วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

โขนแบบไทยแท้ ชุด พระรามราชสุริยวงศ์ ของขวัญรัฐบาลสร้างความสุขใน 4 ภูมิภาค


จำนวนผู้เข้าชม website counter

  

ผ่านเรื่องราวร้ายดีจนมาถึงสิ้นปี 2563 ดังนั้น เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชน รัฐบาล โดย สถาบันบัณฑิตพัฒศิลป์ (สบศ.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้มอบของขวัญให้กับประชาชน ด้วยการจัดกิจกรรม ”การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุด พระรามราชสุริยวงศ์” ภายใต้โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทั่วทิศแผ่นดินไทย เพื่อส่งเสริม สืบสาน ทำนุบำรุง และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมการแสดงโขน



 

กิจกรรมดังกล่าวใช้นักแสดงร่วม 300  ชีวิต คัดเลือกจากวิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศ และผ่านการฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น เพื่อการแสดงอันวิจิตรงดงาม สืบสานนาฏกรรมชั้นสูงของไทย และพัฒนาทักษะฝีมือนักเรียนนาฏศิลป์ ฝึกประสบการณ์วิชาชีพผ่านการแสดงโขนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563  ถึงวันแม่ 12  สิงหาคม 2564  จำนวน 14  ครั้ง ใน  4  ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมฟรี หวังให้ศิลปะไทยเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มทุกวัยทั่วประเทศ

 


ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ในการจัดโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทั่วทิศแผ่นดินไทย โดยมอบหมายให้ สบศ.จัดโครงการดังกล่าว และนำเอาโขนซึ่งเป็นการแสดงอันเป็นนาฏกรรมชั้นสูงของประเทศไทย มาจัดแสดงให้สาธารณชนทั่วประเทศได้รับชมถึงความยิ่งใหญ่ ความอลังการ และความวิจิตรงดงามของโขนไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ด้านการสืบสานงานวัฒนธรรมของชาติ ที่ต้องการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมต่อสาธารณชนให้มากที่สุด

 

เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะร่วมกันเผยแพร่และสืบสานศิลปะการแสดงโขน ให้ดำรงไว้อย่างยั่งยืน และทำให้เยาวชนของเราที่มีความเชี่ยวชาญ มีความสามารถในการแสดงนาฏศิลป์ ได้มีโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงครั้งนี้ เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถและความเชี่ยวชาญยิ่งขึ้นไป และยังทำให้นาฏกรรมระดับสูงเช่นนี้เข้าถึงประชาชนทุกภูมิภาคโดยทั่วกัน ทำให้เกิดการสร้างความรักสามัคคีด้วยมิติทางวัฒนธรรม และประชาสัมพันธ์ให้สถาบันบัณทิตพัฒนศิลป์ เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นปรเมศวร์ กล่าว

 


นิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวถึงความสำคัญของการสืบสานการแสดงโขนว่า ปี 2561  องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO)  ได้ประกาศขึ้นบัญชี “Khon, masked dance drama in Thailand” หรือการแสดงโขนในประเทศไทย ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ประเภทรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยรายการแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุด พระรามราชสุริยวงศ์  จึงเป็นอีกพันธกิจหนึ่งของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในการพัฒนาและสืบสานเอกลักษณ์ของชาติไทย เป็นการเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงอันเก่าแก่ของไทย อีกทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้แก่เยาวชน นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในระดับชาติ

 

ด้าน อาจารย์ประเมษฐ์ บุญยะชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย ผู้เรียบเรียงบทสำหรับการแสดงครั้งนี้ กล่าวว่า เรื่องราวตอนนี้เป็นตอนที่ พระอิศวรทราบความว่าทศกัณฐ์ได้กระทำการเบียดเบียนเทวดาและมนุษย์โลกให้เกิดความวุ่นวาย จึงมีดำริให้พระนารายณ์และพระลักษมี อวตารลงไปเกิดในโลกมนุษย์เพื่อปราบปรามยุคเข็ญ โดยมีเหล่าเทวดารับอาสาลงไปเกิดเป็นทหารของพระราม หรือพระนารายณ์อวตาร โดยมีทั้งการประพันธ์บทขึ้นใหม่และปรับปรุงจากบทเก่า เป็นตอนที่มีเนื้อหาเรื่องราวสนุกสนานชวนติดตาม มีคติธรรมสอนใจ และสื่อให้เห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามความเชื่อที่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ สืบวงศ์มาจากพระนารายณ์ และยังสอดแทรกความรู้ที่มาของสำนวนไทย เช่น 18 มงกุฎ ที่หมายถึงเหล่าเทวดาที่ขอเกิดมาเป็นวานร 18 มงกุฎ บริวารของพระรามซึ่งมิได้มีความหมายในทางหลอกลวงอย่างที่ใช้กันในปัจจุบันแต่อย่างใด

 


ขณะที่ ศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) พ.ศ.2548  ผู้กำกับดูแลการ แสดงทั่วประเทศใน ภูมิภาคทั่วประเทศกล่าวว่า การแสดงชุดนี้ ใช้นักแสดงร่วม 300  ชีวิต ซึ่งคัดเลือกจากวิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศ และผ่านการฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นเพื่อการแสดงอันวิจิตร เพื่อให้นักเรียนนาฏศิลป์ได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และเปิดให้เข้าชมฟรี เพื่อให้ศิลปะไทยเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มทุกวัยทั่วประเทศ

 





โขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุด พระรามราชสุริยวงศ์ มีความยาว 1 ชั่วโมง 50  นาที เป็นการแสดงโขนกลางแจ้งที่ไม่ได้มีการจัดฉากเช่นโขนหลวง เพื่อให้ผู้ชมสามารถรับชมได้อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วยฉากสำคัญ 3 ฉากใหญ่ คือ ฉากเทวสภา ซึ่งแสดงการอวตารของพระนารายณ์ พระนางลักษณมี และเหล่าทหาร ฉากยกรบ ที่จะแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของสองทัพ ระหว่างฝ่ายธรรมะกับอธรรม นำเสนอกระบวนท่ารำอันสวยงามที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์เอาไว้และสืบทอดมาจนปัจจุบัน ทั้งกระบวนท่ารบ กระบวนท่ายกทัพ ท่าขึ้นลอย อันเป็นหัวใจของการแสดงโขน และฉากคืนพระนคร ซึ่งแสดงให้เห็นความสวยงามของกระบวนทัพ และบทประพันธ์ที่ไพเราะงดงาม จากครูทัศนีย์ ขุนทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย-คีตศิลป์)2555  สำหรับการแสดงซึ่งจัดขึ้นใน ภูมิภาค ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ ทาง www.bpi.ac.th หรือ เฟซบุ๊กสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ หรือ โทร. 02-482-2176 ต่อ 380,384 และ 386 

 

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์