วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563

ตามรอยทัพ ’พระเจ้าตาก’ วัดลุ่ม เมืองระยอง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

1.ต้นสะตือที่วัดลุ่ม ต้นไม้แห่งประวัติศาสตร์ พระเจ้าตากสินเคยผูกช้างศึก ประทับนั่ง
2.สักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพล เมืองระยอง
3.อุโบสถหลังเก่าวัดลุ่ม งดงามช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ไม้แกะสลัก
4.หน้าบันปูนปั้นทาสีอิทธิพลศิลปะจีน
5.ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณประทับนั่งปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์
6.ชมอุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จำลองท้องพระโรงในวังสมัยกรุงธนบุรี
7.อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วธ.เยี่ยมชมสินค้าทางวัฒนธรรมชุมชนคุณธรรมวัดลุ่ม

สวัสดีเดือนกันยายนท่านผู้อ่านเว็บไซต์ลานนาโพสต์ และพี่น้องชาวลำปางที่รักทุกท่าน สัปดาห์นี้ใคร่ขอพาไปเที่ยวแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ไกลจาก "ดินแดนล้านนา" สักหน่อย โดยจะขอพาไปที่จังหวัดระยอง...เพื่อแกะรอยประวัติศาสตร์ผ่านสถานที่จริง ตามหาเรื่องราวของกองทัพกู้ชาติ "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นในจังหวัดระยอง หนึ่งในสถานที่เรียนรู้มากกว่าในตำราเรียน แนะนำ "วัดลุ่มมหาชัยชุมพล" คนท้องถิ่น เรียกติดปากว่า "วัดลุ่ม" ตั้งอยู่ถนนตากสินมหาราช ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ทางไปปากน้ำระยอง

 

"วัดลุ่ม" ตามข้อมูลท้องถิ่น เดิมชื่อ “วัดมหาชัยชุมพล” เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ตั้งขึ้นปี พ.ศ.2234 เดิมบริเวณที่ตั้งวัดลุ่ม มีวัดตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน 2 แห่ง คือ วัดลุ่มกับวัดเนินต่อมาปี พ.ศ. 2463 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญานวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณวราภรณ์ ตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลจันทบุรี เสด็จมาตรวจการคณะสงฆ์ จึงให้รวมเป็นวัดเดียวกัน แล้วเรียกชื่อว่า วัดลุ่ม

 

"วัดลุ่ม" เคยเป็นที่ตั้งประทับแรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งเป็นพระยาตากนำทัพทหารกล้า 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งออกสู่หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก โดยผ่านเส้นทางจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จนกระทั่งมาถึงจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่กรุงศรีฯ แตกพอดี พระยาตากตั้งค่ายชุมพล ณ บริเวณวัดลุ่ม เป็นที่มาของคำต่อท้ายชื่อวัดลุ่มว่า มหาชัยชุมพล

บริเวณที่ตั้งค่ายมีต้นสะตือใหญ่ เคยใช้ผูกช้างศึกประจำพระองค์ ชื่อ พังคีรีบัญชรพระยาตากประทับนั่งใต้ต้นสะตือนี้ เรียกประชุมคณะกรรมการเมืองและราษฎรชาวระยอง ประกาศเจตจำนงในการกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า เป็นกุศโลบายกระตุ้นจิตสำนึกทหารให้หึกเฮิมไปทวงคืนเอกราช  บรรดาแม่ทัพที่สวามิภักดิ์ พร้อมกันใจยกให้พระยาตากเป็นผู้นำขบวน แล้วเรียกว่า "พระเจ้าตากสิน" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ก่อนจะบุกยึดเมืองจันทบุรีให้สวามิภักดิ์ แล้วรวมพลกรีฑาทัพทางเรือกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่า

 

