วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563

กฟผ.เหมืองแม่เมาะ ลงพื้นที่สอนชุมชนทำ EMBall ร่วมแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

เจ้าหน้าที่หน่วยงาน กฟผ.เหมืองแม่เมาะ ลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง EMBall นำชาวบ้านในชุมชนรอบพื้นที่ร่วมเรียนรู้และจัดทำ สานพลังเดินหน้าแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากน้ำเน่าเสียในบริเวณอ่างเก็บน้ำ Sump G  ภายหลังการประชุมของคณะกรรมการการมีส่วนร่วมดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมตำบลบ้านดง เรื่อง "แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเหม็นในบริเวณอ่างกักเก็บน้ำ Sump G" ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ และปัญหาดังกล่าวยังถือเป็นปัญหาต่อเนื่องที่ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าแล้งที่ภายในอ่างมีปริมาณน้ำกักเก็บลดน้อยลง ยิ่งได้ทำให้เกิดผลกระทบมากขึ้น เนื่องจากบางจุดน้ำลดระดับต่ำลงจนกลายเป็นแอ่งน้ำขังเกิดการเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านในชุมชนรอบๆ พื้นที่


โดยการแก้ปัญหาน้ำเสียทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหมืองแม่เมาะ ได้มีการพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาตามมาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปลายปี 2562 ทั้งการดำเนินการฉีดน้ำไล่น้ำเน่าเหม็นตามบริเวณแอ่งน้ำขัง และตามร่องระบายน้ำ, ดำเนินการปิดถมปรับระดับร่องระบายน้ำในจุดที่มีน้ำขัง, ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบ Submersible Pump จำนวน 4 เครื่อง สำหรับใช้ทำน้ำพุเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับแหล่งน้ำ ตลอดจนได้ดำเนินการติดตามตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในน้ำ ภายในอ่างกักเก็บน้ำ Sump G อย่างสม่ำเสมอเพื่อจะคอยควบคุมและปรับสภาพน้ำให้อยู่ในระดับคุณภาพดี ซึ่งในส่วนนี้ กฟผ.เหมืองแม่เมาะ ได้มีการนำ EMBall และ น้ำหมักจุลินทรีย์ EM เข้ามาช่วยในการฟื้นฟูปรับสภาพน้ำ



ล่าสุด ทางแผนกบำรุงรักษาบริเวณและจัดการพื้นที่ฟื้นฟูสภาพเหมือง กองฟื้นฟูสภาพเหมือง ฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ นำโดย น.ส.อัญญารัตน์  วงศ์คช วิทยากรระดับ 6 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการลงพื้นที่ออกให้ความรู้กับชาวบ้านในการจัดทำ EMBall และน้ำหมักจุลินทรีย์ EM ณ วัดหัวฝาย ชุมชนบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยมี นายธนพงษ์พันธ์  เกี๋ยงแก้ว ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวฝายหลายทุ่ง ได้นำตัวแทนกลุ่มชาวบ้านในชุมชน เข้ามาร่วมทำกิจกรรมทั้งเรียนรู้และช่วยกันจัดทำ EMBall รวมถึงน้ำหมักจุลินทรีย์ EM ซึ่งในการจัดทำ EMBall นั้น ได้มีการนำวัสดุธรรมชาติต่างๆ มาใช้ประโยชน์ อาทิ รำละเอียด แกลบดิบ และดินละเอียด นำมาผสมคลุกเคล้ากัน ก่อนจะเติมน้ำจุลินทรีย์ EM ขยาย น้ำสะอาด และกากน้ำตาล ผสมคลุกเคล้าลงไปตามสูตรแล้วจึงนำมาปั้นเป็นก้อนลูกกลมๆ



โดยการลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนครั้งนี้ กฟผ.เหมืองแม่เมาะ และชาวบ้านบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง สามารถผลิต EMBall ได้รวมจำนวนมากกว่า 2,500 ลูก และสามารถทำน้ำหมักจุลินทรีย์ EM ได้อีกจำนวนกว่า 2,000 ลิตร ซึ่งทั้ง EMBall และน้ำหมักจุลินทรีย์ EM ที่ผลิตได้ทั้งหมดจะมีการนำไปพักเก็บไว้สักระยะหนึ่ง ก่อนจะนำออกไปใช้งานจริง โดยทาง กฟผ.เหมืองแม่เมาะ ได้วางแผนที่จะดำเนินการนำ EMBall และน้ำหมักจุลินทรีย์ EM ไปเติมลงในน้ำที่บริเวณอ่างกักเก็บน้ำ Sump G โดยจะแบ่งช่วงระยะเวลาในการดำเนินการออกเป็น 5 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งจะได้มีการดำเนินการร่วมกับชุมชนรอบๆ พื้นที่อีกครั้งต่อไป

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์