล้บ้านสบมอญ ซึ่งมีคูคัน-ดินแบบอาศัยธรรมชาติเป็นรูปทรงของเมือง หลังจากที่เมืองถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าไปแล้วได้เกิดการสร้างเมืองขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งในสมัยพ่อขุนจอมธรรมและมีสถานะภาพเป็นเมืองลูกหลวงหรือเมืองอุปราชของเมืองพะเยา

สำหรับประวัติศาสตร์ของแจ้ห่มยังมีรายละเอียดอีกเยอะ วันนี้ขอกล่าวไว้เพียงคร่าวๆ เพราะอยากจะเล่าถึงสถานที่น่าสนใจที่ฝังตัวอยู่ใน "แจ้ห่ม" อีกมากมาย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางธรรมชาติ หรือที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้น อย่าง

ยิ่งในช่วงฤดูฝนอย่างตอนนี้ หากไม่พูดถึงน้ำตก น่าจะเป็นเรื่องตกเทรนด์แม้เส้นทางการเข้าสู่น้ำตกจะลำบากเอาสักหน่อย ทว่าความงดงามถือว่าเกินคุ้ม และที่แจ้ห่มก็น้ำตกสวยงามอย่าง "น้ำตกตาดเหมย" ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท น้ำตกมีทั้งหมด 9 ชั้น มีน้ำไหลตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน จะสวยงามมาก การเดินทางเข้าสู่น้ำตกตาดเหมยใช้เส้นทางจากบ้านทุ่งฮ้าง หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งผึ้ง-น้ำตกตาดเหมย ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ควรใช้ยานพาหนะเป็นรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ บริเวณน้ำตกตาดเหมยเป็นที่ตั้งของที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทที่ 3 (น้ำตกตาดเหมย) มีพื้นสนามที่กว้างขวาง เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ขยับออกมาหน่อยแต่ยังคงอยู่กับธรรมชาติ "หมู่บ้านสำเภาทอง" ชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ติดแม่น้ำวัง เหนือเขื่อนกิ่วลม ถนนลำปาง-แจ้ห่ม กม.32 ตั้งอยู่บนพื้นที่ ต.บ้านสา สามารถเดินทางมาพักผ่อนที่โฮมสเตย์ ของชาวบ้าน เป็นท่าลงแพอีกฝั่งหนึ่งนอกเหนือจากสันเขื่อนกิ่วลม มีบริการล่องแพ ไปตามบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ในฤดูหนาว จะมีทิวทัศน์ที่สวยงาม ซึ่งมีบรรยากาศคล้ายๆ กับเมืองกุ้ยหลิน ประเทศจีน

"เขื่อนกิ่วคอหมา" เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำวัง สร้างเสร็จเมื่อปี 2551 เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่สามารถชมทัศนียภาพบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำได้

นอกจากนี้ยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์กันบ้าง ที่สำคัญคือยังคงอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และชื่อเสียงโด่งดังในหมู่นักแสวงบุญ อย่าง "วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์" หรือ วัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาใหญ่ใน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง อยู่ในพื้นที่ของเขต ห้ามล่าสัตว์ป่าดอยพระบาท ความโดดเด่นของวัดนี้ คือภาพอันงดงามของเจดีย์เล็กๆ สีขาวสร้างขึ้นบนภูเขาสูงเสียดฟ้า ล้อมรอบไปด้วยทิวเขาสูง ซึ่งสร้างจากแรงศรัทธาของมนุษย์เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลไปที่วัดเฉลิมพระเกียรติฯ  อีกทั้งบนยอดเขาแห่งนี้มีรอยพระพุทธบาท ประดิษฐานอยู่ เป็นที่เคารพบูชาของชาว อ.แจ้ห่ม มาอย่างยาวนาน แต่เมื่อก่อนนี้ยังไม่มีการทำถนนขึ้นสู่ดอยดังนั้นพุทธศาสนิกชน ผู้ศรัทธาจึงต้องเดิน เท้าผ่านป่าทึบและหน้าผาสูงขึ้นไปสักการบูชา

ต่อมาหลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล  (พระเทพวิสุทธิญาณ) เจ้าอาวาสวัดอนาลโยทิพยาราม จังหวัดพะเยาได้เดินทาง มาสักการะรอยพระพุทธบาท โดยการเดินเท้า พลังศรัทธาของท่านเป็นที่มาของ การสร้างวัดขึ้น ประกอบกับในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระราชสมภพครบ 200 ปี เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2547 ทางคณะสงฆ์จึงมีมติให้สร้างวัดเฉลิมพระเกียรติ แด่พระองค์ท่านเพื่อน้อมรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อ ปวงชนชาวไทย จึงได้สร้าง วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้า ราชานุสรณ์  ที่ตำบลวิเชตนคร อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางขึ้นอยู่ด้านหลังโบสถ์

อีกหนึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเช่นกัน คือ "วัดอักโขชัยศิริ" ตั้งอยู่บนเนินเขาริมถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม บริเวณกิโลเมตรที่ 50-51 ด้านซ้ายมือ มีทางขึ้น 2 ทางคือทางเดินขึ้นบันได ด้านหน้าหรือขับรถขึ้นทางถนนด้านหลังโบสถ์และเจดีย์เป็นแบบล้านนาอยู่ใกล้เคียงกัน วัดนี้มีปรากฏ การเงาสะท้อนพระเจดีย์ เป็นภาพสี เช่นเดียวกับวัดพระธาตุจอมปิงเงาพระเจดีย์จะปรากฏอยู่ตรงที่เดิมไม่เคลื่อนย้ายตลอดทั้งวันตราบเท่าที่ยังมี แสงสว่าง

นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่เรียกว่า พระศากยมุณีคีรีอักโข ซึ่งมีความสูง 5 วา 2 ศอก เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ เป็นที่นับถือของชาวแจ้ห่มมาก โบสถ์เปิดเวลา 07.00-17.00 น. หากใครสนใจ งานศิลปะท้องถิ่น มีสัตตภัณฑ์ไม้ไผ่พุทธศตวรรษที่ 25 สำหรับจุดเทียนบูชาพระประธานและธรรมมาสน์ไม้ไผ่ศิลปะ ล้านนาซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังโบสถ์

มาต่อกันที่ "วัดศรีหลวง" เป็นวัดเก่าแก่อายุหลายร้อยปีอีกแห่งในตัวเมืองแจ้ห่ม มีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระเจ้าทองทิพย์ อันเป็นที่เคารพและสักการะของชาวแจ้ห่ม พระครูพิพัฒน์วรเดช เจ้าอาวาสวัดศรีหลวง กล่าวว่า ตามประวัติวัดไม่ปรากฏหลักฐานให้ทราบว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากคนบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ก็บอกว่าวัดนี้สร้างมาหลายร้อยปีแล้ว จากการศึกษาตำนานที่หนานยศตะนาได้บันทึกไว้ในใบลาน ซึ่งแปลโดยพระครูพิพัฒน์วรเดชทำให้เราทราบว่า วัดนี้ครูบาเจ้าวะจิระปัญญาร่วมกับแสนเมืองลือโลกและศรัทธาชาวบ้านได้เดินทางไปขออนุญาตจากเจ้าเมืองละกอนในการสร้างวิหาร

จากนั้นจึงได้ไปนิมนต์ “ครูบายาวิชัยวัดบ้านถ้ำ” ให้มาเป็นช่าง ครูบายาวิชัยจึงบอกว่าให้ไปขอให้ครูบาเจ้าอสิงวิตั๊ก วัดพระยืน จังหวัดลำพูนช่วยเขียนแปลนให้ เมื่อได้แบบแปลนมาแล้วก็กลับมานิมนต์ให้ครูบายาวิชัยเป็นช่างก่อสร้าง โดยได้ลงมือก่อสร้างในวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 เหนือ สะขาดได้ 1219 ตัว ถ้าคิดเป็นปี พ.ศ. ตรงกับปี พ.ศ.2400 ในสมัยนั้นได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดป่าไผ่ มีเพียงวิหารและเจดีย์ทรงระฆังคว่ำย่อมุม 12 ศิลปกรรมล้านนาผสมพม่า ปัจจุบันวัดศรีหลวงแจ้ซ้อนได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2509 กระทั่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ห้ามให้มีการบูรณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

“วิหารวัดศรีหลวง” สร้างขึ้นแบบก่ออิฐถือปูนในอดีตเป็นเพียงศาลาโล่งๆ ปัจจุบันได้ก่อผนังอิฐและใส่ปล่องหน้าต่างขึ้น บริเวณบันไดทางขึ้นวิหารมีประติมากรรมปูนปั้นรูปสัตว์ในนิยาย ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประธานศิลปะเชียงแสนและธรรมาสไม้สักเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี ด้านหลังวิหารประดิษฐานเจดีย์ทรงระฆังคว่ำหุ้มด้วยทองจังโกฐ สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะอยู่ในยุคสมัยเดียวกับวัดหนองบัวอำเภอท่าวังผาและวัดภูมินทร์จังหวัดน่าน เพราะรูปทรงอาคารมีลักษณะคล้ายคลึงกัน

อีกหนึ่งแลนด์มาร์คเมื่อไปถึงแจ้ห่มต้องไม่พลาด "อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาคำลือ" เป็นที่ประดิษฐสถาน อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาคำลือ ซึ่งเป็นอุปราชใหญ่ได้ครองเมืองวิเชตนคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1897 และเป็นสถานที่ สักการะกราบไหว้ของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ได้มาแวะเยี่ยมเยือน อำเภอแจ้ห่ม  ถ้าได้เข้ามาเมืองแจ้ห่มแล้วจะได้เข้ามาสักการะเจ้าพ่อพญาคำลือ

เปิดท้ายทริปด้วย "พิพิธภัณฑ์สถานศูนย์ภูมิปัญญาท้องถิ่นอำเภอแจ้ห่ม" มีประวัติความเป็นมา และภูมิปัญญาของชาวแจ้ห่มตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันให้ได้รับชม ตั้งอยู่ในอาณาเขตของโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา
นักท่องเที่ยวผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และต้องการสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านแบบชนบท อยากให้ลองแวะไปเที่ยวที่ "อำเภอแจ้ห่ม" จังหวัดลำปาง เพราะมีครบทั้งความสวยงามของธรรมชาติป่าเขา ชาวบ้าน รวมถึงศิลปกรรมอันทรงคุณค่า

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง
EDTguide.com, TrueID  In-trend, db.sac.or.th, lampang13.com...ภาพ


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์