วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2563

รู้จัก “วัดม่อนปู่ยักษ์” ในงาน “ห่มผ้าพระเจ้าฯ”


จำนวนผู้เข้าชม counter for blog

           


          

ความพิเศษของงานครั้งนี้มีอยู่หลายอย่าง เช่น ขบวนอัญเชิญผ้าห่มพระเจ้าฯ ซึ่งมีความยาวกว่า 30 เมตร  ณ สุสานไตรลักษณ์ หลวงพ่อเกษม เขมโก ขบวนรถม้ากว่า 30 คัน ตามแนวกำแพงเมืองโบราณ ประตูม้านำแห่ขบวนด้วย ขันกำนรรน์ และการแสดงช่างฟ้อนกว่า 30 ท่าน รวมถึง ระบำหน้ากากพม่า ไฮไลท์สุดพิเศษที่มีฉากหลังที่สวยที่สุดอีกแห่งในจังหวัดลำปาง เพื่อไปประกอบพิธี ณ วัดม่อนปู่ยักษ์ อ.เมือง จ.ลำปาง


           

แต่สำหรับครั้งนี้คงไม่พูดถึง "เมืองลคอร" เพราะเคยเขียนไปแล้ว ทว่าจะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับ "วัดม่อนปู่ยักษ์" หรือ "ม่อนสัณฐาน" อันเป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญของงาน "ห่มผ้าพระเจ้า เล่าเรื่องเมืองลคอร" (ประจำฤดูหนาว)

 

"วัดม่อนปู่ยักษ์" ตั้งอยู่บริเวณทิศ ตะวันออกเฉียงใต้ ของตัวเมืองลำปาง ปัจจุบันซึ่งอยู่ทาง ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวัง พื้นที่ตั้งวัด อยู่บนเนินเขาขนานเล็ก ๆ ไม่สูงนัก ตั้งอยู่เลขที่ 15 ถ.วัดม่อนจำศีล ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง มีเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา โฉนดเลขที่ 16196 สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย เป็นวัดที่มีรูปแบบศิลปะพม่า เช่นเดียวกับวัดพม่าทั่วไปในล้านนา มีการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา อาคารหลักมี 3 หลัง คือ กุฏิไม้ศิลปะพม่า วิหาร , อุโบสถ ก่ออิฐถือปูน



        

"วัดม่อนปู่ยักษ์" น่าจะมีอายุราวกลาง พุทธศตวรรษที่ 24 ในช่วงปี พ.ศ.2425 ถึงสมัยราชกาลที่ 6 ในตำนานกล่าวไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งองค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จออกไปโปรดสัตว์ พร้อมด้วยพระอรหันต์เผยแผ่พระพุทธศาสนา มาทางทิศบูรพานั้น ครั้งผ่านมาทางแว่นแคว้นแห่งหนึ่ง ก็ปรากฏมียักษ์อยู่ตนหนึ่ง ขัดขวางการเผยแพร่พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า และได้ขับไล่พระองค์ผ่านมาทางป่าบ้านพระบาท จนถึงบริเวณป่าม่อนจำศีล ก็มาทันกันที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่บนวัดม่อนจำศีล ท่ามกลางพระอรหันต์ ทรงเห็นว่า ยักษ์ตนนั้นน่าจะหยุดทำเช่นนั้นเสียที จึงให้ยักษ์ ตนนั้นเข้าเฝ้าและฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เกิดอัศจรรย์ใจตนเอง จึงก้มลงกราบแทบพระบาท ด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จึงขอบำเพ็ญศีลภาวนาที่ม่อนจำศีล ครั้นเวลาล่วงเลยไปไม่นาน ยักษ์ตนนั้นตายลงและได้มาตายที่ม่อนปู่ยักษ์ อันอยู่ไม่ไกลจากม่อนจำศีลมากนัก ในการต่อมาได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาท และรอยเท้ายักษ์บริเวณวัดพระบาท ชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดขึ้น โดยสร้างวัดคร่อมรอยพระพุทธบาทเพื่อให้ยกสูงขึ้น เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

     

กองพุทธสถานกรมการศาสนาทำหนังสือ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรเล่ม 8” พ.ศ. 2525 บันทึกว่าวัดม่อนปู่ยักษ์ ได้ก่อสร้างเมื่อวันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ.2442 โดย พ่อเฒ่านันตาน้อย พ่อเฒ่านันตาไก่ พร้อมพี่น้องอีก 3 คน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2442 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 14.82 เมตร ยาว 14.82 เมตร


ความงดงามตามแบบฉบับศิลปะพม่าซึ่งผู้ไปเยือนที่ “วัดม่อนปู่ยักษ์” สามารถสัมผัสได้จาก “อาคารเสนาสนะ”  ประกอบด้วย อุโบสถแบบอิทธิพลตะวันตก ศาลาการเปรียญ และกุฏิไม้โบราณศิลปะพม่า ฝาผนังและ เสาไม้สักประดับลวดลาย ลงรักปิดทอง เพดานติดกระจกและมีเจดีย์ฝีมือช่างพม่า พระประธานลงปิดทอง หลักฐานอ้างอิงอีกประการหนึ่งในปี พ.ศ.2444 หรือ ค.ศ.1901 วัดแห่งนี้ สร้างขึ้นโดย นายจองนันตาแกง มาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า เป็นผู้สร้่างวัดสำเร็จเสร็จสิ้น ครบรอบ 30ปี ที่นายจองนันตาแกง จากบ้านมาไม่มีใครรำลึกถึงท่านเลย และไม่มีใครรู้จักเลย ชื่อผู้อื่นจึงได้รับการบันทึกในหนังสือของราชการที่ใช้เป็นหนังสืออ้างอิง



           

และจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพม่า เรื่องที่เขียนเป็นพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ นอกจากนี้ ยังเป็นทศชาติ ชาดก เรื่องมหาชนกและสุวรรณสาม เนมีราชมโหสถ ภูริทัต จันทกุมาร พรหมนารถ วิทูรบัณทิต เวสันดร และเตมีย์ ที่แปลกคือ เตมีย์ กลับเป็นภาพท้ายสุด จิตรกรรมฝาผนังที่นี่ เป็นงานสกุลช่างมัณทเลย์ และสามาถเทียบงานจิตกรรมไทยสมัย ร4-5 ได้อย่างดีในแง่การรับอิธิพลจากตะวันตก

       

หลักฐานอ้างอิงอีกประการหนึ่งคือ ในปี พ.ศ.2444 หรือ ค.ศ.1901 เป็นการศึกษาจาก หลักศิลาจารึก เป็นภาษาไทใหญ่คือ วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดย นายจองนันตาแกง มาจากรัฐฉาน ในประเทศพม่า เป็นผู้สร้างวัดสำเร็จเสร็จสิ้นครบรอบ 30 ปี ที่จองนันตาแกง จากบ้านมา ไม่มีใครรำลึกถึงท่านผู้นี้ และไม่มีใครรู้จักเลย ชื่อของผู้อื่นจึงได้รับการบันทึกในหนังสือของทางราชการ ที่ใช้เป็นหนังสืออ้างอิงต่อมา

 

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

ภาพ...ททท.สำนักงานลำปาง

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์