วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563

บูชาโคมศรีล้านนา ถวายพระธาตุเจ้าศรีอุทุมพร


จำนวนผู้เข้าชม blog counter


หลังจากเทศกาลวันออกพรรษา เมื่อเข้าสู่บรรยากาศปลายฝนต้นหนาว เป็นสัญญาณบอกว่า "เทศกาลยี่เป็ง" ได้มาเยือนแล้ว ชาวล้านนาต่างพากันเตรียมเครื่องใช้ไม้สอย และเครื่องไทยทานเพื่อไปทำบุญที่วัด เพราะในช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน ยี่ (เหนือ) หรือ เดือน 12 ผู้เฒ่า ผู้แก่ จะถือโอกาส ไปนอนค้างแรม ที่วัดเพื่อฟังธรรมอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนล้านนา


           

"โคมไฟล้านนา" หรือ "โกมล้านนา" กับงานประเพณียี่เป็ง ถือได้ว่าเป็นของคู่กัน แต่ก่อนชาวล้านนามีโคมไฟใช้ไม่แพร่หลาย จุดประสงค์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้เป็น ตะเกียง หรือสิ่งประดิษฐ์ สำหรับจุดไฟให้สว่าง แต่ด้วยเหตุผลที่น้ำมันมีราคาแพง ประเพณีการจุดโคมไฟแต่เดิมจึงมักมี เฉพาะในพระราชสำนัก และบ้านเรือน ของเจ้านายใหญ่โต เท่าที่ผ่านมาชาวล้านนาใช้โคมไฟในฐานะของเครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องใช้ในพิธีกรรมเท่านั้น


           

"โคมไฟล้านนา" ถือเป็นงานหัตถกรรมพื้นเมือง จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่สืบทอดต่อกันมานาน และได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อจะให้คงอยู่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันของภาคเหนือ โดยการสร้างผลงานทางศิลปะ ก็มักจะมีแรงบันดาลใจจากความศรัทธา ซึ่งปัจจุบันชาวล้านนานิยมนำมาใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะ "งานประเพณียี่เป็ง" หรือ "ประเพณีลอยกระทง" มักนิยมจุดโคมค้าง หรือโคมที่ติดแขวนไว้บนที่สูง ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่และกระดาษสา สร้างขึ้นมาเป็นโคมทรงกลมหักมุมเรียกว่า "โคมรังมดส้ม" ใช้ในการประดับตกแต่ง มีเทียน และประทีป เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง (ยี่เป็งล้านนา) และยังมีความเชื่ออีกว่า ได้เป็นการบวงสรวงพระเกษแก้วจุฬามณีบนสรวงสรรค์ อันถือว่าเมื่อได้กระทำเช่นนี้แล้ว แสงประทีปจากโคม จะช่วยส่งประกายให้การดำเนินชีวิต เจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้น ชาวล้านนา จึงมักนิยมปล่อยโคมไฟขึ้นฟ้า และจุดประทีปตามบ้านเรือน


           

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมล้านนาได้แบ่งโคมออกเป็น 4 แบบ คือ หนึ่ง "โคมติ้ว" หรือ "โคมไฟเล็ก" มักห้อยอยู่กับซีกไม้ไผ่ ซึ่งผู้คนจะถือไปในขบวนแห่ และนำไปแขวนไว้ที่วัด ส่วน "โคมแขวน" จะมีหลายรูปแบบทั้งใหญ่เล็ก แล้วแต่ประโยชน์ใช้สอย และความสามารถในการประดิดประดอย โคมแขวนแต่เดิมนั้น ไม่ใช่เป็นของซื้อของขาย แต่เป็นของทำได้เอง จะทำกันมากในช่วงเทศกาลยี่เป็ง พอเมื่อถึงคืนวันเพ็ง ชาวบ้านทั้งหลาย มักจุดประทีปเรียงรายเต็มราวรั้ว และตามหน้าบ้านชานเรือน ส่วนที่ประตูรั้วจะแขวนโคมนอกจากการแขวนโคมที่บ้านแล้ว ยังเอาไปแขวนไว้ที่วัด เพื่อใช้แขวนบูชาพระพุทธรูป ทำเป็นหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น รูปดาว รูปตะกร้า ที่ตามปกติใช้แขวนตามวัด หรือตามหิ้งพระก็ได้

 


สำหรับ "โคมพัด" ทำด้วยกระดาษสา เป็นรูปกรวยสองอัน พันรอบแกนเดียวกัน ด้านนอกจะไม่มีลวดลายอะไร ส่วนด้านในจะตัดแต่งเป็นรูปทรงต่างๆ ในทางพุทธศาสนา เมื่อจุดโคมด้านใน แสงสว่างจะทำให้เกิดเงาบนกรวย ด้านนอกก็จะเคลื่อนไหว คล้ายตัวหนังตะลุง และสุดท้าย "โคมลอย" เป็นโคมใหญ่ที่มีรูปร่างคล้ายบอลลูน ตัวโครงทำจากซีกไม้ไผ่ ห่อหุ้มด้วยกระดาษสา เมื่อจุดโคมความร้อนจากเปลวไฟ จะช่วยทำให้โคมลอยตัวขึ้น สำหรับการปล่อยโคมลอย มักกระทำกันที่วัดหรือตามบ้านเรือน โดยมีความเชื่อว่า โชคร้ายทั้งหลายทั้งปวง จะลอยหายไปกับโคม


           

ส่วนคติธรรมเกี่ยวกับ "โคม"  ซึ่งรูปทรงแปดเหลี่ยมของโคมศรีล้านนา ถูกออกแบบมาให้สอดคล้อง กับหลักทางพระพุทธศาสนา คือ มรรค 8 ส่วนชั้นทั้งสามของโคม มีความหมายเป็น "ศีล สมาธิ ปัญญา" หรือ "ไตรสิกขา" อันเป็นหนทางของการดำเนินในชีวิตอย่างมีสติ ส่วนระดับของโครงสร้างที่มี 5 ระดับ เปรียบเสมือนขันธ์ 5 ที่เป็นหนทางไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริงของปุถุชน และส่วนประกอบอื่นๆ ก็ยังตีเป็นความหมาย ที่เป็นมงคลในด้านอื่นๆ เช่น พู่ด้ายดิบ...หมายถึงสายใยแห่งชีวิตของสรรพสิ่ง มะริดไม้ (ลิ้นฟ้า หรือเพกา) เป็นเมล็ดในฝักมะริดไม้ อันจะหมายถึงความร่มเย็น และความเย็นชุ่มช่ำ

           

โอกาสนี้ ททท.สำนักงานลำปาง ได้เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ร่วมทำบุญ บูชาโคมศรีล้านนา ถวายแด่พระธาตุเจ้าศรีอุทุมพร พร้อมเขียนแผ่นดวงเพื่อนำไปบรรจุในพระธาตุ ที่วัดป่าพระเจ้าอุทุมพร บ้านน้ำโท้งอุดมพร ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง พร้อมร่วมชมความงามในเทศกาลโคมล้านนา 2,500 ดวง โดยเปิดให้ชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-​ 21.00 น. และหากท่านใดไม่มีโอกาสเดินทางมายังวัด แต่อยากร่วมบุญ สามารถแจ้งชื่อ-นามสกุลมาได้ ปัจจัยร่วมโอนผ่านที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย 060-3-99879-0 ชื่อบัญชี พระสุรชัย ปิยะลังกา


กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

ททท.สำนักงานลำปาง...ข้อมูล/ภาพ

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์