วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ลำปางเซรามิกแฟร์ ครั้งที่ 33


จำนวนผู้เข้าชม visitor counter

 

"เครื่องปั้นดินเผา" เป็นวัฒนธรรมเชิงหัตถกรรมที่สืบทอดกันมาจากความคิดของบรรพชนที่ทำขึ้น กระทั่งพัฒนาฝีมือเรื่อยมาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ของการทำเครื่องปั้นดินเผามีมาตั้งแต่อดีตนับร้อยปี ชาวจีนเป็นชนชาติแรกในทวีปเอเชียที่รู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผา ในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์หมิงถือเป็นยุคทองของเครื่องปั้นดินเผา ขณะที่ในประเทศไทยเครื่องปั้นดินเผาถูกค้นพบมาตั้งแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์กระจัดกระจายยู่ทั่วไปตามแหล่งชุมชนโบราณ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง, เครื่องถ้วยชามสังคโลก ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องปั้นดินเผาสมัยสุโขทัย ที่มีเทคนิคในการผลิตระดับสูงและมีความคลาสสิก นอกจากนั้นในบริเวณภาคเหนือยังพบแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญได้แก่ บริเวณห้วยแม่ต๋ำ จังหวัดพะเยา, เตาสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เตาเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย, เตาวังเหนือและทุ่งเตาไห จังหวัดลำปาง

 


การทำ “เครื่องปั้นดินเผา...ลำปาง” เริ่มต้นผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมอย่างจริงจังในปี 2503 โดยมีชาวจีนสองคนคือ นายซิวกิม แซ่กวอก และ นายซิมหยู แซ่ฉิน ได้ร่วมกันตั้งโรงงานทำถ้วยตราไก่แบบพื้นเมืองจีนขึ้น ซึ่งนับเป็นโรงงานทำถ้วยตราไก่แห่งแรกของเมืองลำปาง

 

ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อครั้งที่คนทั้งสองอยู่ที่เมืองจีนนั้นเคยทำงานในโรงถ้วยชามมาก่อน ซึ่งต้องทำงานทุกขั้นตอนตั้งแต่การล้างดิน ปั้นถ้วย เคลือบเขียนลายและนำเข้าเตาเผา กระทั่งเมื่อทั้งสองได้เดินทางมาอยู่ในประเทศไทยก็ได้เข้าทำงานที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาที่จังหวัดเชียงใหม่ เดิมโรงงานแห่งนี้ทำเฉพาะโอ่ง กระถางปลูกต้นไม้ กระถางแช่ข้าวเหนียว ต่อมาเจ้าของโรงงานต้องการทำถ้วยชามแบบเมืองจีน เพราะขณะนั้นประเทศจีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ถ้วยชามจากเมืองที่นำเข้ามาในประเทศไทยมีอยู่ไม่มากนักและมีราคาแพง

 


นายซิวกิม และ นายซิมหยู จึงสมัครเข้าทำงาน โดยทั้งสองคนพยายามเสาะหาดินขาวแบบเมืองจีนจากที่ต่างๆ มาทดลองทำถ้วยชาม จนได้เห็นหินลับมีดจากลำปางที่ส่งไปขายที่เชียงใหม่มีเนื้อดินขาวละเอียด คล้ายกับดินขาวจากเมืองจีน ทั้งสองจึงค้นหาดินขาวชนิดดังกล่าวแล้วนำไปพิสูจน์ จนรู้แน่ว่าเป็นดินขาวที่ใช้ทำถ้วยชามแน่นอน  แล้วก็กลับมาทดลองทำถ้วยชามดูก็ได้ผลตามที่ต้องการ จึงเปิดโรงงานทำถ้วยตราไก่ขึ้นที่ลำปางใช้ชื่อว่า “โรงงานถ้วยชามสามัคคี” ในที่สุด

 

การทำ “เครื่องปั้นดินเผา” ของ “โรงงานถ้วยชามสามัคคี” ในระยะแรก ใช้มือทำทุกขั้นตอนเริ่มจากการล้างดิน นวดดิน ขึ้นรูปถ้วย ตกแต่ง ชุบเคลือบ เผา กระทั่งการวาดรูปไก่ด้านข้างถ้วย ถึงแม้ว่าทั้งสองจะตั้งโรงงานได้สำเร็จตามความตั้งใจ ทว่าพวกเขาก็มิอาจหยุดคิดค้นรูปแบบต่างของถ้วยชามเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากแรงงานคนสู่แรงหมุนจากมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลัก อาทิ เครื่องกวนดิน เครื่องบดดิน เครื่องผสมน้ำเคลือบ ฯลฯ  ซึ่งผลจากการพัฒนาเครื่องมือนี้ทำให้เกิดโรงงานผลิตถ้วยชามเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่ง ปี 2521 รัฐบาลประกาศห้ามนำเข้าผลิตถ้วยชามเซรามิกจากต่างประเทศ จึงมีผู้สนใจตั้งโรงงานผลิตเครื่องเคลือบลายตามรูปแบบต่างๆ  ทำให้ปัจจุบันมีโรงงานทำเครื่องปั้นดินเผาในจังหวัดลำปางกว่า 150 โรงเป็นโรงงานขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ใช้เทคนิคสมัยใหม่ แต่ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และสินค้าที่ผลิตขึ้น คนทั่วไปจึงนิยมเรียกเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ว่า ผลิตภัณฑ์เซรามิกลำปาง

 


ผลิตภัณฑ์เซรามิกลำปาง เริ่มจากการทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนจำหน่ายในท้องถิ่น ต่อมาการพัฒนารูปแบบการผลิตโดยทำขึ้นตามลักษณะของการใช้งาน มีลวดลายและสีสันสวยงาม เช่น ของชำร่วย ของที่ระลึก ของตั้งโชว์ ของใช้บนโต๊ะอาหาร ได้แก่ ถ้วยโถโอชาม ถ้วยกาแฟ แจกัน เป็นต้น นอกจากนั้นยังผลิตเป็นเครื่องวัสดุภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ เครื่องสุขภัณฑ์ กระเบื้องปูพื้น ฯลฯ จนทำให้ผลิตภัณฑ์เซรามิกจากลำปางกลายเป็นสินค้าที่ต้องการของคนทั่วไป

 

ล่าสุด ททท.สำนักงานลำปาง จัดงาน "ลำปางเซรามิกแฟร์ ครั้งที่ 3" ระหว่างวันที่ 1–13 ธันวาคม 2563 เวลา 09.00 – 21.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์หน้าห้างไทวัสดุ สาขาลำปาง ภายในงานพบกับแหล่งรวมสินค้าเซรามิก สินค้า OTOP ของใช้ ของฝาก ของชำร่วย จากโรงงานเซรามิก และผู้ประกอบการหัตถอุตสาหกรรม มีร้านค้ามากกว่า 120 บูธ ชมนิทรรศการสาธิตขึ้นรูปเซรามิก และกิจกรรมสาธิตจากมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ และภาคค่ำมีกิจกรรมความบันเทิง พบกับศิลปินชื่อดังต่างๆ มากมาย ตลอดทั้งงาน

 

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์