ปัจจุบัน วัดลุ่ม บ้าน โรงเรียน และทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมใจเป็นเครือข่าย "พลังบวร" ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นำโดย กฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นแม่ทัพสำคัญสนับสนุนการสืบสาน ฟื้นฟู เรื่องราวชุมชนประวัติศาสตร์จังหวัดระยองนี้ให้สมบูรณ์ รวมถึงส่งเสริมขับเคลื่อนเป็นชุมชนคุณธรรม สังคมคุณธรรม เดินตามรอยผู้นำแผ่นดินที่รักชาติ ศาสนา ด้วยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไม่เพียงเป็นแม่ทัพปราบอริราชศัตรู  ทว่าทรงเป็นธรรมราชา


เวลานี้ ชาวชุมชนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่อาศัยอยู่ล้อมรอบวัดลุ่มปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการตั้งกองทุนหมู่บ้าน รู้จักออมเงิน ชาวบ้านปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ รวมถึงส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน ทั้งสร้างมัคคุเทศก์สองวัย การผลิตสินค้าจากใยสัปปะรด สกรีนเสื้อยืด ทำผ้าบาติก ผ้ามัดย้อมสวยๆ จำหน่ายสร้างงาน สร้างรายได้


 

ภายในวัดแห่งนี้ประกอบไปด้วย "ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" รูปทรงศาลแบบจัตุรมุข ด้านในมีพระบรมรูปหล่อพระองค์ขนาดเท่าองค์จริง นั่งประทับและยืนถือดาบให้ลูกหลานชาวระยองและชาวไทยสักการะรำลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ในการกอบกู้เอกราชให้ไทยเป็นไทยจนทุกวันนี้

ด้านหน้าศาลมี "ต้นสะตือ" ตั้งทัพ อายุมากกว่า 300 ปี ขนาดใหญ่โต ลำต้นและกิ่งก้านแผ่สาขาอย่างงดงามให้ความร่มรื่นเป็นบริเวณกว้าง นับเป็นต้นไม้แห่งประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นรุกข มรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี ส่งเสริมวัฒนธรรมการท่องเที่ยวสู่ต้นไม้ใหญ่


นอกจากนี้ ข้างศาลสมเด็จพระเจ้าตาก มี "พระอุโบสถหลังเก่า” กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณสถาน   ทำโครงการอนุรักษ์ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมล่าสุดปี 2560    โบสถ์เก่าเรียบง่าย แต่งดงามด้วยอาคารทรงโรงก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้ลด ชั้น 2 ชั้นมี เครื่องลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ไม้แกะสลัก หน้าบันปูนปั้นทาสีอิทธิพลศิลปะจีน ด้านหน้าเป็นรูปมังกรตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษา ส่วนด้านหลังเป็นรูปหงส์ ภาพสัตว์ขนาดเล็ก ซุ้มหน้าต่างแบบซุ้มหน้านางตกแต่งด้วยลายใบเทศตรง กึ่งกลางเป็นรูปครุฑยุด นาค บานประตูและหน้าต่างเป็นไม้  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณประทับนั่งปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์


 
ขณะเดียวกันตรงบริเวณที่ติดกับวัดลุ่ม แนะนำ "อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" จังหวัดระยอง ซึ่ง วธ. ร่วมสนับสนุนงบก่อสร้าง ถือเป็นมิวเซียมที่ทันสมัยแห่งใหม่ สร้างในโอกาสครบ 250 ปีการกู้กรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไม่อยากให้พลาด แบ่งเป็น 6 โซน ให้ชมกันอย่างเต็มอิ่ม เริ่มจากโหมโรงเจ้าตากสิน, อวสานสิ้นอโยธยา, มุ่งบูรพาสรรหาไพร่พล, ประกาศตนองค์ราชันย์, สร้างเขตขัณฑ์กรุงธนบุรี และถิ่นคนดีเมืองระยอง ได้ทั้งความรู้ความเข้าใจ และตื่นเต้นกับการจัดแสดงที่ใช้สื่อมัลติมีเดียและเทคนิคสมจริง รู้สึกร่วมไปกับทัพกอบกู้อธิปไตย

สถานที่เหล่านี้ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมสำคัญของเมืองระยอง หากพี่น้องชาวจังหวัดลำปางมีโอกาสได้เดินทางไปทำธุระหรือไปพักผ่อนสูดกลิ่นไอทะเล อยากขอแนะนำให้แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมกันสักครั้ง

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง/ภาพ

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์