ในวันศุกร์ที่
18 ธันวาคม 2563 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา
ดร.กิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง
เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานถ้วยรางวัลพระราชทาน
จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
รางวัลชนะเลิศเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยม ระดับประเทศ ประจำปี 2562 ประเภทเทศบาลขนาดใหญ่ จากการพัฒนาเมืองภายใต้กรอบแนวคิด
“เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน 4 ประการ” คือ เมืองอยู่ดี คนมีสุข
สิ่งแวดล้อมยั่งยืน เทศบาลแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี
โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
เพื่อส่งเสริมให้ทุกเทศบาลเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการเมืองสู่ความน่าอยู่และมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
โดยการนำแนวคิดและเกณฑ์ชี้วัดเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
ตลอดจนเพื่อเชิดชูเทศบาลที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาเมืองของตนไปสู่เป้าหมาย
จนบรรลุผลสำเร็จ เป็น “แบบอย่างที่ดี” แก่เทศบาลอื่น ๆ
อันจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการพัฒนาเมืองไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
เทศบาลนครลำปาง
ได้มีการพัฒนาเมืองภายใต้กรอบแนวคิด “เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” 4 ประการ คือ
1. เมืองอยู่ดี : มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม
โครงสร้างพื้นฐานเพียงพอสำหรับคนทุกกลุ่ม มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย
ปลอดภัยและเศรษฐกิจมั่นคง กล่าวคือ
มีการกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ที่ดินตามบริบทของเมือง
มีการพัฒนาเมืองและชุมชนให้เป็นไปตามผังเมืองรวม
มีการพัฒนาเมืองและชุมชนให้เป็นไปตามผังเมืองรวม
มีการยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส
มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน มีการจัดการภัยพิบัติและสาธารณภัย
มีการป้องกันและดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
2. คนมีสุข : คนมีสุขภาพดี ได้รับการศึกษา สวัสดิการ
และการพิทักษ์สิทธิ์ที่เหมาะสมและเท่าเทียม ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเอื้ออาทร
มีกิจกรรมสร้างสรรค์ สังคม ดำรงประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวคือ
มีการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของคนในเมือง มีการคุ้มครองสุขภาพอนามัย
มีการส่งเสริมการศึกษาอย่างหลากหลายและเท่าเทียม
มีการจัดสวัสดิการที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุรา
บุหรี่ ยาเสพติดและอบายมุข มีการส่งเสริมความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว
ความสามัคคี และเอื้ออาทรระหว่างคนในชุมชน มีการส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม
เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีการพิทักษ์สิทธิของเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ
และผู้ด้อยโอกาส มีการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น
3. สิ่งแวดล้อมยั่งยืน : ทรัพยากรธรรมชาติมีความสมบูรณ์
มีพื้นที่สีเขียวเพียงพอ ภูมิทัศน์สวยงาม ของเสียหรือมลพิษถูกจัดการอย่างเหมาะสม
และประชาชนมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ
มีการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงไว้ซึ่งระบบนิเวศที่ดี มีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างครบวงจรและเหมาะสม
มีการจัดการน้ำเสีย หรือมลพิษทางอากาศอย่างเหมาะสม มลพิษทางอากาศ
มีการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งที่เกิดตามธรรมชาติจากฝุ่นละออง
จากลมพายุ ไฟไหม้ป่าหรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ มีการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่
สีเขียวให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต
มีการปรับภูมิทัศน์เมืองให้มีความสวยงามและสอดคล้องกับสภาพเมือง
มีการส่งเสริมการผลิต การบริการและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มีการส่งเสริมการใช้พลังงานและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
4. เทศบาลแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี :
มีวิสัยทัศน์และแผนงานชัดเจน บุคลากรมีความรอบรู้และเชี่ยวชาญ
ระบบการทำงานได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
พร้อมการบริหารจัดการที่ดีและมีนวัตกรรมการพัฒนาเมือง กล่าวคือ
มีการกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ พร้อมแปลงไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้และเชี่ยวชาญในงานที่รับผิดชอบ
มีการสร้างองค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีการสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อม
และบรรยากาศในการทำงานที่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตที่ดี
มีการส่งเสริมให้ผู้บริหารและบุคลากรมีคุณธรรมจริยธรรมในการบริหารและทำงานตามมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มีการมีกระบวนการตอบสนองต่อการให้บริการขอรับบริการและจัดการข้อร้องเรียนของประชาชนอย่างครบถ้วนเป็นระบบ
มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและผลงานของเทศบาล
มีความร่วมมือในการดำเนินงานกับหน่วยงานอื่น มีการจัดเก็บรายได้ให้ได้ตามเป้าหมาย
การลดรายจ่าย หรือความพยายามในการหารายได้อื่น
มีความพยายามในการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามที่คาดการณ์
และมีเหตุผลอันควรในการโอนงบประมาณ มีนวัตกรรมการพัฒนาเมืองด้านต่าง ๆ
ทั้งนี้
รางวัลชนะเลิศเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยม ระดับประเทศ มีผู้ได้รับรางวัล 3 หน่วยงาน คือ เทศบาลนครลำปาง จ.ลำปาง เทศบาลเมืองลำพูน จ.ลำพูน
และเทศบาลตำบลป่าสัก จ.ลำพูน
ส่วนรางวัลชนะเลิศเทศบาลด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนยอดเยี่ยม ระดับประเทศ
มีผู้ได้รับรางวัล 3 หน่วยงาน คือ เทศบาลนครนครสวรรค์
จ.นครสวรรค์ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ และเทศบาลตำบลกำแพง จ.สะตูล
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น