วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อมและโรงคัดบรรจุ



จำนวนผู้เข้าชม blog counter  

เพื่อเพิ่มปริมาณวัตถุดิบให้เพียงพอต่อความต้องการในการจำหน่ายผลสด และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ดอยคำบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด นำโดย โดยมี นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่  จัดงานเปิดโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อมและโรงคัดบรรจุ ภายในบริเวณโรงเก็บผลิตภัณฑ์เกษตรและโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในพิธี โดยมีทั้งคณะผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานโรงงานหลวงฯ คณะทำงาน และประชาชนในพื้นที่ ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ เมื่อวันก่อน

 

นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาสายพันธุ์และการปลูกสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถควบคุมผลผลิตสตรอว์เบอร์รีให้มีคุณภาพดี ลดการใช้สารเคมีในระบบการผลิต ปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค อีกทั้งเพิ่มปริมาณผลผลิตสตรอว์เบอร์รี รวมถึงยังสามารถผลิตต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคเพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจ ปลูกในฤดูกาลถัดไป และเป็นต้นแบบของแหล่งการเรียนรู้การผลิตสตรอว์เบอร์รีแบบ Smart Farmer อีกด้วย



           

นายนิวัฒน์ ขันโท ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมเกษตร เผยถึงโครงการพัฒนาการผลิตสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อมว่า ปัจจุบันเกษตรกรยังเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีได้ยาก ยังคงใช้รูปแบบการเพาะปลูกแบบเก่ากันอยู่มาก เช่น ใช้ต้นพันธุ์ที่ขยายพันธุ์กันเองต่อเนื่องมายาวนาน ทำให้ต้นพันธุ์ที่เกษตรกรผลิตได้ไม่ปลอดโรคและอ่อนแอ เกิดการสะสมเชื้ออันเป็นสาเหตุโรคพืชในพื้นที่ปลูก อีกทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปในทุกๆ ปี จากสภาวะโลกร้อน ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรแปรผันไปตามสภาพแวดล้อม จึงทำให้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตลดลง

 

ดอยคำเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาวัฒนธรรมการเกษตรด้านการผลิตต้นพันธุ์พืชที่ปลอดโรค ตลอดจนพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์พืชให้ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช ให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง รวมถึงสามารถขยายปริมาณต้นพันธุ์พืช โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสายพันธุ์ที่ได้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ต้นพันธุ์ปลอดโรค จึงสามารถลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ เป็นการลดต้นทุน เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต ซึ่งเป็นการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของดอยคำ ที่ดำเนินการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรนายนิวัฒน์ กล่าว



           

สำหรับ โรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ใน โครงการยกระดับการแข่งขันในระบบธุรกิจเกษตรซึ่งจังหวัดเชียงใหม่และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนงบประมาณจัดสร้างโรงเรือน เพื่อมอบให้กลุ่มเกษตรกรทำสวนโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำงอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเกษตรจากบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้เข้าทดลองใช้โรงเรือนฯ เพื่อเรียนรู้ระบบควบคุม แสง อุณหภูมิ ความชื้น การให้น้ำ การให้ธาตุอาหารพืช โดยมีนักวิชาการจากบริษัทฯ และหน่วยงานต่างๆ เป็นผู้แนะนำ อีกทั้งบริษัทฯ ใช้พื้นที่โรงเรือนฯ เพื่อทำการทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีที่ได้ปรับปรุง วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์พืช รวมถึงผลิตต้นพันธุ์พืชปลอดโรคควบคู่ไปด้วย

           

สำหรับโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม ออกแบบเป็นอาคารหลังคาโค้งคลุมพลาสติกแบบน็อคดาวน์ มีจำนวนทั้งหมด 14 หลัง บนที่ดิน 13 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยโดยรวม 5,376 ตารางเมตร



และ โรงคัดบรรจุ เป็นโรงสำหรับคัดคุณภาพผลผลิตเพื่อบรรจุของดอยคำ ที่ออกแบบและวางสายการผลิตให้ปฎิบัติงานได้อย่างถูกสุขลักษณะและป้องกันการปนเปื้อน ภายใต้มาตรฐานการปฏิบติการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) เพื่อสร้างความมั่นใจทางด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถประยุกต์ใช้กับผลผลิตได้หลากหลายชนิด โรงคัดบรรจุ ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัย แรงบันดาลใจจากอาคารบ้านเรือนภายในชุมชน มีความเรียบง่ายสะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 240 ตารางเมตร       


ทั้งนี้ในปี พ.ศ.
2561 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ มาทรงเปิดโรงเก็บผลิตภัณฑ์เกษตรและโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช ซึ่งเป็นแหล่งวิจัย ปรับปรุง พัฒนาทั้งพันธุ์พืชท้องถิ่น และสายพันธุ์จากต่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านการเกษตรสมัยใหม่ ให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ สามารถต้านทานโรคและแมลง เน้นผลิตต้นพันธุ์พืชที่ปลอดโรค สามารถลดต้นทุนทางด้านการเพาะปลูกแก่เกษตรกร ในการเสด็จฯ ครั้งนี้ จึงเป็นการติดตามงานอย่างใกล้ชิด เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง 

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์